MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: เช็คลิสต์ให้พร้อม! จัดเตรียมข้าวของรับลูกน้อยแรกเกิด

Add this post to favorites

เช็คลิสต์ให้พร้อม! จัดเตรียมข้าวของรับลูกน้อยแรกเกิด

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก เริ่มนับถอยหลังวันที่จะได้เจอหน้าลูกน้อยกันแล้วใช่ไหม คุณแม่หลายท่านคงกังวลเรื่องการเตรียมตัวคลอด สถานที่และเครื่องใช้ที่จำเป็นหลังคลอดอยู่

2นาที อ่าน

เรามีเช็คลิสต์เรื่องสำคัญ รวมทั้งของใช้จำเป็นที่คุณแม่ควรเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้คุณแม่และครอบครัวพร้อมต้อนรับเจ้าตัวน้อยได้อย่างมีความสุขและไร้กังวล

 

เช็คลิสต์ให้พร้อม! จัดเตรียมข้าวของรับลูกน้อยแรกเกิด

 

1. เตรียมตัวคุณแม่และครอบครัว

 

• กำหนดวันคลอด คุณแม่ควรเช็คกับคุณหมอเป็นระยะ เพื่อกำหนดวันคลอด หรือหากคุณแม่มีฤกษ์วันคลอดก็ควรแจ้งแพทย์เพื่อทำการนัดหมายแพทย์ จองห้องโรงพยาบาล วางแผนลาคลอดสำหรับคุณแม่และคุณพ่อ และแจ้งวันให้ว่าที่คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย มาเตรียมรับขวัญหลายตัวน้อย ส่วนเพื่อนๆ ลุงป้าน้าอา แนะนำว่าควรแจ้งให้มาเยี่ยมหลังคลอดแล้วสัก 2-3 วัน เพื่อให้คุณแม่และลูกน้อยได้พักผ่อนเต็มที่หลังผ่านการคลอดใหม่ๆ
• วางแผนลาคลอด คุณแม่และคุณพ่อควรสอบถามนโยบายและสวัสดิการในการคลอดกับที่ทำงาน หรือหัวหน้างานให้ชัดเจน และทำเรื่องลาคลอดแต่เนิ่นๆ เพื่อความสบายใจในช่วงลาคลอดและส่งผลกระทบกับงานน้อยที่สุด เช่น เริ่มวางแผนเคลียร์งาน พูดคุยกับหัวหน้างานเป็นระยะ เพื่อให้รับทราบความคืบหน้าของงานที่อาจคาบเกี่ยวในช่วงลาคลอด และส่งมอบงานต่ออย่างราบรื่น
• ตั้งชื่อลูกน้อย เตรียมตั้งชื่อให้ลูกน้อยให้พร้อม เนื่องจากทางโรงพยาบาลจะสอบถามชื่อจริงของลูกน้อยในช่วงวันคลอด เพื่อทำเอกสารรับรองการเกิด บางโรงพยาบาลอาจมีบริการดำเนินการแจ้งเกิดให้ โดยการแจ้งเกิดต้องทำภายใน 15 วันหลังจากวันคลอด
• เตรียมคนดูแล ในช่วงหลังคลอดแรกๆ คุณแม่ควรมีคนคอยดูแลช่วยเหลือสัก 1 คน ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณพ่อเอง หรือคนในครอบครัว คุณแม่ควรพูดคุยเพื่อบอกความต้องการขอความช่วยเหลือให้ชัดเจน หรือหากจำเป็นต้องจ้างคนดูแล หรือพี่เลี้ยงเด็ก ควรใช้เวลาคัดเลือกเผื่อไว้ 2-3 คน ทำความเข้าใจเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ และนัดหมายวันเวลาที่ต้องการให้มาเริ่มงาน

 

เช็คลิสต์ให้พร้อม! จัดเตรียมข้าวของรับลูกน้อยแรกเกิด

 

• เตรียมร่างกาย บริหารร่างกายเบาๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความทนทานให้ร่างกาย สร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการคลอด ฝึกการหายใจเข้าออกช้าๆ ยาวๆ เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอในขณะคลอด นอกจากนี้ คุณแม่ควรดูแลเต้านม ตรวจเช็คหัวนมและหาวิธีแก้ไข หากมีปัญหาหัวนมบอด หัวนมสั้น เพื่อให้ลูกน้อยไม่พลาดโอกาสในการดูดนมแม่จากเต้าตั้งแต่แรกคลอด
• เตรียมจิตใจ นอกจากการพูดคุยกับคนในครอบครัว หรือการไปเที่ยวพักผ่อนเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว คุณแม่ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับการคลอดเอาไว้บ้าง เช่น อาการของการเจ็บท้องจริง เจ็บเตือน วิธีการเบ่งคลอด วิธีการบล็อคหลัง ฯลฯ เพื่อให้รู้ทันสัญญาณการคลอด และกระบวนการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตื่นตกใจที่อาจเกิดขึ้นในวันคลอดได้
• จัดกระเป๋าไปคลอด คุณแม่ควรเตรียมจัดกระเป๋าให้พร้อมตั้งแต่ช่วงเดือนสุดท้ายก่อนถึงกำหนดคลอด เลือกเสื้อผ้า ของใช้ที่จำเป็นสำหรับตัวเอง ลูกน้อย และคุณพ่อ รวมทั้งเอกสารต่างๆ เช่น ข้อมูลการฝากครรภ์ เอกสารแจ้งเกิด เอกสารประกันสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ อย่าลืมเตรียมเรื่องค่าใช้จ่าย การเดินทาง และเบอร์โทรฉุกเฉินเผื่อเอาไว้ด้วย

 

2. เตรียมของใช้จำเป็นสำหรับลูกน้อยและคุณแม่

 

การช้อปปิ้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นเรื่องที่คุณแม่ส่วนใหญ่ชื่นชอบ ของใช้หลังคลอดสำหรับคุณแม่และสำหรับลูกน้อยนั้นมีหลากหลายทั้งชนิด รูปแบบ และยี่ห้อ ลองเช็คลิสต์ของใช้ที่จำเป็นตามหมวดหมู่ และคำแนะนำเบื้องต้น เพื่อให้การเตรียมของสำหรับหลังคลอดครบถ้วน ใช้ได้จริง และคุ้มค่า

2.1 หมวดเสื้อผ้า
• ชุดเด็กอ่อน ควรเลือกแบบที่สวมใส่ง่าย เช่น แบบชุดป้ายผูกด้านหน้า ชุดแยกชิ้นเสื้อกับกางเกง ชุดหมีหรือรอมเปอร์ที่สามารถเปิดปิดบริเวณเป้าได้ง่าย เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดให้ลูกน้อยแรกเกิดที่มีการขับถ่ายทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ไม่ควรเลือกชุดที่ต้องสวมลงทางศีรษะ เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวช่วงคอและศีรษะที่ยังไม่แข็งแรง ประเภทของเนื้อผ้า ความหนา ความยาวแขนเสื้อ-ขากางเกง ควรพิจารณาให้เหมาะกับสภาพอากาศในห้องที่เด็กอยู่ประจำ ถึงแม้ชุดเด็กๆ จะดูน่ารักน่าซื้อไปทุกตัว แต่เด็กช่วงวัยนี้โตเร็วมาก ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนไซส์ชุดทุก 2-3 เดือน แถมยังมีชุดที่อาจได้รับเป็นของขวัญมาสมทบอีก ดังนั้น ชุดแรกเกิดไซส์ NB ไซส์ 50-60 หรือไซส์ 0-3M คุณแม่อาจเตรียมล่วงหน้าเพียง 4-5 ชุดก็เพียงพอแล้วค่ะ

 

เช็คลิสต์ให้พร้อม! จัดเตรียมข้าวของรับลูกน้อยแรกเกิด

 

• ถุงมือ ถุงเท้า ก่อนซื้อถุงมือ ถุงเท้าควรพลิกดูด้านใน หลีกเลี่ยงถุงมือถุงเท้าที่ด้านในมีตะเข็บหรือเส้นด้ายที่ง่ายต่อการหลุดลุ่ย ซึ่งอาจพันนิ้วของลูกจนเกิดอาการห้อเลือดได้
• หมวก ผ้ากันเปื้อน ลูกน้อยแรกเกิดควรสวมหมวกที่แนบชิดกับศีรษะ เพื่อให้รู้สึกอบอุ่น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น ในห้องเแอร์ มีลมพัด หรือออกไปนอกบ้าน ส่วนผ้ากันเปื้อน ลูกน้อยจะเริ่มได้ใช้เมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ เริ่มเล่นน้ำลาย หรือมักมีน้ำลายไหลบ่อยๆ
• ผ้าอ้อม จัดเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่สามารถใช้งานได้ยาวนานจนเกือบถึงวัยอนุบาล คุณแม่จึงควรใส่ใจกับเนื้อผ้าและคุณภาพของผ้าอ้อมเป็นพิเศษ หากคุณแม่ไม่ได้ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปหรือกางเกงผ้าอ้อม คุณมึควรเตรียมผ้าอ้อมในปริมาณมากพอที่สามารถเปลี่ยนใช้ได้ประมาณ 8-12 ผืนต่อวัน ขนาดของผ้าอ้อมควรเลือกคละกันทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่ที่สามารถห่อตัว หรือใช้เป็นผ้าห่มได้ด้วย
• ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สำหรับช่วงแรกเกิด แนะนำผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบเทปแปะ ซึ่งจะสวมใส่ง่ายกว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบกางเกง ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็เป็นอีกไอเทมยอดฮิตที่คนมักนำมาให้เป็นของขวัญ เพราะฉะนั้น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปไซส์ NB (New born) สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงน้ำหนักตัว 5 กิโลกรัมหรือแค่ประมาณช่วง 2 เดือนแรก จึงควรเตรียมไว้ประมาณ 50 ชิ้นสำหรับช่วงแรก

 

2.2 หมวดอาบน้ำและทำความสะอาด
• สบู่ แชมพู เลือกสูตรสำหรับเด็กที่อ่อนโยน อาจเลือกแบบ Head to Toe ซึ่งเป็นได้ทั้งเป็นสบู่และแชมพูในตัวเดียวกัน
• กะละมังอาบน้ำ ควรเลือกขนาดใหญ่ เพราะสามารถใช้ได้จนถึง 2-3 ขวบ อาจมีแผ่นกันลื่นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
• สำลี สำหรับเช็ดบริเวณขับถ่าย เช็ดสะดือ และสำหรับเช็ดดวงตา
• สำลีพันก้าน สำหรับเช็ดใบหู และรูจมูก
• โลชั่น หรือออยล์ สำหรับทาตัว ทาหน้า ครีมทาก้นป้องกันการเกิดผดผื่น และโลชั่นกันยุงสำหรับเด็กเล็ก
• แอลกอฮอล์ สำหรับเช็ดสะดือช่วงอาทิตย์แรกๆ
• หวีผม ชนิดแปรงขนนุ่ม
• กรรไกรตัดเล็บ
• น้ำยาล้างขวดนม
• น้ำยาซักผ้าเด็ก น้ำยาปรับผ้านุ่มสำหรับเด็ก

 

2.3 หมวดที่นอน
• เตียงหรือที่นอนเด็ก (กรณีไม่ได้นอนร่วมเตียงเดียวกับคุณพ่อคุณแม่) ควรมีความนุ่มที่พอดี ไม่ฟู หรือยุบตัวง่าย จนอาจทำให้เกิดการปิดกั้นการหายใจขณะนอน
• ผ้ารองกันเปื้อน กันเปียก
• มุ้ง หมอนข้าง และผ้าห่ม (หมอนหนุนยังไม่จำเป็นต้องใช้)
• คาร์ซีท และรถเข็นเด็ก ต้องเลือกรุ่นที่สามารถใช้ในเด็กแรกเกิดได้ และเตรียมศึกษาวิธีใช้และการติดตั้งตั้งแต่ก่อนคลอด เพื่อพร้อมรับลูกน้อยกลับจากโรงพยาบาล ทางที่ดีคือควรเลือกรุ่นที่สามารถถอดเปลี่ยนแผ่นนั่งรองได้เมื่อลูกมีขนาดที่โตขึ้น จะได้ใช้ได้ยาวๆ ค่ะ

 

เช็คลิสต์ให้พร้อม! จัดเตรียมข้าวของรับลูกน้อยแรกเกิด

 

2.4 หมวดอาหารและนม
• เครื่องปั๊มนม แนะนำรุ่นที่มีทั้งโหมดนวดกระตุ้นและโหมดปั๊มนม สามารถใช้แบตเตอรีแบบพกพาได้ มีขนาดกะทัดรัด เสียงไม่ดังรบกวน เพราะการปั๊มนมอาจต้องทำช่วงกลางดึกระหว่างที่ลูกน้อยนอนหลับด้วย
• ถุงซิปล็อคเก็บน้ำนมแม่ เลือกถุงซิปที่มีคุณภาพ ไม่บางเพราะอาจรั่วหรือฉีกขาดได้ง่ายเมื่อแช่ฟรีซ
• ขวดนมพร้อมจุกนม ขวดนมควรเริ่มที่ขนาดเล็ก กรณีคุณแม่วางแผนให้ลูกดูดนมจากขวดร่วมกับดูดเต้า คุณแม่ควรเตรียมขวดนมประมาณ 4 ออนซ์ และเลือกจุกนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะจุกรุ่นเสมือนนมแม่เพื่อให้ลูกน้อยไม่สับสน สามารถสลับดูดเต้าและดูดจุกได้
• อุปกรณ์ล้างขวดนม เช่น หม้อต้ม เครื่องนึ่งขวดนม แปรงล้างขวดนม น้ำยาล้างขวดนม เป็นต้น

 

2.5 ของใช้สำหรับคุณแม่
• เสื้อชั้นใน และชุดแบบที่สามารถเปิดให้นมได้สะดวก
• แผ่นซับน้ำนม สำหรับซับน้ำนมที่อาจไหลออกมาระหว่างวัน
• หมอนรองให้นม
• ผ้าคลุมให้นม
• ครีมทาหัวนม สำหรับป้องกันอาการหัวนมแตก ซึ่งอาจเกิดจากการให้นมลูก
• กางเกงในกระชับหน้าท้อง

 

3. เตรียมห้องสำหรับลูกน้อย

 

ห้องสำหรับให้ลูกน้อยควรเป็นห้องที่มีอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีเสียงดังรบกวนมากนัก คุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องต่อเติมห้องใหม่ เพียงแต่ปรับใช้บางห้อง หรือบางมุมภายในบ้านโดยเริ่มต้นง่ายๆ ดังนี้
• เก็บของที่ไม่จำเป็น จัดการของใช้ภายในห้องเดิมที่ไม่จำเป็นออก หรือจัดเก็บลงกล่องให้เรียบร้อย เพื่อให้ห้องปลอดโปร่ง ไม่เป็นที่อยู่ของยุง แมลง และฝุ่น
• ทำความสะอาดทุกซอกทุกมุม รวมทั้งบานหน้าต่าง มุ้งลวด ผ้าม่าน พรม ซึ่งมักเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น
• มุมพักผ่อน เลือกบริเวณที่เงียบสงบ สำหรับจัดวางที่นอนหรือเตียงของลูกน้อย
• มุมทำความสะอาดและแต่งตัว เลือกบริเวณที่อยู่ไม่ไกลกับที่นอนหรืออาจเป็นที่เดียวกันก็ได้ เพราะในช่วงแรกลูกน้อยจะขับถ่ายทุก 3-4 ชั่วโมง คุณแม่จึงควรจัดวางอุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ เช่น กล่องสำลี ขวดน้ำต้มสุก หวี โลชั่นต่างๆ รวมทั้งเสื้อผ้าของลูกน้อยเอาไว้ใกล้มือเพื่อความสะดวก
• มุมให้นม จัดหาเก้าอี้หรือโซฟาที่นั่งสบาย สำหรับให้คุณแม่นั่งให้นมลูกน้อย และนั่งปั๊มนมได้อย่างผ่อนคลาย

 

เท่านี้คุณแม่ก็มั่นใจได้ว่า ได้จัดเตรียมทุกอย่างครบบริบูรณ์สำหรับเรื่องที่จำเป็น และสิ่งของที่ต้องเตรียมสำหรับลูกน้อยแรกเกิด หากคุณแม่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองเริ่มจากจับมือชวนว่าที่คุณพ่อไปเดินช้อปปิ้งกันเลยค่ะ