ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์
คุณแม่ผ่าคลอดทุกคน คงกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับแผลผ่าคลอด และรอยแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าคลอด บางคนต้องบอกลาชุดว่ายน้ำตัวโปรดไปเลยทีเดียว หากคุณแม่อยากให้แผลผ่าคลอดสวย ไม่มีรอยแผล และแผลหายเร็ว ต้องดูแลแผลผ่าคลอดให้ถูกวิธีเพื่อลดรอยแผลเป็นที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ผ่าคลอด
แผลผ่าคลอด กี่วันหาย และควรดูแลอย่างไร ?
โดยปกติแล้ว หลังผ่าคลอดประมาณ 1 สัปดาห์ แผลผ่าคลอดบริเวณผิวหนังชั้นนอกจะเริ่มสมานกัน คุณหมอจะนัดเพื่อทำการตัดไหม ส่วนแผลด้านใน จะใช้เวลา 2 – 4 สัปดาห์ แผลที่เย็บไว้จะเริ่มสมานกันมากขึ้น หรือสำหรับบางคน อาจใช้เวลานานถึง 12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กิจวัตรประจำวัน, การผ่าตัดของคุณหมอ, การรับประทานอาหาร เป็นต้น โดยรวมสำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่าแล้วสำหรับแผลผ่าคลอด กี่วันหายดี อาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป แผลถึงจะหายสนิททั้งด้านในและด้านนอก
แผลผ่าคลอดเป็นผลจากการผ่าคลอด โดยแผลจะถูกเย็บปิดสนิทอยู่ใต้สะดือยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร คุณแม่ที่ผ่าคลอด ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดในการดูแลสุขภาพร่างกายและรอยแผลเพื่อลดความเสี่ยงเกิดรอยแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อันรวมไปถึงแผลติดเชื้อ นอกจากนั้น ควรเตรียมพร้อมด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะแผล วิธีดูแลแผล และการป้องกันแผลติดเชื้อ เพื่อจะได้ดูแลแผลผ่าคลอดได้อย่างถูกต้อง
สิ่งที่ควรรู้ก่อนออกกำลังกายหลังผ่าคลอด
คุณแม่ที่ผ่านการผ่าคลอดนั้นต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จึงอาจมีข้อจำกัดและคำแนะนำบางอย่างที่คุณแม่ควรทราบก่อนเริ่มออกกำลังกาย
- โดยทั่วไป ออกกำลังกายหลังผ่าคลอดสามารถเริ่มทำได้หลังการผ่าตัดอย่างน้อย 6 สัปดาห์ และควรสอบถามแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อม
- เริ่มต้นออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ออกกำลังกายเมื่อร่างกายพร้อม เช่น ไม่มีอาการหอบเหนื่อย หน้ามืด หรือภาวะบาดเจ็บอื่น ๆ เป็นต้น
- ระมัดระวังไม่ให้กลั้นหายใจระหว่างออกกำลังกาย
- ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
อยากให้แผลผ่าคลอดสวย หายเร็ว มี 10 วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด
- ในช่วง 3 เดือนแรก มีโอกาสสูงที่แผลผ่าคลอดจะกลายเป็นคีลอยด์ คือ มีลักษณะหนา นูน สามารถป้องกันได้โดยไม่ยกของหนัก หรือยืดเหยียดแผลมากจนแผลตึงเกินไป การยืดเหยียดจนแผลตึงทำให้ร่างกายปรับสภาพตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าแผลจะหลุด จึงสร้างเส้นใยคอลลาเจนหนา ๆ เพื่อทำให้แผลแน่นขึ้น พอเส้นใยคอลลาเจนหนาเกินไปจึงกลายเป็นแผลนูนขึ้นมาเป็นแผลคีลอยด์ในที่สุด ดังนั้นเวลาลุกนั่ง ยืน หรือเดิน ควรทำอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้แผลที่หน้าท้องตึงเกินไป ซึ่งอาการปวดแผลส่วนใหญ่จะค่อยๆ ทุเลาลงหลัง 48 ชั่วโมง
- ในช่วงที่ไหมรอยแผลผ่าคลอดยังไม่ละลาย ยังเจ็บแผล หรือมีน้ำซึมออกจากแผล ควรเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ เช่น การใช้พลาสเตอร์ปิดแผลกันน้ำ เพื่อลดการเปียกชื้นที่ทำให้แผลหายช้า หรือ อักเสบ
- การใส่ผ้ารัดหน้าท้อง จะช่วยให้อาการเจ็บแผลผ่าตัดบรรเทาลง และไม่ให้แผลผ่าตัดถูกดึงรั้งจากผนังหน้าท้องที่ยังหย่อน
- ควรเลี่ยงการใส่กางเกงที่ขอบกางเกงแน่น หรือกดทับแผล
- ห้ามแกะแผล และระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ คุณแม่ไม่ควรแกะแผลโดยเด็ดขาด ไม่ควรให้แผลโดนน้ำ ก่อนแพทย์นัดตรวจแผลผ่าตัด หลังจากตัดไหม หรือแผลแห้งดีแล้ว หากโดนน้ำควรใช้ผ้าสะอาดซับน้ำ หรือเช็ดแผลเบาๆ เท่านั้น
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารรสจัด พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยไม่มีข้อห้ามอย่างที่เข้าใจกันผิด ๆ เช่น ห้ามกินไข่ ห้ามกินข้าวเหนียว เป็นความเชื่อที่ผิด ในทางตรงกับข้ามอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ นั่นก็คือแผลผ่าคลอดนั่นเอง
- ทาครีมบำรุงผิวที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์สูง โดยควรทาหลังจากแผลผ่าคลอดแห้งแล้ว หรือไหมละลายแล้ว จะช่วยให้ผิวชุ่มชื้น มีความยืดหยุ่นสูง รอยแผลเป็นนุ่ม
- ไม่ยกของหนักหรือเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง งดเว้นการบริหารที่ต้องยืดกล้ามเนื้อจนกว่าแผลจะหาย เพราะจะทำให้แผลอักเสบ และมีอาการเจ็บแผลได้
- คุณแม่ควรเดินบ่อย ๆ หลังจากผ่าคลอดจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เนื่องจากการผ่าคลอดเป็นวิธีคลอดที่ต่างจากการคลอดธรรมชาติจึงทำให้แผลหายช้า นอกจากนี้การเดินบ่อย ๆ จะช่วยลดภาวะเสี่ยงเลือดอุดตันที่ขาได้ด้วย
- อาบน้ำฝักบัวแทนการแช่น้ำในอ่าง ควรอาบน้ำด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน และไม่ถูสบู่ เจลอาบน้ำ หรือทาแป้งลงบนแผลโดยตรง โดยปกติหากเย็บแผลผ่าคลอดด้วยไหมละลาย คุณหมอจะแปะพลาสเตอร์กันน้ำให้ประมาณ 7 วันแล้วนัดมาดูแผลอีกครั้ง ซึ่งไหมละลายจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วจะละลายหายไปเอง และแผลผ่าคลอดจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์เพื่อสมานและหายดี แต่ในบางคนอาจใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับร่างกาย การดูแลแผลของคุณแม่แต่ละคนด้วยหากมีอาการปวดแผล มีการอักเสบ บวมแดง แผลฉีกขาด หรือมีหนอง มีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
7 อาการบ่งชี้ ว่าแผลผ่าคลอดติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้ารับการผ่าคลอดควรหมั่นดูแลรักษาแผลให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล โดยหากสังเกตพบสัญญาณของการติดเชื้อดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
- เจ็บบริเวณแผลหรือมดลูกมากกว่าปกติ
- เกิดรอยแดง บวม และแสบร้อนที่แผล
- มีหนองสีเขียวหรือเหลืองไหลออกมาจากแผล
- ตกขาวมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
- มีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมากหรือมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ออกมาด้วย
- ขาบวมหรือเจ็บ
- ไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
นอกจากคุณแม่ผ่าคลอดต้องคอยดูแลแผลผ่าคลอดให้หายดีแล้ว คุณแม่ยังคงต้องดูแลลูกน้อยผ่าคลอดอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เนื่องจากเด็กผ่าคลอดต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสเสี่ยงเจ็บป่วยมากกว่าเด็กคลอดธรรมชาติถึง 30% เพราะเด็กผ่าคลอดจะไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่ดีจากแม่ในขณะคลอดและมีโอกาสได้รับนมแม่ช้ากว่าทารกที่คลอดตามธรรมชาติ
ดังนั้น นมแม่ เป็นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่มหัศจรรย์ที่สุดสำหรับ เด็กผ่าคลอด เพราะนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด รวมทั้ง Bifidus BL (B.Lactis) และ 2’FL ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ ที่ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน คุณแม่ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานที่สุดเท่าที่จะให้ได้
เรียนรู้วิธีดูแลเด็กผ่าคลอด อย่างถูกวิธีกัน
อ้างอิง
แผลผ่าคลอด ควรดูแลอย่างไร - พบแพทย์ (pobpad.com)
คืนหุ่นสวยด้วย 5 ท่าออกกำลังกายหลังผ่าคลอด - พบแพทย์ (pobpad.com)