ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.วันดี วราวิทย์
หากคุณแม่กำลังกังวลว่าลูกน้อยถ่ายบ่อยถ่ายเหลว จะใช่อาการท้องเสียหรือไม่ มาไขข้อข้องใจ พร้อมวิธีป้องกันและดูแล เตรียมรับมือง่าย ๆ กับระบบขับถ่ายของลูกกันเถอะ
ลูกถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว เป็นเรื่องที่คุณแม่หลายท่านกังวลใจอยู่ไม่น้อย ยิ่งลูกน้อยของคุณมีอาการถ่ายเหลว แถมถ่ายบ่อยวันละหลาย ๆ รอบ คุณแม่จะเริ่มไม่แน่ใจว่าลูกแค่ถ่ายเหลว หรือว่าลูกท้องเสียกันแน่ มาไขข้อข้องใจ ทำความเข้าใจ และดูวิธีการสังเกต พร้อมวิธีการรับมือง่าย ๆ เมื่อลูกมีอาการดังกล่าวกันเลย
ลูกถ่ายเหลว กับ ท้องเสีย แตกต่างกันอย่างไร?
ลูกน้อยถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ลักษณะจะเหมือนซุปถั่วหรือซุปฟักทอง เป็นเมือก เป็นน้ำ หรือเป็นฟองบางครั้ง คุณแม่สามารถสบายใจได้เพราะถือว่าเป็น “ปกติ” ในขณะที่ท้องเสียจะมีลักษณะอาการคือ ลูกน้อยจะถ่ายอุจจาระออกมามีลักษณะเหลวปนน้ำ หรือถ่ายเป็นน้ำ และมักถ่ายบ่อยตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือดตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน
อาการเหล่านั้นระบุได้ว่าลูกท้องเสียหรือไม่ เนื่องจากอุจจาระของเด็กตามปกติจะมีลักษณะเหลว โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดในทารกที่ได้รับนมแม่ จะถ่ายอุจจาระเหลวหรือเนื้อนิ่ม และหลายครั้งต่อวัน เนื่องจากนมแม่นั้นมีสารช่วยระบายขี้เทาในทารกแรกเกิด อุจจาระจึงมีสีเหลืองทอง ลักษณะเหลว กากน้อย น้ำเยอะและถ่ายบ่อยได้ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด แต่หากอุจจาระมีมูกเลือดปน หรือเป็นสีเขียวตลอดเวลา หรือลูกน้อยขับถ่ายเป็นน้ำมากและบ่อยครั้งกว่าปกติ ให้คุณแม่เอะใจไว้เลยว่า อาจมีปัญหาท้องเสียจากการติดเชื้อ หรือแพ้อาหารในทารกที่อยู่ในครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้ หรือกลุ่มเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วน
10 วิธีดูแลเบื้องต้น เมื่อลูกน้อยถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว
หากลูกน้อยมีอาการถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว แต่ยังร่าเริง รับประทานอาหาร และเล่นได้ตามปกติ คุณแม่สามารถดูแลเบื้องต้นได้ดังนี้
1. สำหรับลูกน้อยที่ทานนมแม่ สามารถทานนมแม่ต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุด
2. ให้ลูกน้อยดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอส เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย
3. งดดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไปก่อน เพราะอาจจะทำให้ลูกน้อยถ่ายบ่อยขึ้น
4. กรณีที่น้องอายุมากกว่า 6 เดือน และได้รับอาหารเด็กตามวัย ควรให้เลือกอาหารเสริมตามวัย ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ทั้งนี้คุณแม่ควรให้ลูกน้อยรับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ เพื่อให้ลำไส้ค่อย ๆ ย่อย และดูดซึมอาหารได้ทัน
5. ในกรณีของเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ขวบ ควรกินนมที่เคยกินครั้งละน้อยและบ่อย ควรงดดื่มนมสดไว้ก่อน หากมีอาการถ่ายเป็นน้ำมีฟองแสดงว่าย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้ อาจเลือกนมที่เหมาะกับภาวะท้องเสียให้ลูกน้อยแทน เช่น นมถั่วเหลือง หรือนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส
6. งดอาหารย่อยยาก และอาหารที่มีไขมันสูง
7. ตรวจดูว่าลูกน้อยมีไข้หรือไม่ ถ้ามีให้ใช้วิธีเช็ดตัวเพื่อลดไข้
8. คุณแม่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างถูกสุขอนามัย รวมทั้งรักษาความสะอาดของขวดนม และอุปกรณ์การเตรียมอาหารให้ลูกน้อยทุกครั้ง
9. ไม่ควรซื้อยาหยุดถ่ายให้ลูกน้อยกินเอง แม้ว่ายาบางชนิดจะช่วยให้อาการถ่ายบ่อยทุเลาลงไปชั่วคราว แต่ไม่สามารถรักษาการขาดน้ำได้ นอกจากนั้นเชื้อยังคงอยู่ในลำไส้และอาจรุกล้ำเข้าร่างกายมากขึ้นโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อชิกเกลลาเป็นต้น รวมถึงยาอาจทำให้เกิดปัญหาลำไส้ไม่ทำงาน ทำให้ท้องอืด อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยมากขึ้น
10. เมื่อลูกน้อยมีอาการถ่ายเหลว และไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 6 ชั่วโมง แสดงว่าลูกมีอาการขาดน้ำควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันลูกถ่ายเหลว
1. คุณแม่ควรระวังเรื่องอาหารที่เตรียมให้ลูกรับประทานต้องถูกสุขลักษณะ สะอาด ปรุงสุกด้วยความร้อน เพราะสาเหตุหลักของอาการเหล่านี้เกิดจากไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายโดยตรงจากการดื่มกิน
2. คุณแม่ต้องระวังการหยิบสิ่งของเข้าปากเองของลูกน้อย เพราะสิ่งของเหล่านั้นอาจมีเชื้อไวรัสอยู่ คุณแม่ควรทำความสะอาดสิ่งของ และของเล่นต่าง ๆ ที่ลูกจะหยิบจับบ่อย
3. หากลูกมีอายุมากกว่า 1 ขวบขึ้นไป คุณแม่ควรเสริมด้วยนมที่มี โพรไบโอติกส์ หรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยเรื่องระบบทางเดินอาหาร และระบบขับถ่ายของลูกน้อยให้แข็งแรง ทำงานได้อย่างปกติ ให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
ลูกถ่ายเหลวแบบไหนควรปรึกษาแพทย์
ถึงแม้อาการถ่ายเหลวของลูกน้อยจะเป็นเรื่องปกติ แต่คุณแม่ห้ามวางใจ เพราะหากลูกน้อยเข้าข่าย 6 อาการนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
1. ถ่ายอุจจาระบ่อยและมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ ตั้งแต่ 3 ครั้งใน 1 วัน
2. ถ่ายเหลวมีมูกเลือดปนอย่างน้อย 1 ครั้ง
3. มีอาการอาเจียนบ่อย กินผงเกลือแร่โอร์อาร์เอสไม่ได้
4. มีไข้ร่วมด้วย หรือมีอาการชัก
5. หายใจหอบลึก
6. ไม่ยอมกินนมหรือลูกไม่กินอาหาร
รู้ทันอาการเมื่อลูกถ่ายเหลวกันไปแล้ว คุณแม่มือใหม่คงคลายความกังวลไปได้บ้าง อย่างไรก็ตาม หากลูกถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย มีมูก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและอุจจาระให้ละเอียดจะดีกว่า ปรึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Mommy Bear Club คลับคุณแม่ คลิก http://m.me/mommybearclub
อ้างอิง
ท้องเสีย ดูแลอย่างไร | รพ.เด็กสินแพทย์ (synphaet.co.th)
4 อาการสำคัญของโรคท้องเสียในเด็กที่ต้องรีบมาพบแพทย์ | รพ.นครธน | NAKORNTHON HOSPITAL