ตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการโดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์
คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกท้องผูก?
ปัญหาลูกไม่ถ่าย หรือลูกท้องผูก เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ที่เกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิด เพราะระบบย่อยอาหารของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ หรือยังไม่แข็งแรงเท่ากับวัยอื่น ๆ ลูกอาจขับถ่ายอุจจาระเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2 - 3 วันครั้ง อุจจาระแข็งถ่ายยากต้องเบ่งมาก ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ลูกท้องผูก ซึ่งปัญหาลูกน้อยท้องผูกนั้น ไม่ได้พิจารณาจากความถี่ในการขับถ่ายของลูกน้อยเพียงอย่างเดียว แต่คุณแม่ควรพิจารณาลักษณะของอุจจาระของลูกน้อยควบคู่ไปด้วย ซึ่งสัญญาณและอาการของภาวะลูกท้องผูก มีดังนี้
ลูกท้องผูก เด็กทารกไม่ถ่ายหลายวัน เกิดจากสาเหตุใด ลูกมีอาการท้องผูกและไม่ถ่ายอุจจาระกี่วันถึงเรียกว่าผิดปกติ?
1. สำหรับทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว
ทารกในช่วงอายุ 3-4 เดือนแรกหลังเกิดสามารถถ่ายอุจจาระหลายรอบต่อวัน แต่หลังจากนั้นทารกจะถ่ายห่างขึ้น ซึ่งอาจเหลือเพียงวันละครั้ง หรือหลายวันต่อครั้ง โดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นอาการท้องผูก หากยังสังเกตเห็นว่า ทารกยังถ่ายได้สะดวก อุจจาระนิ่ม ไม่แข็ง หรืออาจจะมีส่วนแข็งบ้างเล็กน้อยในช่วงต้น ๆ ก็อย่าเพิ่งกังวลไปก่อน ยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติเช่นกัน
2. สำหรับทารกที่กินนมผง
ทารกอาจจะมีแนวโน้มการถ่ายอุจจาระแข็งกว่าและห่างกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว บางคนอาจจะถ่ายทุกๆ 3-4 วัน และหากอุจจาระไม่แข็งเป็นเม็ดคล้ายลูกกระสุน ก็ยังถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน
อาการลูกท้องผูก ลูกถ่ายยาก เด็กทารกไม่ถ่ายหลายวัน สังเกตจากอะไรได้บ้าง? อาการแบบไหนที่บ่งชี้ว่าเด็กท้องผูกหรือมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง
หากเด็กท้องผูก ลูกถ่ายยากหรือมีภาวะท้องผูกเป็นระยะเวลานาน คุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกว่ามีอาการท้องผูกเรื้อรังหรือไม่ ดังต่อไปนี้
✔ อุจจาระก้อนเล็กและแข็ง
✔ ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
✔ พยายามกลั้นอุจจาระ
✔ ยืนเบ่ง
✔ ไม่กล้านั่งถ่ายอุจจาระ
✔ ยืนเขย่งเท้า เกร็งขาขณะพยายามถ่ายอุจจาระ
✔ นอนหรือยืนหนีบก้นจนหน้าซีดหรือมีเหงื่อออก
✔ ต่อต้านการนั่งถ่ายอุจจาระในโถส้วม
✔ ลูกแสดงอาการเจ็บในขณะขับถ่าย
✔ ลูกน้อยมีภาวะอุจจาระเล็ดบ่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจเป็นอุจจาระที่เล็ดออกมารอบ ๆ อุจจาระก้อนใหญ่ที่ตกค้างอยู่ คุณแม่จะพบเป็นรอยเลอะที่กางเกงในของลูก ซึ่งเป็นอาการที่เขาไม่สามารถควบคุมได้
✔ ลูกน้อยอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ไม่ยอมกินอาหาร และบ่นปวดท้อง
✔ ความถี่ในการขับถ่ายไม่สม่ำเสมอ
ข้อควรรู้! เด็กแต่ละคนจะมีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกัน เด็กบางคนถ่าย 2-3 ครั้งต่อวัน แต่เด็กบางคนก็ถ่ายเพียง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งก็ถือเป็นภาวะปกติได้ แต่หากลูกไม่ถ่ายในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ คุณแม่ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์
หากเด็กกลั้นอุจจาระนานๆ ลำไส้ใหญ่จะดูดน้ำออกจากอุจจาระมากขึ้น ทำให้ลูกถ่ายยากและอุจจาระแข็งและเป็นก้อนใหญ่ ถ่ายลำบาก เมื่อลำไส้ใหญ่ถูกยืดมากจนระบบประสาทรับรู้ความรู้สึกที่ผนังลำไส้ใหญ่เสียไป ความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระมักจะลดลง ทำให้ลูกถ่ายยากและต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ
วิธีดูแลและแก้ปัญหาเมื่อลูกท้องผูก ลูกถ่ายยากหรือทารกไม่ถ่ายหลายวัน
1. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์
หลัง 6 เดือนไปแล้ว คุณแม่ให้ลูกกินอาหารเสริมตามวัยได้ ควรเน้นให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุลและเพียงพอ เน้นผักผลไม้ที่มีกากใยเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย จำกัดอาหารแปรรูป และอาหารที่มีน้ำตาลสูง
2. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
ควรให้ทารกและเด็กกินนมและน้ำด้วยปริมาณที่เหมาะสมตามวัย โดยปกติแล้ว ทารกในช่วง 6 เดือนแรกมักได้รับสารน้ำอย่างเพียงพอจากการดื่มนมเท่านั้น
3. ฝึกให้มีกิจวัตรในการเข้าห้องน้ำ 3 เวลา หลังมื้ออาหาร สำหรับเด็กน้อยที่โตและเริ่มเข้าห้องน้ำแล้ว
4. กระตุ้นให้ลูกได้ทำกิจกรรม ให้เขาได้เล่นหรือออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งการออกกำลังกายช่วยแก้ปัญหาลูกท้องผูกได้
5. คุณแม่อาจจะขอคำแนะนำจากแพทย์ในเรื่องของ จุลินทรีย์โพรไบโอติก ยกตัวอย่างเช่น LPR ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์ที่พบในน้ำนมแม่ ที่พบว่าช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ จึงช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ลดอาการท้องผูกหรืออาการปวดท้องได้
เสริมสร้างความแข็งแรงให้ระบบทางเดินอาหารด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีประโยชน์ที่พบในนมแม่
สมดุลที่ดีของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหารมีผลดีต่อระบบประสาทที่ควบคุมระบบทางเดินอาหาร ส่งผลต่อการย่อย การดูดซึม และการขับถ่ายที่เป็นปกติ หากระบบทางเดินอาหารหรือจุลินทรีย์เสียสมดุล อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน การย่อยและการดูดซึมสารอาหาร อาการท้องผูกไปจนถึงการอักเสบที่เป็นปัจจัยหนึ่งของโรคเรื้อรังหลาย ๆ โรค การได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จึงมีหลักฐานทางการแพทย์บ่งชี้ว่ามีประโยชน์ต่อทารกและเด็กในหลายภาวะ หากลูกมีการขับถ่ายดี ก็จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต
น้ำนมแม่ยังมีสารอาหารอื่น ๆ อีกมากกว่า 200 ชนิด ที่มีส่วนช่วยให้ระบบทางเดินอาหารแข็งแรง ปรับสมดุลที่ดีของจุลินทรีย์ในลำไส้ โดย LPR เป็น หนึ่งในจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ที่นอกจากจะพบในนมแม่แล้ว ยังพบในโยเกิร์ตและนมบางชนิดอีกด้วย
อ้างอิง
Lara-Villoslada F, et al. British Journal of Nutrition (2007), 98, Suppl. 1, S96–S100