MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: วิธีเก็บน้ำนมแม่ให้มีคุณภาพ อยู่ได้นาน คงสารอาหารในน้ำนมได้ครบถ้วน

Add this post to favorites

วิธีเก็บน้ำนมแม่ให้มีคุณภาพ อยู่ได้นาน คงสารอาหารในน้ำนมได้ครบถ้วน

นมแม่ อาหารที่ลูกควรได้รับตลอด 6 เดือนแรกของชีวิต โดยคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และกินนมแม่เพียงอย่างเดียวใน 6 เดือนแรก เพื่อให้ได้รับสารอาหารกว่า 200 ชนิด ส่งผลต่อการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง รวมถึงพัฒนาการทางสมองที่ดีอีกด้วย และ ประโยชน์ของนมแม่นั้นมีมากมาย สามารถให้ลูกกินได้อย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ปี ควบคู่กับอาหารตามวัย วิธีเก็บน้ำนมแม่ จึงสำคัญมาก เพื่อคงคุณค่าทางสารอาหารไว้

2นาที อ่าน

สรุป

  • การเก็บรักษานมแม่ ทำได้หลายวิธี หากต้องการเก็บนมแม่ทำสต็อกอยู่นาน ๆ ควรใช้ถุงเก็บน้ำนม แล้วแช่ช่องฟรีซ จะช่วยยืดเวลา และคงคุณค่าสารอาหารในน้ำนมแม่เอาไว้
  • การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้ ควรวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้นมแม่คลายความเย็น หรือแช่น้ำอุ่น อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส แต่ห้ามนำเข้าไมโครเวฟ

การเก็บนมแม่สำคัญอย่างไร

การเก็บนมแม่อย่างถูกวิธี จะช่วยยืดอายุของนมแม่ให้อยู่ได้นาน อีกทั้งรักษาคุณค่าสารอาหารให้มากที่สุด เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน หรือไม่สะดวกให้ลูกเข้าเต้ากินนม ก็สามารถมีสต็อกนมแม่ไว้ให้ลูกได้กินอยู่เสมอ

วิธีการเก็บรักษานมแม่ ที่ถูกต้อง

การเก็บรักษานมแม่ ที่ถูกต้อง ทำได้หลายวิธี แต่ต้องทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อย เช่น

  • ขวดพลาสติกที่ปราศจากสาร BPA
  • ขวดแก้วที่ผ่านความร้อนทำลายเชื้อโรคเรียบร้อยแล้ว
  • ถุงเก็บน้ำนม

นอกจากภาชนะที่ใส่นมแม่แล้ว วิธีเก็บน้ำนมแม่ ยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ การเก็บรักษาสต็อกนมแม่ให้อยู่ได้นาน จึงควรใช้ถุงเก็บน้ำนมแล้วแช่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

วิธีเก็บน้ำนมใส่ถุง

  1. วิธีเก็บน้ำนมด้วยการบีบโดยใช้มือ

    1. ควรล้างมือให้สะอาด แล้วเช็ดให้แห้ง
    2. อาจประคบ เต้านมด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น 1-3 นาที อาจนวดคลึงเต้านมไปด้วย จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
    3. ลานนมและหัวนมให้เช็ดด้วยน้ำต้มสุกอุ่น ๆ ให้สะอาด
    4. วางปลายนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ของมือข้างที่ถนัด บริเวณขอบนอกของลานหัวนมในตำแหน่งตรงข้ามกัน และเปลี่ยนตำแหน่งไปรอบ ๆ ลานหัวนม จากนั้นให้กดนิ้วทั้งสองเข้าหาหน้าอก บีบเข้าหากันอย่างเบามือเป็นจังหวะ
    5. ให้บีบน้ำนมทิ้ง 2-3 หยดก่อน แล้วค่อยเก็บน้ำนมในภาชนะสะอาดที่เตรียมไว้
    6. บีบน้ำนมสลับข้างไปมาข้างละ 5 – 10 นาทีจนกว่าจะเกลี้ยงเต้า
  2. วิธีเก็บน้ำนมด้วยการใช้เครื่องปั๊มนม

    เครื่องปั๊มนมมีทั้งแบบใช้มือ ใช้แบตเตอรี่ และใช้ไฟฟ้า คุณแม่สามารถเลือกให้เหมาะสมตามการใช้งาน วิธีการบีบเก็บน้ำนมจะคล้ายกับการบีบเก็บน้ำนมแม่โดยใช้มือ เมื่อเครื่องช่วยปั๊มน้ำนมแม่เสร็จแล้ว ให้นำมาใส่ในถุงเก็บน้ำนม ปิดปากถุงให้สนิท แล้วจดวันที่ เวลาที่ปั๊ม เพื่อให้สะดวกในการหยิบมาป้อนนมลูก

ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่

ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ในการจัดเก็บ ดังนี้

  • การเก็บนมแม่ในอุณหภูมิห้อง (27-32 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-4 ชั่วโมง
  • การเก็บนมแม่ในอุณหภูมิห้อง (16-26 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 4-8 ชั่วโมง
  • การเก็บนมแม่ในกระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งตลอดเวลา (15 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
  • การเก็บนมแม่ในตู้เย็นช่องธรรมดา (0-4 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-5 วัน และควรเก็บไว้ด้านในสุดของตู้เย็น
  • การเก็บนมแม่ในช่องแช่แข็ง ตู้เย็นแบบประตูเดียว (-15 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 2 สัปดาห์
  • การเก็บนมแม่ในช่องแช่แข็ง ตู้เย็นแบบประตูแยก (-18 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-6 เดือน
  • การเก็บนมแม่ในช่องแช่แข็งเย็นจัด ตู้เย็นชนิดพิเศษ (-20 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 6-12 เดือน
  • ไม่ควรเก็บนมไว้ที่ประตูตู้เย็น

วิธีเก็บน้ำนม วิธีการเก็บรักษาสต็อกนมแม่ให้มีคุณภาพ คงสารอาหารไว้ให้ครบถ้วน

นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง สามารถเก็บไว้ได้นานสุดแค่ไหน

หากเก็บนมแม่ไว้ในอุณหภูมิห้องที่ประมาณ 27-32 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง แต่หากใช้ช่องแช่แข็งของตู้เย็น จะเก็บได้นานสูงสุดถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของตู้เย็น

นมแม่แช่ตู้เย็นได้ไหม

นมแม่สามารถเก็บและแช่ในตู้เย็นได้ แต่หากเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง ต้องย้ายลงมาเก็บในช่องธรรมดาล่วงหน้า 1 คืน หรือประมาณ 12 ชั่วโมง น้ำนมแม่ที่แข็งตัวจะได้ละลาย และจะเก็บได้ 24 ชั่วโมง ไม่ควรนำน้ำนมแม่ที่ละลายแล้ว กลับไปแช่แข็งซ้ำอีก

การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้

ถ้าเก็บนมแม่ไว้ในช่องเย็นธรรมดา ควรนำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้องก่อน ไม่ควรนำนมแม่ไปต้มหรืออุ่นด้วยไมโครเวฟ เพราะจะไปทำลายสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ให้แช่ในน้ำอุ่น ๆ ก็พอ สำหรับน้ำนมที่เหลือจากการป้อนลูก ควรใช้ภายใน 1-2 ชั่วโมง

วิธีเก็บนมในตู้เย็นทำอย่างไร

การเก็บนมในตู้เย็น ควรแบ่งพื้นที่แยกจากการเก็บอาหารชนิดอื่น โดยการเก็บสต็อกนมแม่ ควรเก็บในอุณหภูมิคงที่ ไม่ควรเก็บน้ำนมแม่ไว้ที่ประตูตู้เย็น ที่จะสัมผัสกับความร้อนจากภายนอกได้ง่าย

ไขข้อข้องใจเรื่องการเก็บนม

  • จำเป็นต้องเก็บนมหรือเปล่า
    แม้แต่คุณแม่ Full Time เลี้ยงลูกด้วยตัวเองตลอด ก็ยังควรเก็บนมแม่หรือทำสต็อกนม เพราะอาจมีวันที่ติดธุระนอกบ้าน หรือติดงานกะทันหัน การวางแผนทำสต็อกนมแม่จะช่วยให้ลูกได้กินนมตลอด ไม่ว่าแม่จะอยู่ที่ไหนก็ตาม
  • นมแม่แช่ร่วมกับอย่างอื่นได้ไหม
    ไม่ควรแช่นมแม่ร่วมกับอาหารชนิดอื่น หรือหาภาชนะใส่ถุงเก็บน้ำนมแม่ จัดเรียงตามวันที่และเวลาอย่างเป็นระเบียบ จะช่วยให้ง่ายต่อการนำมาให้นมลูก
  • เก็บนมแม่ ได้นานสุดกี่วัน
    การเก็บนมแม่ให้อยู่ได้นาน จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ หากเก็บนมแม่ในกระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งตลอดเวลา จะเก็บได้ 1 วัน ถ้าแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาจะเก็บได้นาน 3-5 วัน ถ้าอยากเก็บสต็อกนมแม่ให้อยู่นาน ๆ ควรเก็บนมแม่ในช่องแช่แข็ง จะยืดระยะเวลาของนมแม่ได้นานขึ้น

วิธีเก็บน้ำนมใส่ถุง ทำอย่างไร

ก่อนเก็บนมแม่ใส่ถุงเก็บน้ำนมควรล้างมือและเช็ดมือให้แห้งเสมอ โดยทำตามคำแนะนำการเก็บนมแม่ ตอนที่บีบน้ำนมหรือเทน้ำนมลงถุง ควรสังเกตปริมาณ ไม่ควรใส่มากเกินไปเพราะถุงอาจแตกได้ ก่อนปิดปากถุงน้ำนมควรไล่อากาศออก รีดถุงปากซิปให้สนิท ที่สำคัญ ต้องเขียนวันเวลา หรืออาจเขียนปริมาณน้ำนมลงไปด้วย การเก็บน้ำนมในช่องแช่แข็งควรเหลือพื้นที่สำหรับการขยายตัวของน้ำนมด้วย

อ้างอิง: