โปรแกรมคำนวณอายุครรภ์ นับอายุครรภ์ คำนวณวันคลอดและวันครบกำหนดคลอด
ให้คุณแม่เตรียมความพร้อมต้อนรับวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก
สรุป
- การใช้โปรแกรมนับอายุครรภ์ช่วยให้คุณแม่สามารถคำนวณอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำ และทราบประมาณการ วันครบกำหนดคลอด
- โปรแกรมคำนวณอายุครรภ์ ช่วยนับอายุครรภ์ และคำนวณประมาณการวัน ครบกำหนดคลอด ทั้งยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้คุณแม่มือใหม่สามารถวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่สมาชิกใหม่ตัวน้อยจะลืมตาดูโลก
การคำนวณอายุครรภ์ หรือการนับอายุครรภ์ นอกจากจะช่วยให้ทราบกำหนดคลอดที่แน่ชัดดี แล้ว ยังทำให้คุณแม่ทราบถึงสุขภาพโดยรวมของทารกในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน หากทารกในครรภ์มีความผิดปกติ แพทย์ก็จะสามารถวินิจฉัยให้การดูแลรักษาได้อย่างถูกจุด ดังนั้นการนับอายุครรภ์จึงเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
การนับอายุครรภ์ คืออะไร
การนับอายุครรภ์ คือ การคำนวณอายุของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าตอนนี้คุณแม่มีอายุครรภ์เท่าไหร่ และทารกในครรภ์ควรมีพัฒนาการอย่างไร
โดยปกติแล้วอายุครรภ์จะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์แล้ว การนับอายุครรภ์ยังช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการดูแลรักษา และสามารถทราบถึงวันครบกำหนดคลอดได้อีกด้วย
นับอายุครรภ์ ทำได้อย่างไร
การนับอายุครรภ์สามารถทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้
นับอายุครรภ์จากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
- นับเพิ่มจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ไปอีก 9 เดือน 7 วัน
- นับย้อนหลังจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ไป 3 เดือน แล้วบวกเพิ่ม 7 วัน ยกตัวอย่างเช่น หากวันแรกที่ประจำเดือนของคุณแม่มาครั้งสุดท้าย คือวันที่ 15 พฤษภาคม ก็ให้นับย้อนหลังไป 3 เดือนตามลำดับ ซึ่งจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจึงบวกเพิ่มอีก 7 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นั่นเอง
นับอายุครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวด์
นอกจากการนับจากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่คุณแม่สามารถนับได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีอีกหนึ่งที่ใช้ในการนับอายุครรภ์ ก็คือการนับอายุครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวด์ (Ultrasound) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ โดยวัด จากความยาวของศีรษะถึงก้นกบ และอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ซึ่งวิธีนี้จะมีความแม่นยำสูงและทำให้ทราบถึงอายุครรภ์และสุขภาพ โดยรวม ของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
การนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ นับอย่างไร
โดยปกติแล้ว การนับอายุครรภ์จะนับเป็นแบบรายสัปดาห์ เนื่องจากในแต่ละเดือนมีจำนวนวันที่แตกต่างกัน ทำให้มีสัปดาห์ที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งการนับอายุครรภ์เป็นรายสัปดาห์สามารถใช้วิธีเดียวกับการนับอายุครรภ์จากประจำเดือนครั้งสุดท้ายได้ โดยนับได้จากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นวันที่ 0 และนับต่อไปจนถึงวันที่ 6 สัปดาห์นี้จะถือเป็นสัปดาห์ที่ 0 และวันที่ 7-13 ก็จะถือว่าเป็นสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
ตารางนับอายุครรภ์
คุณแม่มือใหม่สามารถดูตารางเปรียบเทียบการนับอายุครรภ์เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นได้ ดังนี้
ไตรมาส | เดือน | สัปดาห์ |
ไตรมาสที่ 1 | เดือนที่ 1 | สัปดาห์ที่ 1-4 |
เดือนที่ 2 | สัปดาห์ที่ 5-8 | |
เดือนที่ 3 | สัปดาห์ที่ 9-13 | |
ไตรมาสที่ 2 | เดือนที่ 4 | สัปดาห์ที่ 14-17 |
เดือนที่ 5 | สัปดาห์ที่ 18-21 | |
เดือนที่ 6 | สัปดาห์ที่ 22-26 | |
ไตรมาสที่ 3
|
เดือนที่ 7
| สัปดาห์ที่ 27-30 |
เดือนที่ 8 | สัปดาห์ที่ 31-35 | |
เดือนที่ 9 | สัปดาห์ที่ 36-40 |
การนับอายุครรภ์ตั้งแต่ปฏิสนธิ นับอย่างไร
การนับอายุครรภ์ตั้งแต่ปฏิสนธิ จะมีความซับซ้อนกว่าการนับอายุครรภ์จากวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพราะจะมีการนำวันไข่ตกมาใช้ประกอบการคำนวณด้วย ซึ่งปกติแล้วไข่จะตกก่อนประจำเดือนรอบใหม่มา 2 สัปดาห์ ทำให้อายุครรภ์ตั้งแต่ปฏิสนธิช้ากว่าอายุครรภ์ที่นับจากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย 2 สัปดาห์ ดังนั้น อายุครรภ์ที่นับจากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายจะเท่ากับอายุครรภ์ตั้งแต่ปฏิสนธิ +2 สัปดาห์
เช็กอายุครรภ์ มีประโยชน์อย่างไร
แต่ละช่วงอายุครรภ์จะมีการดูแลรักษาที่คุณแม่ควรเอาใจใส่และควรระมัดระวังแตกต่างกันออกไป การนับอายุครรภ์จึงมีประโยชน์ต่อการทราบพัฒนาการและสุขภาพโดยรวม ของทั้งคุณแม่เองและทารกในครรภ์ เพื่อที่จะได้วางแผนการดูแลถูกต้องเหมาะสมที่สุด เปรียบเสมือนการเตรียมพร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่ตัวน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก
ไขข้อข้องใจเรื่องการนับอายุครรภ์
จะรู้ได้อย่างไรว่าท้องกี่เดือน?
นอกจากการคำนวณด้วยตนเองคร่าว ๆ ตามวิธีการที่บอกไปข้างต้นแล้ว คุณแม่ควรไปตรวจครรภ์กับแพทย์และทำการฝากครรภ์ เพราะการคำนวณด้วยตนเองบางครั้งก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ทางแพทย์จะมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันที่มีเพศสัมพันธ์ วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย สัญญาณของการตั้งครรภ์ อาการ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ทราบอายุครรภ์ที่แม่นยำมากขึ้น
กำหนดคลอดคำนวณยังไง?
คุณแม่สามารถคำนวณวันครบกำหนดคลอดเองได้คร่าว ๆ ตามหลักกฎเนเกล (Naegele’s Rule) ได้ นั่นก็คือ นำวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด บวก 1 ปี ลบ 3 เดือน และบวกอีก 7 วัน เช่น วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือวันที่ 1 มกราคม 2566 เมื่อบวก 1 ปี = 1 มกราคม 2567
ลบ 3 เดือน = 1 ตุลาคม 2566
บวก 7 วัน = 8 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดคลอดนั่นเอง
เมื่อใกล้ถึงวันครบกำหนดคลอด ร่างกายของคุณแม่จะเริ่มส่งสัญญาณเตือนใกล้คลอดต่างๆ ให้คุณแม่รู้ตัว และคอยสังเกตอาการตัวเองเพื่อเตรียมพบแพทย์ ทั้งนี้ หากต้องการความแม่นยำที่สุดแนะนำให้คุณแม่เข้ารับการตรวจจากแพทย์โดยตรง
ไข่ตกช้า นับอายุครรภ์อย่างไร?
หากคุณแม่ท่านใดประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือจำไม่ได้ว่าวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือวันที่เท่าไหร่ ก็สามารถเข้าพบเข้าพบสูตินารีแพทย์ เพื่อนับอายุครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือที่เรียกกันว่า อัลตราซาวด์ (Ultrasound) นั่นเอง
ผลอัลตร้าซาวด์ เชื่อถือได้แค่ไหน การตรวจอัลตร้าซาวด์มีความผิดพลาดหรือไม่
แม้ว่าการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ในไตรมาสแรกนั้นจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้จาก สาเหตุหลักๆ คือ
อวัยวะของทารกไม่ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ในครรภ์ ความผิดปกติจึงอาจเกิดตอนหลังคลอดได้ อวัยวะบางอย่างมันเล็กมาก บางอย่างเรามองไม่เห็น อย่างนิ้วถ้าเด็กไม่กางมา เราก็มองไม่เห็น หรือหัวใจถ้าเล็กกว่าครึ่งเซ็นต์ ก็มองไม่เห็น อวัยวะของเด็กในท้องกับนอกท้องไม่เหมือนกัน ท่าทางของเด็ก อาจบดบังการมองเห็นภาพอวัยวะต่างๆ ได้
เมื่อทราบดังนี้แล้ว การนับอายุครรภ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อคุณแม่ทุกคน หากพบว่ามีอาการที่เข้าข่ายการตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่เอง และจะได้สามารถติดตามพัฒนาการของทารกน้อยในครรภ์ให้เติบโตไปอย่างสมบูรณ์แข็งแรงมากที่สุด
อ้างอิง:
- นับอายุครรภ์อย่างไรให้แม่น, โรงพยาบาลเปาโล
- • อัลตราซาวด์ และการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- อายุครรภ์ (Gestational age) มีวิธีนับอย่างไรบ้างให้ได้ผลที่แม่นยำ, Wellness Health Club
- Embryogenesis and Fetal Development (พัฒนาการของทารกในครรภ์), Faculty of Medicine Chiang Mai University (cmu.ac.th)
- วิธีนับอายุครรภ์ นับอย่างไรให้แม่นยำ, พบแพทย์ (pobpad.com)
อ้างอิง ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566