MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
โภชนาการน่ารู้

PLAYING: เมนูอาหารสำหรับคนท้อง1-3 เดือน อาหารคนท้องไตรมาสแรก กินแบบไหนดี

Add this post to favorites

เมนูอาหารสำหรับคนท้อง1-3 เดือน อาหารคนท้องไตรมาสแรก กินแบบไหนดี

Option 1: เมนูอาหารสำหรับคนท้อง 1-3 เดือน อาหารคนท้องไตรมาสแรก กินแบบไหนดี
Option 2: เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือนแรก ทานอาหารแบบไหนดีต่อคุณแม่และลูกน้อย
Option 3: เมนูอาหารคนท้องไตรมาสแรก กินแบบไหนดีสำหรับคุณแม่ท้อง 1-3 เดือนแรก

3นาที อ่าน

อาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ในช่วงท้อง 1-3 เดือนแรก หรือไตรมาสแรกนั้นเอง เพราะจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตให้ลูกน้อยและเพิ่มความแข็งแรงให้แก่คุณแม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายด้วย อาหารการกินในช่วงตั้งท้องไม่เพียงแค่คำนึงถึงสารอาหารที่ครบถ้วนมีประโยชน์เท่านั้น แต่การเพิ่มเติมสารอาหารบางอย่างที่สำคัญเป็นสิ่งนึงที่ช่วยเตรียมความพร้อมทางร่างกายให้แก่คุณแม่ทั้งก่อนและหลังคลอดได้อีกด้วย

สรุป

  • เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน หรือไตรมาสแรก ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ควรคำนึงถึงสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและกระบวนการสร้างเซลล์และอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรกอาจมีอาการแพ้ท้อง วิงเวียน อ่อนเพลีย จึงอาจหาอาหารที่มีรสชาติเปรี้ยวเพื่อช่วยกระตุ้นความอยากรับประทานอาหาร โดยอาจทำเมนูที่มีส่วนประกอบของผลไม้ชนิดต่างๆ นอกจากมีประโยชน์แล้ว ยังอาจช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ด้วย
  • อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงตั้งครรภ์ อาทิ อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ รวมไปถึงผักผลไม้บางชนิดที่อาจส่งผลเสียหากรับประทานมากเกินไป

เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน สำคัญอย่างไร

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคุณแม่ คือ การตั้งครรภ์ การบริโภคอาหารต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ทั้ง 9 เดือน หรือเราอาจแบ่งเป็น 3 ไตรมาส ไตรมาสละ 3 เดือน โดยตอนท้อง 1-3 เดือน หรือไตรมาส 1 เมนูหรืออาหารสำหรับคนท้องเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย คุณแม่บางรายอาจมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยจนอาจเกิดการขาดสารอาหารบางอย่างได้ อีกทั้งสารอาหารต่างๆ ที่นำเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองแก่ลูกน้อยในท้อง เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มกระบวนการสร้างเซลล์และอวัยวะต่างๆ อาหารการกินสำหรับคุณแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษในช่วงเริ่มตั้งครรภ์

เมนูอาหารคนท้องไตรมาส 1 ควรเสริมโภชนาการใดบ้าง

สำหรับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อคนท้องและคนท้องควรรับประทานเพิ่มขึ้น มีดังนี้

  • กรดโฟลิก

    หรือเรียกว่า “โฟเลต” ช่วยในการสร้างตัวอ่อน และควบคุมการสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นในการแบ่งเซลล์ รวมไปถึงการสร้างเม็ดเลือดแดงของทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์มีความต้องการกรดโฟลิกมากกว่าคนปกติ เนื่องจากร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง และช่วงเวลาสำคัญในการเจริญเติบโตของระบบประสาทของทารก คือ หลังปฏิสนธิ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งคุณแม่อาจยังไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จึงควรเตรียมความพร้อมด้วยการทานกรดโฟลิกไว้ตั้งแต่เริ่มวางแผนก่อนตั้งครรภ์ และทานต่อเนื่องไปจนถึงหลังตั้งภรรภ์อีก 3 เดือน โดยรับประทานกรดโฟลิกวันละ 800 ไมโครกรัม แต่ไม่ควรทานมากเกินไปเพราะจะส่งผลต่อการยับยั้งการทำงานของวิตามินบี 12 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ อาหารที่มีกรดโฟลิกสูง อาทิ ทานอาหารจำพวกผักใบเขียว ไข่แดง ตับ เป็นต้น

  • โปรตีน

    ร่างกายของคุณแม่จำเป็นจะต้องได้รับโปรตีนอยู่เสมอ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มพลังงาน และมีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์กล้ามเนื้อของทารกในครรภ์ด้วย คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรได้รับโปรตีน 75 – 110 กรัมต่อวัน และควรเลือกรับประทานโปรตีนที่หลากหลาย อาหารที่ควรรับประทานเพื่อเน้นโปรตีนที่ดี อาทิ ปลา เต้าหู้ ไข่ และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว

  • ธาตุเหล็ก

    เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงทั้งของคุณแม่และลูกในครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่ต้องการธาตุเหล็กมากขึ้นเป็นสองเท่า เพื่อให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการสร้างงฮีโมโกลบินในร่างกายตนเอง และเพียงพอที่จะใช้ลำเลียงส่งออกซิเจนไปยังลูกในครรภ์ เพราะทารกเองก็ต้องใช้ธาตุเหล็กในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงของตัวเองด้วย คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กไม่ต่ำกว่า 27 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนใหญ่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มักต้องรับประทานธาตุเหล็กเพิ่ม เนื่องจากการรับประทานอาหารอย่างเดียวไม่เพียงพอ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง อาทิ ตับ เนื้อแดง ไข่แดง และนม

  • วิตามินซี

    มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและการสังเคราะห์คอลลาเจนในร่างกาย และยังช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้นด้วย ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ 85 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ควรได้รับในผู้หญิงทั่วไปประมาณ 13 % และควรปรึกษาแพทย์หากมีความจำเป็นต้องได้รับวิตามินเสริม อาหารที่มีวิตามินซีสูงพบได้ในผลไม้รสเปรี้ยว อาทิ ส้ม กีวี่ สัปปะรด เบอร์รี่ พริกหวาน มะเขือเทศ เป็นต้น

  • ไอโอดีน

    ช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและสมองสำหรับทารกในครรภ์ และไอโอดีนเป็นสารอาหารที่ทารกไม่สามารถสร้างได้เองต้องได้รับจากคุณแม่เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานของไตในคุณแม่ตั้งครรภ์จะทำงานหนักกว่าผู้หญิงทั่วไป ทำให้เกิดการขับไอโอดีนออกจากร่างกายมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งหากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้ ดังนั้นจึงควรบริโภคไอโอดีนอย่างน้อย 250 ไมโครกรัมต่อวัน อาหารที่มีไอโอดีนพบได้ในปลาทะเลและเกลือเสริมไอโอดีน

  • แคลเซียม

    ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน หัวใจ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทของทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมต่อวันไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งมากกว่าช่วงปกติของก่อนตั้งครรภ์ไม่มากนัก ดังนั้นจึงควรเสริมแคลเซียมเพียงวันละ 600 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้ว โดยอาจเลือกการรับประทานนม และอาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ กระดูกอ่อน ปลาเล็กปลาน้อย ชีส โยเกิร์ต บรอกโคลี ผักเคล

  • วิตามินดี

    มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก และช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ คุณแม่ตั้งครรภ์หากขาดวิตามินดี อาจทำให้กระดูกของทารกผิดรูปหรือกระดูกไม่แข็งแรงในมารกแรกเกิดได้ คุณแม่จึงควรได้รับวิตามินดีปริมาณ 1000-2000 IU (International units) หรือ 25-50 ไมโครกรัมต่อวัน โดยวิตามินดีมีมากในอาหาร อาทิ นมสด น้ำผลไม้ น้ำมันปลา อีกทั้งสามารถสร้างได้เมื่อถูกแสงแดด

  • โคลีน

    สารอาหารที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเซลล์สมองและระบบประสาท สารสื่อประสาทและกระตุ้นความจำ มีส่วนช่วยสำคัญต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของทารกในอนาคต อาหารที่มีโคลีนมาก อาทิ อาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ปลาแซลมอน บรอกโคลี กะหล่ำดอก จมูกข้าวสาลี ไข่แดง

  • ดีเอชเอ

    DHA มีส่วนช่วยสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทและสมองของทารก รวมถึงช่วยในการพัฒนาจอประสาทตาและสุขภาพดวงตาของทารกในครรภ์ อาหารที่พบ DHA ได้มาก อาทิ อาหารจำพวกนม ไข่ ปลาแซลมอน หรือปลาทะเลต่างๆ

pregnancy recipe2

คนท้อง 1-3 เดือนกินอะไรได้บ้าง

  • ในช่วงหลังเดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง ไม่อยากรับประทานอาหารมากนัก จึงควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อแทน และไม่ควรเตรียมอาหารที่มีกลิ่นฉุนมาก หลีกเลี่ยงของทอดของมัน อาจเติมรสเปรี้ยวเพื่อช่วยเพิ่มความอยากรับประทานอาหารและลดอาการพะอืดพะอมได้
  • ช่วงนี้ทารกในครรภ์อยู่ระหว่างการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนที่แข็งแรง คุณแม่จึงควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่เน้นโปรตีน แป้ง วิตามินเสริมตามที่แพทย์แนะนำ และกรดโฟลิกเพื่อช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของเม็ดเลือด ระบบประสาท และลดความเสี่ยงความพิการทางสมองของทารก
  • หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เพราะอาจมีสารกันบูด และลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท
  • คุณแม่อย่าลืมใส่ใจความสะอาดของอาหาร วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารควรสดใหม่ หากสามารถปรุงอาหารได้เองจะยิ่งดี เพราะควบคุมคุณภาพได้เอง และไม่ลืมพักผ่อนให้เพียงพอ พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของร่างกายนะคะ

แนะนำเมนูอาหารคนท้อง 1 - 3 เดือน

เมนูสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วง 1-3 เดือนแรก ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่ายๆ สะอาดสดใหม่ และเน้นโปรตีน อาจมีส่วนประกอบรสเปรี้ยวเพื่อช่วยลดอาการแพ้ท้อง วันนี้เรามีตัวอย่างเมนูให้คุณแม่สามารถทำตามได้ง่าย ดังนี้ค่ะ

  • โจ๊กข้าวกล้อง รับประทานได้ง่าย ช่วยบรรเทาความอ่อนเพลียและลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ วัตถุดิบ ข้าวกล้อง, เห็ดหอมสด, แครอท, ไข่, แซลมอนต้มสุก, เกลือ และน้ำเปล่า วิธีทำ ต้มน้ำเปล่าและข้าวกล้อง จนข้าวนิ่ม ใส่เห็ดหอม แครอท ปรุงรสด้วยเกลือ และใส่แซลมอนสุก ตอกไข่ คนจนเข้ากัน
  • ไก่ผัดขิง ขิงมีคุณสมบัติช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน และช่วยขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด วัตถุดิบ สะโพกไก่สด, ขิงซอย, หอมใหญ่, เห็ดหูหนู, กระเทียมสับ, น้ำมันหอย, ซีอิ๊วขาว, น้ำตาลทราย และน้ำมันพืช วิธีทำ ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันและกระเทียมสับลงไปผัดให้เหลือง มีกลิ่นหอม ใส่ขิงลงไปผัด ตามด้วยสะโพกไก่ ผัดให้สุก แล้วใส่ผักที่เตรียมไว้ ปรุงรสตามชอบ ผัดให้เข้ากัน
  • ปลากะพงนึ่งมะนาว ช่วยบำรุงกระดูก อีกทั้งมีวิตามินและแร่ธาตุที่ดีจากปลากะพง วัตถุดิบ ปลากะพงสด, น้ำมะนาว, น้ำปลา, น้ำตาลปี๊ป, กระเทียม, พริกขี้หนูสวน, รากผักชี, ผักชี, ขึ้นฉ่าย และกะหล่ำปลี วิธีทำ ซอยกะหล่ำปลีให้เป็นเส้นๆ ไว้รองด้านล่างปลากะพง จากนั้นตั้งน้ำร้อนในซึ้งให้ร้อน เตรียมน้ำราดโดยนำ รากผักชีใส่ลงไปในโถปั่น ตามด้วยกระเทียม พริกขี้หนูสวน ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลตามชอบ ปั่นพอหยาบ นำน้ำมาราดบนตัวปลากะพงพอประมาณ แล้วนำปลาลงไปนึ่งในซึ้งประมาณ 10 นาที ราดน้ำที่เหลือทั้งหมด โรยผักที่ซอยไว้ให้สวยงาม
  • บล็อกโคลีผัดกุ้ง อุดมไปด้วยกรดโฟลิกและวิตามินซีจากบล็อกโคลี รวมไปถึงโปรตีนและไอโอดีนจากกุ้ง วัตถุดิบ บล็อกโคลี, กุ้งสด, แครอท, กระเทียมสับ, พริกไทยป่น, น้ำตาลทราย, ซีอิ้วขาว, น้ำเปล่า, น้ำมันหอย เกลือ และ น้ำมันพืช วิธีทำ ตั้งหม้อใส่น้ำ รอให้น้ำเดือดใส่เกลือป่นลงไป นำบล็อคโคลีและแครอทลงไปลวก ใช้เวลาลวกประมาณ 2 นาทีพอสุก จึงตักแช่น้ำเย็น แล้วสะเด็ดน้ำพักไว้ จากนั้นตั้งกระทะให้ร้อนใส่น้ำมัน กระเทียมลงไปผัดกับกุ้งพอสุกเล็กน้อย แล้วใส่ผักที่ลวกไว้ ปรุงรสตามชอบและผัดให้เข้ากัน
  • ยำผลไม้รวม อุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ จากผลไม้หลากหลายชนิด และรสชาติที่ช่วยเพิ่มความอยากรับประทานอาหาร วัตถุดิบ น้ำตาล, น้ำปลา, มะนาว, แอปเปิ้ล, สับปะรด, องุ่น, งาขาว, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และพริกขี้หนูซอย วิธีทำ เคี่ยวน้ำตาลกับน้ำปลาและน้ำมะนาวเข้าด้วยกันจนได้ที่แล้วพักไว้ นำผลไม้ทุกชนิดหั่นเป็นสี่เหลี่ยมเต๋ามาคลุกเคล้ากับน้ำยำ โรยด้วยงาขาว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และพริกขี้หนูซอย

pregnancy recipe3

ผลไม้สําหรับคนท้อง 1-3 เดือน

คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีความอยากรับประทานอาหารรสชาติเปรี้ยวๆ หวานๆ ซึ่งผลไม้ถือว่าเป็นของว่างที่ดีต่อคุณแม่และลูกน้อย ไม่ทำให้อ้วนด้วย มาดูกันว่าสารอาหารใดที่มีประโยชน์ต่อคนท้อง

  • กล้วย ผลไม้หาง่ายที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ได้แก่ ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 และวิตามินซี และยังมีสารสำคัญที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ มีใยอาหารสูงที่ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย
  • แก้วมังกร ผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟเลต และมีวิตามินซีสูง ช่วยลดปัจจัยเสี่ยง ต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ได้ ป้องกันโรคโลหิตจางที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ และมีกากใยสูง ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างปกติ
  • ฝรั่ง ผลไม้รับประทานง่ายที่อุดมด้วยวิตามินซีและวิตามินเอ ช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหวัด บำรุงเหงือกและฟันให้แข็งแรง
  • มะละกอสุก แม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อาจมีปัญหาท้องผูกเนื่องจากทารกในครรภ์มีการขยายใหญ่ขึ้นทำให้ไปเบียดทับ ลำไส้ใหญ่ มะละกอสุกช่วยได้ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินซี สารเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี และแคลเซียม ช่วยให้คุณแม่ตั้งท้องขับถ่ายง่ายขึ้นแก้ปัญหาท้องผูก
  • องุ่น นับเป็นของว่างระหว่างมื้อที่เต็มไปด้วยสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามินนานาชนิด สารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีแมกนีเซียม แคลเซียม เหล็ก กรดโฟลิก ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้องุ่นสีเข้มยังช่วยต่อต้านริ้วรอย และทำให้ผิวของคุณแม่ดูอ่อนเยาว์อีกด้วย
  • แตงโม ผลไม้ที่เพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย ที่อุดมด้วยสารอาหาร โดยเฉพาะโพแทสเซียม ซึ่งช่วยควบคุมอัตราความดันโลหิตของร่างกาย และยังมีวิตามินซีธรรมชาติที่ดีเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย และแตงโมมีน้ำเป็นส่วนผสมมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้ร่างกายคุณแม่ได้รับน้ำเพียงพอ ที่จะป้องกันอาการขาดน้ำในระหว่างตั้งครรภ์ได้
  • เชอร์รี่ เป็นแหล่งวิตามินซีที่ยอดเยี่ยม ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในระหว่างตั้งครรภ์ให้กับคุณแม่และลูกน้อยจากโรคติดเชื้อ เช่น โรคหวัดและผื่น การทานเชอร์รี่ยังช่วยในการส่งเลือดไปเลี้ยงรกและทารกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยต้านความเครียด ทำให้คุณแม่นอนหลับสนิทได้อีกด้วย

ข้อควรรู้ อาหารคนท้องอ่อนห้ามกินมีอะไรบ้าง

ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องให้ความสำคัญในการเรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะอาหารคนท้อง คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียระหว่างตั้งครรภ์

  • อาหารที่ยังไม่ปรุงสุก หรือกึ่งดิบกึ่งสุกทุกชนิด เพราะเสี่ยงการติดเชื้อ ที่สามารถทำให้คุณแม่ป่วยได้
  • อาหารจำพวกนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ อาจปะปนเชื้อต่างๆ ทำให้เป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกได้
  • ปลาทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารปรอทสูง เช่น ปลากระโทงแทงดาบ ปลาโอ ปลาไทล์ฟิช หรือปลาอินทรีย์ ซึ่งเป็นปลาที่มีสารปรอทตามธรรมชาติในปริมาณสูงในระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ แม้แต่ปลาทูน่าจัดอยู่ในปลาที่มีสารปรอทสูงเช่นกัน ควรจำกัดไม่เกิน 2 กระป๋องต่อสัปดาห์
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คุณแม่ท้องห้ามรับประทาน เพราะอาจส่งผลให้ทารกสมองพิการแต่กำเนิดได้และทำให้คลอดก่อนกำหนด
  • สมุนไพรต่างๆ แม้จะได้ยินสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพมากมาย แต่สมุนไพรส่วนมากยังไม่มีผลการวิจัยที่รับรองต่อความปลอดภัยของสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • ผักหรือผลไม้บางชนิด ที่ไม่ควรรับประทานมาก เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าประโยชน์ เช่น ผักเครือเถาหรือผักที่ทานยอด เพราะมีสาร Purine สูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ หรือมะม่วงดิบ ซึ่งย่อยยาก ทุเรียน ทำให้จุกเสียด และมีน้ำตาลสูงเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้

คุณแม่ตั้งครรภ์
การดูแลสุขภาพและอาหารการกินถือเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ให้เติบโตอย่างแข็งแรงและเสริมสร้างพัฒนาการที่ดี พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและเตรียมความพร้อมจนเข้าสู่การคลอดลูกน้อย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตน้อยๆ ที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับคุณพ่อและคุณแม่

อ้างอิง:

อ้างอิง:

อ้างอิง ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566