10 อาการใกล้คลอด สัญญาณเตือนใกล้คลอด ที่คุณแม่ต้องรู้
สรุป
- คุณแม่มือใหม่ต้องคอยสังเกตอาการและแยกความแตกต่างระหว่าง “อาการก่อนคลอด” และ “อาการใกล้คลอด”
- สัญญาณเตือนใกล้คลอด หากพบอาการใกล้คลอดเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป ควรเตรียมเก็บกระเป๋าไปพบแพทย์ อาทิ มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด, เจ็บท้องคลอดสม่ำเสมอต่อเนื่องรุนแรงและถี่ขึ้น หรือมีอาการถุงน้ำคร่ำแตกที่เรียกว่า น้ำเดิน
- หากพบอาการที่ผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที
อาการก่อนคลอด
เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ หรือประมาณอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 37 จนถึงสัปดาห์ที่ 40 คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติทางร่างกายของตนเอง เนื่องจากในระยะครรภ์ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์พร้อมคลอด และเพื่อเตรียมความพร้อมในการไปคลอดด้วย โดยมีอาการก่อนคลอด ราว 2-4 สัปดาห์ ดังนี้ค่ะ
- เจ็บท้องเตือน เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกมดลูกแข็งเป็นก้อน เหมือนมีอาการคล้ายท้องเกร็ง แต่ยังไม่มีระยะเวลาที่มดลูกบีบตัวเป็นจังหวะแน่นอนหรือสม่ำเสมอ ซึ่งการบีบตัวของมดลูกเกิดได้จากการที่ทารกเคลื่อนตัวลงต่ำและมดลูกขยายอย่างเต็มที่นั้นเอง
- ทารกกลับหัว คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าท้องลดลงหรือยอดมดลูกเคลื่อนต่ำลง และจะรู้สึกหายใจสะดวกขึ้น เนื่องจากทารกเริ่มกลับหัวลงต่ำสู่อุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ในช่วงนี้คุณแม่อาจจะต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะครรภ์ไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ประกอบกับขนาดของท้องที่ใหญ่ขึ้นมาก เลยอาจทำให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่นัก
- มีมูกขาวข้นออกทางช่องคลอด มูกที่ออกจากช่องคลอดจะมีลักษณะสีขาว เหนียวข้น เพราะเมื่อปากมดลูกเริ่มเปิด ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกไหลออกมาจากช่องคลอดได้
10 สัญญาณเตือนอาการคนท้องใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้เบื้องต้น
อาการต่างๆ สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ซึ่งคุณแม่จะเริ่มพบอาการเหล่านี้ได้เมื่อเริ่มตั้งครรภ์เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก อาจมีความกังวลถึงสัญญาณเตือนใกล้คลอด เพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ดังนั้น เรามาสังเกต 10 อาการเตือนคนท้องใกล้คลอดกันค่ะ
- มีมูกขาวจากช่องคลอด
- น้ำเดิน หรือมีน้ำใสๆ ออกจากช่องคลอด
- ท้องแข็งเกร็ง และมดลูกเริ่มบีบตัว
- ท้องเสีย
- ปัสสาวะบ่อย
- มือและเท้าบวม
- ปากมดลูกเปิด
- เจ็บท้องเตือน
- มีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด
- เจ็บท้องคลอด
อาการคนท้องใกล้คลอด
หากคุณแม่ตั้งครรภ์เริ่มรู้สึกมีอาการก่อนคลอดมาพักนึงแล้ว สัญญาณใกล้คลอดที่สำคัญที่คุณแม่ต้องสังเกตและเตรียมพร้อมในการไปโรงพยาบาลโดยทันทีเมื่อเจออาการเหล่านี้
- มูกเลือดออกทางช่องคลอด เมื่อปากมดลูกขยายเปิดมากขึ้น เส้นเลือดที่อยู่บริเวณปากมดลูกอาจแตกได้ จึงทำให้มีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด
- ถุงน้ำคร่ำแตก ลักษณะคล้ายน้ำใสๆ ที่ไหลออกจากช่องคลอด คล้ายปัสสาวะแต่คุณแม่ไม่ได้เบ่งออกมา เนื่องจากมดลูกเริ่มบีบตัวเพื่อดันให้ทารกเข้าสู่อุ้งเชิงกรานเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด หากมีอาการถุงน้ำคร่ำแตก หรือที่เรียกว่าน้ำเดิน อีกไม่นานอาการคลอดจะตามมา ดังนั้นจึงควรไปโรงพยาบาลทันทีที่เจออาการนี้
- เจ็บท้องคลอด ลักษณะคล้ายปวดประจำเดือน หรืออาการที่มดลูกบีบตัวเป็นจังหวะสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง โแล้วจะเริ่มเจ็บท้องถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงแรกที่เริ่มเจ็บท้อง คุณแม่อาจเริ่มจับเวลาระยะห่างในการเจ็บท้องแต่ละครั้ง หากเริ่มถี่ขึ้นทุกๆ 5-10 นาที ควรเริ่มเตรียมตัวเพื่อไปโรงพยาบาล
วิธีสังเกตอาการ “เจ็บท้องเตือน” และ “เจ็บท้องคลอด”
คุณแม่หลายๆ ท่าน อาจมีข้อสงสัยในความแตกต่างระหว่าง การเจ็บท้องเตือน หรือ การเจ็บท้องคลอด ซึ่งมีข้อแตกต่างกันตามนี้ค่ะ
1. เจ็บท้องเตือน
เป็นอาการใกล้คลอดที่อาจพบได้ตั้งแต่ไตรมาสที่สองจนถึงไตรมาสที่สาม และอาการยังไม่สม่ำเสมอต่อเนื่อง
- เจ็บท้องไม่สม่ำเสมอ เป็น ๆ หาย ๆ
- เจ็บห่าง ๆ เช่น ชั่วโมงละครั้ง
- ความรุนแรงในการปวดไม่มาก
- ปวดท้องน้อย
- ปากมดลูกไม่เปิดขยาย
เจ็บท้องคลอด
ส่วนมากจะมีอาการเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงก่อนคลอดไม่เกิน 2-4 สัปดาห์ ลักษณะการเจ็บท้องจะสม่ำเสมอต่อเนื่อง และถี่ขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความเจ็บปวดจะมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
- เจ็บท้องสม่ำเสมอ เช่น ปวดทุก 10 นาที
- เจ็บถี่ขึ้น จากปวดทุก 10 นาที เป็น 5 นาที
- ปวดแรงขึ้นเรื่อย ๆ
- ปวดส่วนบนของมดลูกหรือยอดมดลูกและแผ่นหลัง
- อาการปวดไม่ลดลง ถ้าเคลื่อนไหวก็จะเจ็บมาก
- ปากมดลูกเปิดขยาย
อาการแบบไหนที่คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาล
คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตสิ่งที่เกิดกับร่างกาย รวมไปถึงอาการที่ผิดปกติต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ ยิ่งหากระยะทางจากบ้านไปโรงพยาบาลค่อนข้างไกล หรือสภาพการจราจรติดขัดในช่วงเวลานั้นๆ ดังนั้นหากพบอาการเหล่านี้คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยทันที
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ตัวบวม หรือน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง
- มีไข้หรือหนาวสั่น
- อาการปวดท้องน้อยมากผิดปกติ
- น้ำคร่ำเป็นสีน้ำตาล เขียว เหลือง หรือสีอื่นๆ นอกเหนือจากสีใสหรือสีชมพู
- อาเจียนไม่หยุด
- หมดสติ
ป้องกันน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนปวดท้องคลอดได้อย่างไร
อาการน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตก หากพบในช่วงเวลาเจ็บท้องคลอดถือเป็นเรื่องปกติเพราะมดลูกบีบตัวเพื่อดันทารกในครรภ์ให้เข้าสู่อุ้งเชิงกราน แต่หากพบอาการนี้ในช่วงเวลาก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด (Premature rupture of membranes: PROM) ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เนื่องจากสามารถติดเชื้อจากการอักเสบในโพรงมดลูกได้ โดยปกติหากพบภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด คุณหมอจะให้คนไข้เข้ารับการรักษาโดยนอนโรงพยาบาลจนถึงเวลาคลอด โดยมีแนวทางการรักษาขึ้นกับอาการและปัจจัยต่างๆ อาทิ อายุครรภ์ การติดเชื้อ ลักษณะการเต้นของหัวใจทารก รวมไปถึงการเปิดของปากมดลูก เป็นต้น
การหมั่นสังเกตลักษณะและอาการใกล้คลอดต่างๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการไปพบแพทย์ตามนัด
ในระหว่างฝากครรภ์ เพื่อที่จะได้ปรึกษาแพทย์ได้ทันท่วงที และคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องใส่ใจความสะอาด อาหารการกิน อาการผิดปกติของร่างกาย และเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจสำหรับวันสำคัญในการคลอดลูกน้อย
อ้างอิง:
- สัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด เตรียมพร้อมได้ทันเวลา, โรงพยาบาลนครธน
- ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด อีกหนึ่งภาวะครรภ์เสี่ยงที่คุณควรรู้, โรงพยาบาลสมิติเวช
- สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ที่คุณแม่ต้องระวัง
- การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
- เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการ คลอดก่อนกำหนด
- ว่าที่คุณแม่มือใหม่พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลนครธน
- 6สัญญาณเตือนการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้ (bangpakok3.com), โรงพยาบาลบางปะกอก
- 4 สัญญาณคุณแม่ใกล้คลอดเต็มที, โรงพยาบาลกรุงเทพ