MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: 5 วิธีดูลักษณะอุจจาระปกติของทารกปกติหรือไม่

Add this post to favorites

5 วิธีดูลักษณะอุจจาระปกติของทารกปกติหรือไม่

ลักษณะอุจจาระของทารกจะช่วยให้คุณแม่รู้ว่าระบบขับถ่ายของลูกทำงานได้ดีเพียงใด มาเรียนรู้7ลักษณะอุจจาระทารกที่บ่งบอกสุขภาพของลูกน้อย ลักษณะแบบไหนที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

2นาที อ่าน

ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.วันดี วราวิทย์

ลักษณะอุจจาระของทารกจะช่วยให้คุณแม่รู้ว่าระบบขับถ่ายของลูกทำงานได้ดีเพียงใด อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักสับสนว่าอุจจาระแบบไหนที่เรียกว่า "ปกติ" มาเรียนรู้ 7ลักษณะอุจจาระทารกที่บ่งบอกสุขภาพของลูกน้อย ลักษณะแบบไหนที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้คุณแม่ดูแลสุขภาพของลูกน้อยอย่างเหมาะสม

นอกจากสีอึของลูกที่สามารถบอกสุขภาพลูกน้อยได้แล้ว สีอึอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่ลูกได้รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน ฉะนั้นการสังเกตลักษณะอุจจาระของลูกร่วมด้วยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เพราะลักษณะอุจจาระของลูกก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกสุขภาพของลูกได้เป็นอย่างดี ยิ่งในช่วง 1-2 ปีแรก ที่มีการให้ลูกรับประทานอาหารเด็กตามวัย คุณแม่จะพบว่าลักษณะอุจจาระของลูกอาจเปลี่ยนไป และมีหลายรูปแบบมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำหน้าที่ของลำไส้ ระบบขับถ่าย การเจริญเติบโต และยังเป็นสัญญาณเตือนเรื่องสุขภาพที่ไม่ดีของลูกได้อีกด้วย

เช็กอุจจาระลูก

 

ลักษณะอุจจาระของทารกและเด็กที่บอกถึงสุขภาพดี

ลักษณะอุจจาระของทารกและเด็กที่บอกถึงสุขภาพดี

ลักษณะอุจจาระเป็นแท่งนุ่มยาว คล้ายไส้กรอก

พื้นผิวเรียบอ่อนนิ่ม อุจจาระแบบนี้ ถือเป็นอุจจาระที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ระบบขับถ่ายดี บ่งบอกถึงการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ได้รับใยอาหารมากพอ และดื่มน้ำเพียงพอ ทางเดินอาหารทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอย่างสมดุล ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี

ลักษณะอุจจาระก้อนยาว แห้ง ผิวมีรอยแตก

อุจจาระแบบนี้ บ่งบอกได้ว่า ลูกน้อยอาจจะได้รับใยอาหาร เช่น ผักและผลไม้จากการรับประทานอาหารเด็กตามวัยไม่ครบ 5 หมู่หรือปริมาณน้อยและได้รับน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ถึงขั้นท้องผูก คุณแม่ควรให้ลูกได้ดื่มนมตามความต้องการของร่างกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และเสริมผักผลไม้ให้ลูกรัประทาน เพื่อเพิ่มใยอาหารช่วยในการขับถ่ายได้ดีขึ้น

ลักษณะอุจจาระก้อนเล็กนุ่ม แยกจากกัน

ถ้าอุจจาระยังนิ่มอยู่ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่การแตกเป็นก้อนๆ อาจเกิดจากการที่ลูกได้รับอาหารตามวัยไม่ครบ 5 หมู่และไม่เพียงพอ อุจจาระจึงไม่จับตัวเป็นก้อน คุณแม่จึงควรให้ลูกได้รับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้ เป็นต้น
 

ลักษณะอุจจาระของทารกที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง

ลักษณะอุจจาระของทารกที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง

ลักษณะอุจจาระออกมาเป็นก้อนเล็กแข็งๆ คล้ายลูกกระสุน

สาเหตุเกิดจากร่างกายขาดน้ำ หรือลูกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารน้อยเกินไป ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้อุจจาระไปค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน น้ำในลำไส้ใหญ่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายส่งผลให้อุจจาระจับกันเป็นก้อนเล็กแข็งๆ ซึ่งบ่งบอกว่าเจ้าตัวเล็กท้องผูก ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกได้รับประทานอาหารตามวัยครบ 5 หมู่ ให้ผัก ผลไม้ โยเกิร์ต เพิ่มขึ้นและดื่มนมตามความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายได้ดี

ลักษณะอุจจาระเป็นก้อนเล็กๆ อัดตัวรวมกัน

ลักษณะแบบนี้มักพบในเด็กที่เริ่มรับประทานอาหารเด็กตามวัย ได้รับอาหารที่มีใยอาหารน้อยเกินไปไม่พอกระตุ้นการขับถ่าย หรือมีภาวะขาดน้ำ มีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ค่อนข้างนาน น้ำในลำไส้ใหญ่ได้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายส่งผลให้อุจจาระจับกันเป็นก้อนเล็กๆอัดตัวรวมกัน ซึ่งทำให้ลูกขับถ่ายยาก คุณแม่จึงควรให้ลูกได้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มผัก ผลไม้ เพื่อเพิ่มใยอาหารให้มากขึ้น ร่วมกับให้ลูกดื่มนมเท่าที่ร่างกายต้องการ เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มช่วยให้ลูกขับถ่ายได้ดี

ลักษณะอุจจาระเป็นเนื้อเละๆ

มักจะพบในเด็กที่เริ่มมีอาการท้องเสีย เกิดจากการได้รับเชื้อโรคที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ ไวรัสโรต้า จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อหรือเชื้อติดมากับของเล่น ซึ่งเชื้อไวรัสโรต้าจะไปทำให้ลำไส้อักเสบ การย่อยและการดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ ทำให้อุจจาระเหลวกว่าปกติหรือเป็นน้ำได้ หรือเด็กที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว สาเหตุอาจเกิดจากการแพ้อาหารบางชนิด เช่น ไข่ กลูเตน โปรตีนนมวัว เป็นต้น หากใน 1 วัน ลูกถ่ายออกมามีลักษณะดังกล่าว เกิน 3 ครั้ง ควรพาไปพบแพทย์ทันที

ลักษณะอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำแยกออกมา

มักเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ ทำให้ลำไส้ไม่ทำหน้าที่ดูดซึมเกลือแร่และน้ำ ยิ่งในเด็กซึ่งยังเล็กหาน้ำกินด้วยตัวเองไม่ได้เมื่อรู้สึกกระหายน้ำ ประกอบกับระบบการทำงานต่างๆ ยังพัฒนาไม่เต็มที่จะเกิดภาวะขาดน้ำรวดเร็ว หากอุจจาระมีลักษณะเป็นเช่นนี้ และลูกมีอาการอ่อนเพลีย ถ่ายปัสสาวะน้อย แม้จะถ่ายอุจจาระ 1-2 ครั้งควรรีบพาไปพบแพทย์
เห็นไหมคะว่า เพียงแค่สังเกต ลักษณะอุจจาระของลูก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถตรวจสอบสุขภาพของลูกได้ในทุกๆ วัน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อลูกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่อาจพบกับอาการลูกท้องผูกของลูกมากขึ้น สาเหตุมาจากการเปลี่ยนนม หรือลูกรับประทานอาหารเด็กตามวัยไม่ครบ 5 หมู่และไม่เพียงพอ เป็นต้น
 

ลูกท้องผูก ท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้

เนื่องจากระบบย่อยอาหารในเด็กยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ อาการท้องผูก ถ่ายยากของลูก ให้สังเกตลักษณะและจากสีอึของลูก เช่น ลูกถ่ายเป็นก้อนแข็ง อาจมีเลือดสีแดงปน และอุจจาระเป็นลูกกระสุน ร้องไห้งอแงขณะเบ่งถ่าย หรือมีอาการกลั้นอุจจาระ
ในทางตรงกันข้าม เมื่อลูกท้องเสีย ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในเด็กเช่นกัน สาเหตุมักเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อในอาหารที่กินเข้าไป หรือเอาของเล่นมาเข้าปาก หรืออาการแพ้โปรตีนนมวัวซึ่งบางรายอาจมีผื่นแพ้ผิวหนังร่วมด้วย
หากลูกมีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยอาการ และสาเหตุ เพื่อให้สามารถดูแลลูก ให้นมและอาหารตามวัยได้เหมาะสม
 

เพื่อเสริมความแข็งแรงให้ระบบย่อยอาหารของลูกได้ง่ายๆ เรามีวิธีมาบอกกันค่ะ

เพียงให้ลูกได้ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และให้นมแม่ต่อเนื่องให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะ นมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิดรวมทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ LPR (แอลพีอาร์) โดย LPR เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่พบในน้ำนมแม่ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ระบบทางเดินอาหาร สร้างสมดุลที่ดีของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหาร จึงมีผลดีต่อระบบประสาทที่ควบคุมระบบทางเดินอาหาร ส่งผลต่อการย่อย การดูดซึม และการขับถ่ายที่เป็นปกติของลูก

หากระบบทางเดินอาหารหรือจุลินทรีย์ในลำไส้เสียสมดุล อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน การย่อยและการดูดซึมสารอาหาร อาการท้องผูก ท้องเสียไปจนถึงการอักเสบของลำไส้ที่เป็นปัจจัยหนึ่งของโรคเรื้อรังหลาย ๆ โรค การได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จึงมีหลักฐานทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่ามีประโยชน์ต่อทารกและเด็กในหลายภาวะ หากลูกมีการขับถ่ายดี จะส่งผลดีต่อการเติบโตและคุณภาพชีวิต
 


อ้างอิง
• กลุ้มใจลูกไม่ถ่ายหลายวันจะเป็นอะไรไหม ควรจะทำอย่างไรดี, ปี 2561 เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/2Xy7C4w
• “ท้องผูกในเด็กทารก” ควรแก้ไขอย่างถูกวิธี, ปี 2018 เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3ChssUy
• อุจจาระ บอก (โรค) อะไรได้บ้าง (samitivejhospitals.com)
• ทารกท้องผูก คุณแม่ควรทำอย่างไร - พบแพทย์ (pobpad.com)
• ลักษณะของอุจจาระบอกโรคได้นะ | โรงพยาบาลเปาโล - Paolo Hospital
• อุจจาระบอกสุขภาพลำไส้ของคุณได้อย่างไร (bumrungrad.com)
• อุจจาระกำลังบอกอะไรคุณ? (Bristol stool scale) | โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (siphhospital.com)