MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
โภชนาการน่ารู้

PLAYING: สารอาหารจำเป็นต่อวันในเด็กวัยเตาะแตะ

Add this post to favorites

สารอาหารจำเป็นต่อวันในเด็กวัยเตาะแตะ

เพื่อให้ลูกวัยเตาะแตะได้รับสารอาหารจำได้อย่างครบถ้วน เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ ที่มีประโยชน์ เรามีเทคนิคมาแนะนำ

2นาที อ่าน

เพื่อให้เด็กวัยเตาะแตะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี จึงควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ โดยในแต่ละมื้อควรมีสารอาหารที่จำเป็น และแบ่งให้หลายมื้อ ได้แก่ อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารมื้อว่างที่มีประโยชน์อีก 2-3 มื้อ

ลูกน้อยวัย 12 เดือนต้องการอาหารจากแต่ละกลุ่มอาหารทุกวัน ตารางด้านล่างคือคำแนะนำการให้อาหารสำหรับเด็กวัยนี้

กลุ่มอาหาร

ปริมาณที่ควรบริโภคในแต่ละวัน*

 

ตัวอย่างปริมาณอาหาร 1 มื้อ

นม

470 มิลลิลิตร

120-240 มิลลิลิตร

ธัญพืชและซีเรียล

ธัญพืช 28 กรัม (อย่างน้อยครื่งหนึ่งควรเป็นธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรน)

อาหารต่อไปนี้เทียบเท่ากับธัญพืช 14 กรัม:

ขนมปังโฮลเกรน ½ แผ่น

โฮลวีทบาเกล ¼ ชิ้น

แพนเค้ก 1 ชิ้น

พาสต้าสุก ¼ ถ้วย

อาหารเสริมธัญพืชสำหรับทารก ¼ ถ้วย

อาหารต่อไปนี้ให้ธัญพืชประมาณ ¼ ออนซ์:

แครกเกอร์ 2 แผ่น

ซีเรียลข้าวโอ๊ต ¼ ถ้วย

ผักต่างๆ

170 มิลลิลิตร

ผักบด หรือผักหั่นชิ้นเล็กๆ ต้มจนนิ่ม ขนาดถ้วย 60 มิลลิลิตร

ผลไม้ต่างๆ

170 มิลลิลิตร

ผลไม้บด หรือผลไม้เนื้อนิ่ม ปอกเปลือก หั่นชิ้นเล็กๆ ขนาดถ้วย 60 มิลลิลิตร

เนื้อสัตว์และถั่วต่างๆ

43 กรัม

เนื้อสัตว์หรือเนื้อไก่ต้มสุกที่เคี้ยวง่าย 3 ช้อนโต๊ะ หรือไข่คน 1 ฟอง

 

* ลูกวัยเตาะแตะอาจต้องการอาหารมากหรือน้อยกว่านี้ ให้สังเกตสัญญาณความหิวและความอิ่มของลูก

 

วางพื้นฐานการมีสุขภาพที่ดี

 

เคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้คุณแม่สอนลูกวัยเตาะแตะเรื่องพฤติกรรมการกินที่ดี ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวลูกไปตลอดชีวิต

1. ฉลาดเลือกอาหาร
ในช่วงที่ลูกวัยเตาะแตะเปลี่ยนจากการกินนมแม่หรือนมผสมไปเป็นอาหารแบบผู้ใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือการที่ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เนสท์เล่ให้การสนับสนุน (FITS) การศึกษาเรื่องการให้อาหารทารกและเด็กวัยเตาะแตะในปี 2008 พบว่า เด็กวัยเตาะแตะมักกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ทำให้ได้รับโพแทสเซียมและใยอาหารน้อยกว่าปริมาณที่แนะนำ และยังพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กวัยเตาะแตะได้รับวิตามินอีจากอาหารที่กินไม่เพียงพอ
การให้อาหารที่หลากหลายกับเด็กวัยเตาะแตะจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยควรให้เด็กกิน ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และนม รวมทั้งน้ำมันพืชที่มีไขมันโอเมก้า 3 เช่น น้ำมันคาโนลา หรือน้ำมันถั่วเหลือง

2. กินให้หลากหลาย
การมีโภชนาการที่สมดุลขึ้นอยู่กับการกินอาหารจากกลุ่มต่างๆ ให้หลากหลายทุกวัน ทั้งธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ถั่วต่างๆ และนม ควรแน่ใจว่ามีอาหารที่ให้สารอาหารที่ลูกอาจได้รับไม่เพียงพออยู่ด้วย เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม วิตามินอี และใยอาหาร

3. กินผักและผลไม้หลากสี
อาหารที่มีสีสันหลากหลายช่วยให้ลูกได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และยังช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารที่หลากหลายอีกด้วย การให้ลูกหัดกินอาหารชนิดใหม่ด้วยการนำไปผสมกับอาหารจานโปรดของลูก อาจช่วยให้ลูกยอมรับอาหารใหม่ได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกชอบกินข้าวโพด คุณก็อาจเพิ่มพริกหวานสีแดงที่หั่นเป็นลูกเต๋าเล็กๆ ผสมเข้าไป

4. ให้ลูกตัดสินใจว่าจะกินมากน้อยแค่ไหน
สอนให้ลูกรู้ว่าควรกินแค่พออิ่ม ให้ลูกตัดสินใจว่าจะกินอะไร และกินมากน้อยแค่ไหน ถ้าหิว ก็ให้ลูกกินให้เต็มที่ และหยุดกินเมื่ออิ่ม

5. ฉลาดเลือกอาหารว่าง
ให้ลูกกินอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อ และอาหารว่างอีกวันละ 2-3 มื้อ และเนื่องจากเด็กวัยเตาะแตะบางคนได้รับพลังงานจากอาหารว่างมากถึง 25% ดังนั้นควรแน่ใจว่าอาหารว่างทุกมื้อควรเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารว่างที่ให้พลังงานสูงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ เช่น มันฝรั่งทอด คุกกี้ หรือเครื่องดื่มรสหวาน

6. เลือกเครื่องดื่มที่ดี
เครื่องดื่มมีส่วนสำคัญกับการได้รับน้ำอย่างเพียงพอ แต่ถ้าดื่มมากเกินไปก็อาจทำให้ลูกรู้สึกอิ่มจนไม่อยากกินอาหาร เครื่องดื่มของเด็กวัยเตาะแตะควรเป็นนม น้ำผลไม้ 100% หรือน้ำเปล่า ควรให้ลูกดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ถ้าจะให้ลูกดื่มน้ำผลไม้ ไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำผลไม้จากขวด ควรให้ดื่มจากแก้วเท่านั้น และให้ดื่มไม่เกินวันละ 120 มิลลิลิตร นอกนั้นก็ควรเป็นน้ำเปล่า

7. เลือกไขมันที่ดีกับสุขภาพ
เด็กเล็กต้องการแคลอรีจากไขมันเพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง จึงควรเลือกใช้ไขมันที่ดีกับสุขภาพคือไขมันไม่อิ่มตัวในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว รวมถึงปลาที่มีไขมัน และอะโวคาโด

8. เลือกอาหารโซเดียมต่ำ
แม้คุณจะคิดว่าอาหารของลูกมีรสชาติจืดเกินไป แต่คุณควรจำไว้ว่าลูกไม่ได้ต้องการอาหารที่มีรสเค็มเท่ากับคุณ การให้ลูกกินอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูงจะทำให้ลูกติดเค็มได้

 

เติมเต็มช่องว่างทางโภชนาการให้วัยเตาะแตะ

 

เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการกินและสารอาหารที่เด็กวัยเตาะแตะได้รับมากขึ้น เนสท์เล่ได้สนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับการให้อาหารทารกและเด็กวัยเตาะแตะในปี 2008 (FITS) การได้รู้ว่าเด็กวัยเตาะแตะกินอะไร จะช่วยให้เราสามารถให้คำแนะนำในการกินอาหารได้ดียิ่งขึ้น

 

เราพบว่ามีอาหารบางอย่างที่เด็กมักได้รับไม่เพียงพอ

 

ผักและผลไม้ มีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร การกินผักและผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอคือสิ่งสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี

ผลการศึกษาของ Nestlé FITS 2008 พบว่า มีเด็กวัยเตาะแตะอายุ 12-24 เดือน ถึง 25% ที่ไม่ได้กินผลไม้เลย และมีเด็กถึง 30% ที่ไม่ได้กินผักเลย ในวันที่ทำการศึกษา

ควรทำอย่างไรดี: ควรให้ลูกวัยเตาะแตะกินผลไม้วันละ 225 กรัม และกินผักวันละ 275 กรัม คุณแม่อาจให้ลูกกินผักหรือผลไม้แบบสด แช่แข็ง หรือแบบที่บดแล้วบรรจุกระป๋อง แต่ต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้กินง่าย จำไว้ว่าคุณอาจผสมผักหรือผลไม้บดลงในอาหารที่ลูกชอบเพื่อเพิ่มความหลากหลายได้อีกด้วย
ธัญพืช ผลการศึกษาของ Nestlé FITS 2008 พบว่า เกือบ 60% ของเด็กวัยเตาะแตะอายุ 12-18 เดือน กินธัญพืชชนิดขัดสีแล้วแบบผู้ใหญ่ การกินธัญพืชขัดสีแล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ เพราะอาจมีธาตุเหล็กต่ำกว่าอาหารเสริมธัญพืชสำหรับทารก

ควรทำอย่างไรดี: ควรให้ลูกกินอาหารเสริมธัญพืชสำหรับทารกที่มีธาตุเหล็กสูงต่อไป
เครื่องดื่มที่มีรสหวาน และของหวาน เด็กวัยเตาะแตะยังมีกระเพาะเล็ก ดังนั้นจึงมีที่ว่างเหลือไม่มากนักสำหรับอาหารที่ให้แคลอรี่ แต่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางโภชนาการ ผลการศึกษาของ Nestlé FITS 2008 พบว่า มากกว่า 70% ของเด็กวัยเตาะแตะ กินลูกกวาด ของหวาน หรือเครื่องดื่มรสหวานในวันที่ทำการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจมีแคลอรีสูงเมื่อเทียบกับสารอาหารที่มี การกินอาหารเหล่านี้ยังไปแทนที่อาหารที่มีประโยชน์อื่นๆ ที่ลูกควรจะได้กิน

ควรทำอย่างไรดี: แทนที่จะให้ลูกกวาดหรือขนมหวาน ควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าแทน เช่น ผลไม้ โยเกิร์ต ธัญพืช หรือของว่างที่ทำจากธัญพืชเต็มเมล็ด (โฮลเกรน)
ใยอาหาร มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหารของลูก อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของ Nestlé FITS 2008 พบว่า ไม่มีเด็กวัยเตาะแตะคนไหนเลยที่ได้รับใยอาหารครบตามปริมาณที่แนะนำคือ 19 กรัมต่อวัน

ควรทำอย่างไรดี: ให้ลูกกินธัญพืชเต็มเมล็ด ผักและผลไม้ทั้งแบบสด แช่แข็ง บด หรือแบบบรรจุกระป๋อง ทุกวัน โดยเตรียมให้มีขนาดและเนื้อสัมผัสที่เหมาะสมกับลูก
วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ช่วยปกป้องเซลล์ร่างกายจากการถูกทำลาย ผลการศึกษาของ Nestlé FITS 2008 พบว่า เด็กวัยเตาะแตะเกือบครึ่งหนึ่งได้รับวิตามินอีจากอาหารต่ำกว่าปริมาณที่แนะนำ

ควรทำอย่างไรดี: อาหารที่มีวิตามินอี ได้แก่ น้ำมันพืช (น้ำมันคาโนลา น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง) อะโวคาโด ธัญพืชเต็มเมล็ด และผักใบเขียวบางชนิด (ผักโขม บร็อคโคลี่)
โพแทสเซียม เป็นแร่ธาตุที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ ผลการศึกษาของ Nestlé FITS 2008 พบว่า ไม่มีเด็กวัยเตาะแตะคนไหนเลยที่ได้รับโพแทสเซียมจากอาหารได้ถึงปริมาณที่แนะนำ

ควรทำอย่างไรดี: โพแทสเซียมมีอยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น มันฝรั่ง มันเทศ อะโวคาโด ผักโขม โยเกิร์ต กล้วย และผลไม้ตระกูลส้ม
ไขมันที่ดีกับสุขภาพ ช่วยในการเจริญเติบโต และพัฒนาการของสมอง ไขมันยังช่วยให้ร่างกายนำวิตามินที่ละลายในไขมันไปใช้ได้ คือ วิตามินเอ ดี อี และเค ผลการศึกษาของ Nestlé FITS 2008 พบว่า ประมาณ 23% ของเด็กวัยเตาะแตะได้รับไขมันในปริมาณที่ไม่เพียงพอตามคำแนะนำ อาหารของเด็กวัยเตาะแตะควรมีพลังงานจากไขมันประมาณ 30-40% และส่วนใหญ่ควรมาจากไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (ทั้งไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (mono-unsaturated fat) และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fat)) เช่น ไขมันที่พบในปลา อะโวคาโด และอาหารที่ใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันคาโนลา และน้ำมันถั่วเหลือง ควรใช้ไขมันที่ดีกับสุขภาพเหล่านี้แทนการใช้ไขมันอิ่มตัวที่พบในผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันสูง เช่น เนย ชีส และเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น ฮอทด็อก เบคอน และไส้กรอกต่างๆ

ควรทำอย่างไรดี: ลองเตรียมอาหารโดยใช้น้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันคาโนลา ซึ่งมีไขมันโอเมก้า-3 กรดอัลฟาไลโนเลนิก หรือใช้เครื่องปรุงรส เช่น มายองเนส หรือน้ำสลัดที่ทำจากน้ำมันเหล่านี้ จำไว้ว่าควรจำกัดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือไขมันทรานส์สูง