MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: ความจริงเกี่ยวกับประโยชน์ของนมแม่ที่แม่ต้องรู้

Add this post to favorites

ความจริงเกี่ยวกับประโยชน์ของนมแม่ที่แม่ต้องรู้

การมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับนมแม่ การเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และทารกที่ถูกเลี้ยงด้วยนมแม่ เพื่อช่วยให้คุณแม่มีความสุขทุกช่วงเวลาที่ดูแลและเลี้ยงดูลูกน้อย

1นาที อ่าน

เขียนและตรวจทานความถูกต้องโดย อ.ปิยวรรณ วงศ์วสุ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาด้านอาหารและโภชนาการ

ความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สารอาหารในน้ำนมแม่ ข้อควรรู้ต่างๆ เกี่ยวกับนมแม่ และการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เชื่อว่าหลังจากที่อุ้มท้องกันมาได้พักหนึ่ง ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายคงเริ่มอยากรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันแล้วใช่ไหมคะ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นนับเป็นการมอบอาหารที่ดีที่สุดให้แก่ลูกน้อยเลยล่ะค่ะ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตลูก ความในวันนี้เราจึงมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับน้ำนมของคุณแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาฝากกันค่ะ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำไมจึงสำคัญ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีประโยชน์ทั้งต่อตัวของคุณแม่และลูกน้อย เพราะน้ำนมของแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดที่เหมาะสำหรับพัฒนาการสมองและการเจริญเติบโตของทารกแรกเกิด ในแบบที่ต้องยอมรับว่าไม่มีอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ใดเทียบเท่าได้เลยล่ะค่ะ สำหรับประโยชน์ต่อตัวคุณแม่นั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้เร็วยิ่งขึ้น รวมไปถึงช่วยปรับสภาพอารมณ์ และลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ในตัวคุณแม่ขณะที่ลูกน้อยดูดนมนั่นเอง และข้อสำคัญประการสุดท้ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำให้เกิดการสัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อ (skin to skin contact) ซึ่งเป็นการสานสัมพันธ์ความรักและความผูกพันระหว่างแม่กับลูกได้ดีที่สุดเลยล่ะค่ะ

ดังนั้น หากทารกที่เกิดมาไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ใดๆ ที่ไม่สามารถทานนมแม่ได้ หรือจำเป็นต้องได้รับอาหารทางการแพทย์ และตัวคุณแม่เองก็ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าห้ามให้นมลูก เราขอสนับสนุนและส่งเสริมให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่ะ

 

ประโยชน์ของนมแม่ กับ 4 สารอาหารสำคัญในน้ำนมของแม่ที่คุณแม่ต้องรู้!!!

สาเหตุที่คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารชนิดอื่นในช่วง 6 เดือนแรกนั้น เป็นเพราะในนมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอแล้วค่ะ น้ำนมแม่ประกอบด้วยสารอาหารหลัก ได้แก่

  1. คาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่อยู่ในรูปของน้ำตาลแลคโตส
  2. โปรตีนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ช่วยส่งเสริมด้านภูมิต้านทาน เช่น อิมมูโนโกลบูลิน A (IgA) แอลฟา-แล็คตัลบูมิน
  3. ไขมันในนมแม่มีหลายชนิดรวมไปถึงที่เราคุ้นหูกันดีอย่าง DHA ที่ช่วยพัฒนาสมอง ระบบประสาทและการมองเห็น
  4. วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในนมแม่นั้นก็มีมากมายเลยล่ะค่ะ ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารกก็เช่น วิตามิน A วิตามิน B1วิตามิน B2 วิตามิน B6 วิตามิน B12 วิตามิน C วิตามิน D วิตามิน E วิตามิน K ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เป็นต้น

นอกจากส่วนที่เป็นสารอาหารหลักแล้ว ในน้ำนมแม่ยังมีสารจากธรรมชาติอื่นๆ ที่ส่งผลดีต่อลูกน้อยอีกหลายชนิด เช่น โกรทแฟคเตอร์ มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเจริญเติบโต จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ เช่น LPR ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน และแอนติบอดีต่างๆ ที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องให้นมแม่ไปนานแค่ไหน

ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น หากอ้างอิงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวตลอดช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดค่ะ จากนั้นจึงเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยที่ปลอดภัยควบคู่ไปกับการให้นมแม่ หลัง 6 เดือน สามารถเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยที่ปลอดภัยควบคู่ไปกับการให้นมแม่ นานที่สุดเท่าที่จะสามารถให้ได้

 

รู้หรือไม่! น้ำนมแม่มีมากกว่าหนึ่งสี

ไม่ต้องแปลกใจหากเห็นน้ำนมแม่ไม่เป็นสีขาว เพราะสำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น น้ำนมที่ออกมาจะมีสีและสารอาหารแตกต่างกันตามระยะเวลานับตั้งแต่หลังคลอดค่ะ โดยสามารถแบ่งระยะของน้ำนมได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

 

ระยะแรก : น้ำนมสีเหลือง

เป็นน้ำนมที่ผลิตออกมาช่วง 1-3 วันแรกหลังคลอด มีสีเหลืองหรือสีครีม คนโบราณอาจบอกว่าเป็นน้ำนมเสีย ให้บีบออกไปก่อน ...อย่านะคะ! เพราะน้ำนมแบบนี้เรียกว่า น้ำนมเหลือง หรือ โคลอสตรัม (Colostrum) เป็นน้ำนมที่เต็มไปด้วยสารช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงให้แก่ร่างกายของทารกค่ะ

 

ระยะที่สอง : น้ำนมปรับเปลี่ยน

เป็นน้ำนมที่ผลิตออกมาถัดจากระยะโคลอสตรัม ตั้งแต่วันที่ 5 จนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด มีสีขาวขุ่น เป็นน้ำนมที่จะเริ่มมีสารอาหารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะไขมันและน้ำตาล เราเรียกน้ำนมระยะนี้ว่า น้ำนมระยะปรับเปลี่ยน (Transitional Milk) ค่ะ

 

ระยะที่สาม : น้ำนมปกติ

หลังจาก 2 สัปดาห์แรกเป็นต้นไป น้ำนมของคุณแม่จะมีสีขาวและมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งเราเรียกว่า น้ำนมปกติ (Mature Milk)  โดยเป็นระยะที่น้ำนมเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ในสัดส่วนที่สมดุล น้ำนมส่วนนี้แหละที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของลูกน้อยไปตลอดระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า หรืออาจจะยาวนานกว่านั้นค่ะ

น้ำนมของคุณแม่นั้นสามารถบีบเก็บเอาไว้ได้ โดยวิธีที่เราเรียกว่า “การปั๊มนม” นั่นเอง เพื่อใช้ในเวลาที่คุณแม่ไม่สะดวกให้นมลูกด้วยตนเอง เช่น ถึงคราวต้องกลับไปทำงาน หรือเก็บน้ำนมไว้เมื่อลูกน้อยยังไม่อยากดูดนมหรือดูดจากเต้าไม่หมด โดยนมน้ำที่ปั๊มออกมานั้นมีอายุอยู่ได้นานตามวิธีการเก็บรักษา เช่น หากแช่ไว้ในช่องแข็งก็อาจอยู่ได้นานถึง 4-6 เดือนเลยล่ะค่ะ

 

5 วิธีเตรียมตัวหากตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 

5 วิธีเตรียมตัวหากตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณแม่คงจะมีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับนมแม่แล้วสินะคะ สำหรับคุณแม่ท่านใดที่ตั้งปณิธานแน่วแน่แล้วว่า “ฉันจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” เราขอแนะนำ 5 วิธีเตรียมตัวเพิ่มเติมที่ทำได้ในระหว่างอุ้มท้อง ดังนี้ค่ะ

 

1. เลือกคุณหมอฝากครรภ์และโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ควรแจ้งให้คุณหมอฝากครรภ์ทราบว่าคุณแม่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว เพื่อที่คุณหมอจะได้แนะนำวิธีการดูแลตนเองจนถึงวิธีการทำคลอดที่เหมาะสมให้

 

2. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

เพื่อให้พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์เป็นไปอย่างปกติ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่อตัวคุณแม่หรือทารกหลังคลอด ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

 

3. รับประทานอาหารให้เพียงพอและสารอาหารครบถ้วน

เพราะอาหารที่คุณแม่รับประทานย่อมส่งผลต่อทั้งตัวลูกน้อยขณะอยู่ในครรภ์ และน้ำนมที่ร่างกายคุณแม่จะสร้างขึ้น นอกจากนั้นยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้ทารกเกิดอาการแอลกอฮอล์ซินโดรมที่รุนแรงถึงขั้นต้องยุติการตั้งครรภ์ได้

 

4. หมั่นศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เช่น การจัดเตรียมบ้านให้เหมาะสม อุปกรณ์ปั๊มนม การเก็บรักษานมแม่ อาหารที่ควรรับประทานสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น

 

5. วางแผนร่วมกับบุคคลในครอบครัว

เพราะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก จึงควรทำความเข้าใจและวางแผนกับคนใกล้ชิดหรือบุคคลภายในบ้านด้วยค่ะ เช่น การแบ่งเบาภาระงานในช่วงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แผนการกลับไปทำงานหลังคลอด การจัดเตรียมพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนั้นอาจลองพูดคุยและขอคำปรึกษาจากคุณหมอ พยาบาล หรือคุณแม่ท่านอื่นๆ ที่เคยผ่านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และขอคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ก็จะช่วยให้คุณแม่เห็นภาพและเตรียมพร้อมได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

 

เอกสารอ้างอิง

World Health Organization. (2021). infant and young child feeding. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/infant-and-young-child-feeding
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.(2562). ตั้งครรภ์คุณภาพและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/ebooks/hp-ebook_06_mini/
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2561). “น้ำนมแม่” ประโยชน์แท้จากธรรมชาติ. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/benefits-of-breastfeeding/
ผกากรอง วนไพศาล.(2559). น้ำนมแม่ ประโยชน์อเนกอนันต์. สืบค้นจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article