พัฒนาการเด็กทารก 4 เดือน เมื่อลูกน้อยเริ่มอยากพูด ต้องเสริมพัฒนาการแบบไหน
ลูกน้อยเติบโตมาจนเข้าเดือนที่ 4 แล้ว สำหรับพัฒนาการเด็ก 4 เดือน ลูกน้อยเริ่มพ้นคำว่าวัยแบเบาะ เพราะในช่วงเดือนนี้ลูกน้อยจะเริ่มไม่ยอมอยู่นิ่งๆ อีกต่อไป จะเริ่มขยับตัว เคลื่อนตัวมากขึ้น ในทารกบางรายจะเริ่มพยายามพลิกตัว คว่ำตัว นั่นแปลว่ากล้ามเนื้อของเขาเริ่มพัฒนามากขึ้นแล้ว มาดูกันดีกว่าว่า พัฒนาการทารก 4 เดือน มีอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ พร้อมเคล็ดลับเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้ลูกเติบโตสมวัย และมีพัฒนาการที่ดี
พัฒนาการเด็กทารก 4 เดือน ด้านร่างกาย
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ไว้ว่า เกณฑ์น้ำหนักและส่วนสูงในเด็กทารก 4 เดือน
• เด็กผู้ชาย จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 5.5-7 กิโลกรัม ส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 58-65 เซนติเมตร
• เด็กผู้หญิง จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 5-6.5 กิโลกรัม ส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 57-64 เซนติเมตร
สำหรับพัฒนาการเด็ก 4 เดือน ในด้านร่างกาย ได้แก่ ลูกสามารถยกแขนทั้งสองข้างขึ้นมาเล่นเองได้ตามอิสระ โดยการเหยียดแขนออกห่างจากลำตัว บางครั้งก็ทำทาเหมือนเครื่องบิน เงยหน้า แอ่นอก กางแขน กางขา ในขณะนอนคว่ำ หรือบางครั้งที่นอนหงาย ลูกน้อยสามารถเอื้อมมือไปคว้าเท้าของตัวเองมาจับเล่นได้
พัฒนาการเด็ก 4 เดือนที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณคอได้ดี โดยการยกศีรษะ หันไปตามทิศต่างๆ ได้ กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวแข็งแรงขึ้น เป็นสัญญาณว่าเขาเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกนั่งในเดือนต่อๆ ไปแล้ว นอกจากนี้กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างนิ้วและมือก็แข็งแรงขึ้นมาก เขาจะหยิบและกำสิ่งของไว้ติดมือได้เลย ดังนั้นในการอุ้มลูกน้อยในช่วงนี้ หากคุณแม่ไว้ผมยาวก็ควรรวบเก็บ หรือมัดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันลูกน้อยดึงผม
เคล็ด (ไม่) ลับ เสริมพัฒนาการเด็กทารก 4 เดือน ด้านร่างกาย
• ฝึกกล้ามเนื้อแขนขา โดยการจับให้ลูกนอนหงาย แล้วหาของเล่น หรือสิ่งของที่มีสีสันดึงดูดใจ เพื่อให้ลูกอยากหยิบจับ ให้เค้ายกแขน ยกขาเพื่อคว้าของเล่น
• ฝึกกล้ามเนื้อบริเวณหลัง โดยจับลูกนั่ง โดยมีคุณพ่อคุณแม่นั่งซ้อนหลังอยู่ เพื่อให้ลูกน้อยฝึกการนั่งพิง หรือจะให้นั่งพิงโซฟาที่มีพนักพิงนุ่มๆ ก็ได้ เพื่อให้หลังแข็งแรง และนั่งได้เองในเดือนต่อๆ ไป
• ฝึกกล้ามเนื้อบริเวณคอ ขณะที่ลูกน้อยกำลังเล่นของเล่น หรือนอนอยู่ ให้คุณพ่อคุณแม่เรียกชื่อลูก หรือโบกของเล่นมีเสียง เพื่อเรียกความสนใจให้เจ้าตัวน้อยหันไปมา
• ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้วยการให้เล่นของเล่น หรือจับมือคุณพ่อคุณแม่ การที่ลูกน้อยได้ออกแรงขยำมือเรื่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้มีความแข็งแรงมากขึ้น
พัฒนาการเด็กทารก 4 เดือน ด้านสติปัญญา
สำหรับพัฒนาการทารก 4 เดือน ลูกน้อยเริ่มอยากพูด อยากคุย เริ่มส่งเสียง ‘อ้อแอ้’ แสดงสีหน้าต่างๆ หรือเริ่มทำเสียงเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน ชอบเล่นน้ำลายและส่งสียงคล้ายพูดคนเดียว เป็นโทนเสียงสูงๆ ต่ำๆ สลับกัน แสดงว่าลูกน้อยเริ่มอยากสื่อสารแล้ว
นอกจากนี้เขายังมีกระบวนการการคิด การสั่งการสมองที่ดียิ่งขึ้น โดยการใช้มือและตาพร้อมๆ กันได้ เช่น มองสิ่งของและคว้าหมับไปเล่น เป็นต้น อีกทั้งสามารถมองตามสิ่งของที่เคลื่นไหวจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งด้วยการหันตามแบบรวดเร็ว และเริ่มจำหน้าคนที่คุ้นเคยได้แล้ว
เคล็ด (ไม่) ลับ เสริมพัฒนาการเด็กทารก 4 เดือน ด้านสติปัญญา
• ฝึกการจดจำ จัดให้ลูกนอนหงาย จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ยื่นหน้าเข้าไปหาลูกในระยะ 60 เซนติเมตร เพื่อให้ลูกน้อยได้ฝึกจำหน้า และเลียนแบบสีหน้าของเรา
• อ่านหนังสือนิทาน เพื่อให้เขามีสมาธิหยุดนิ่งอยู่กับสิ่งตรงหน้า ควรเลือกนิทานที่คุณแม่สามารถเล่าไป เลียนเสียงตัวการ์ตูน หรือเสียงสัตว์ไปด้วย เพื่อให้ลูกน้อยฝึกการฟัง และพยายามทำเสียงอ้อแอ้ตาม
• ปูพื้นฐานภาษาให้ลูก โดยการสัมผัสส่วนต่างๆ บนใบหน้าของลูก พร้อมพูดไปด้วย เช่น จมูกของ (ชื่อลูก) ปากของ (ชื่อลูก) พูดซ้ำหลายๆ ครั้ง
พัฒนาการเด็กทารก 4 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ
เด็กวัย 4 เดือน ลูกจะเริ่มมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ชัดเจนขึ้น ด้วยการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ที่สื่อถึงความต้องการของตัวเองได้ดีขึ้น เช่น ร้องแบบนี้แปลว่าหิว ร้องแบบนี้แปลว่าเจ็บ ร้องแบบนี้แปลว่าเหนื่อยหรือง่วง และเนื่องจากลูกเริ่มจำหน้าคนที่คุ้นเคยได้แล้ว เช่น คุณพ่อ คุณแม่ ลูกจะเริ่มยิ้มเยอะ และจะชอบเล่นสนุกกับคนคุ้นเคย ถึงขั้นร้องไห้เมื่อคุณพ่อคุณแม่หยุดเล่นเลยล่ะ เริ่มเลียนแบบสีหน้าของผู้อื่น เช่น ยิ้ม หรือ หน้ามุ่ย เป็นต้น
ในเดือนนี้ลูกน้อยจะเริ่มแสดงอาการ ‘ติด’ สิ่งของบางอย่างเป็นพิเศษ เช่น ผ้า ตุ๊กตา ของเล่น สิ่งของนุ่มๆ คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มสังเกตได้แล้วว่า ของเล่นชิ้นไหน คือชิ้นโปรดของลูกอีกด้วย
เคล็ด (ไม่) ลับ เสริมพัฒนาการเด็กทารก 4 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ
• เล่นสนุก แต่ต้องหยุดได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกบ่อยๆ เพราะนอกจากเป็นการแสดงความรัก ความเอาใจใส่แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใสด้วย แต่เมื่อถึงเวลานอน หรือเวลากิน ต้องหยุดเล่น ไม่ตามใจ เพราะจะทำให้ลูกติดเล่น และเอาแต่ใจตัวเอง
• พูดกระตุ้นให้ลูกแสดงสีหน้า โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถยิ้มพร้อมพูดว่า ‘ยิ้มให้คุณแม่สิลูก’ พร้อมยิ้มให้ลูก เพื่อให้เขาเลียนแบบ หรือ เล่นจ๊ะเอ๋ สร้างเสียงหัวเราะให้ลูก ก็เป็นการทำให้เขาได้แสดงออกทางรมณ์สนุกสนาน และแสดงสีหน้าได้ด้วยเช่นกัน
“ติด” สิ่งของ พัฒนาการนี้ ดีต่อลูกน้อยหรือไม่
สำหรับเด็กวัย 4 เดือน มักจะเริ่มแสดงอาการ ‘ติด’ สิ่งของชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ของเล่น ผ้า ตุ๊กตา เป็นต้น เพราะในช่วง 3 เดือนแรกที่ลูกลืมตาดูโลกมา เขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคุณแม่อยู่ แต่พอเข้าเดือนที่ 4 นั้น ลูกสามารถเคลื่นไหวได้คล่องตัวขึ้น ทำให้อยากเล่นนั่นเล่นนี่ จึงอาจติดของเล่นได้ ซึ่งอาการติดของเล่น ก็เป็นอีกหนึ่งพัฒนาการของเด็ก 4 เดือน และไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด เพียงแต่คุณแม่ควรเลือกของเล่นให้เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย เรามีของเล่นสำหรับเด็กวัย 4 เดือน มาแนะนำกัน ดังนี้
4 ของเล่น ช่วยเสริมพัฒนาการเด็กทารก 4 เดือน
• ของเล่นเขย่ากรุ๋งกริ๋ง เป็นของเล่นเด็ก 4 เดือน ที่ช่วยฝึกพัฒนาการด้านการได้ยิน ให้ลูกฝึกหันตามเสียง ช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอได้อีกด้วย
• ของเล่นบีบมือแบบมีเสียง เป็นของเล่นเด็ก 4 เดือน ที่ช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ เนื่องจากพัฒนาการเด็ก 4 เดือน สามารถจับของเล่นและกำได้อย่างเต็มไม้เต็มมือแล้ว ควรเลือกแบบมีเสียงจะช่วยเพิ่มความสนุกและความตื่นเต้นให้ลูกได้
• โมบายแขวน เป็นของเล่นเด็ก 4 เดือน ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถแขวนไว้บนเปล กระตุ้นให้ลูกสนใจและอยากคว้ามาเล่น เพื่อให้เขาฝึกกล้ามเนื้อส่วนแขน และสามารถเลือกแบบมีเสียงเพลง เพื่อใช้กล่อมลูกนอนได้ด้วย
• ตุ๊กตามีเสียงเพลง เป็นของเล่นเด็ก 4 เดือน ที่ผิวสัมผัสนุ่มละมุน และมีเสียงเพลงที่นุ่มนวล สามารถเลือกเป็นเสียงเพลงภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ เพื่อให้ลูกฝึกทักษะการฟัง และการเลียนเสียง อีกทั้งลูกยังใช้กอดได้ด้วย
ในการเลือกของเล่นสำหรับเด็ก 4 เดือน คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตว่า ควรมีผิวสัมผัสที่นุ่ม ไม่เป็นของแข็ง ไม่เป็นของมีเหลี่ยมคม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้ ในกรณีที่ลูกคว้าของเล่นมาเข้าปาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรให้ลูกได้เล่นของเล่นที่หลากหลายชนิด เพื่อไม่ให้เขา ‘ติด’ ของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นพิเศษ และของเล่นแต่ละชนิดก็ช่วยเสริมพัฒนาการในด้านที่ต่างกันด้วย อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ยังควรที่จะทำความสะอาดของเล่นของลูกเป็นจำ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของลูก
เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีครบทุกด้าน เรื่องโภชนาการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการหลักๆ ของวัยนี้ ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ แคลเซียม โปรตีน เกลือแร่ ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโต รวมทั้ง โอเมก้า 3,6 และ ดีเอชเอ ช่วยเรื่องการพัฒนาด้านสติปัญญา ในช่วงอายุ 4 เดือน คุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว แต่ในกรณีที่คุณแม่ต้องกลับไปทำงานประจำ อาจไม่สะดวกเอาลูกเข้าเต้าทุกมื้อ คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอในเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมกับวัยของน้อง เช่น การเสริมนมผงที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกน้อย ควบคู่กับการให้นมแม่
อ้างอิง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 5 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 5 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF