แม่ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 33 สัปดาห์
ตอนนี้คุณแม่ท้อง 8 เดือนแล้ว ในอีก 6 สัปดาห์ คุณแม่ก็จะได้เจอกับเจ้าตัวน้อยในท้องสักที ในขณะเดียวกันสัญญาณใกล้คลอดก็เริ่มเกิดขึ้นเป็นระยะ น่าตื่นเต้นใช่ไหมล่ะ อดใจรอให้ถึงวันคลอดไม่ไหวแล้ว
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 33 สัปดาห์
ไตรมาสที่ 3 คุณแม่ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์แล้ว พัฒนาการทารกในครรภ์ยังเกินขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน 95% ของทารกในครรภ์จะกลับหัว หมุนตัวหันศีรษะมาทางช่องคลอดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดแบบธรรมชาติ ในขณะเดียวกันลูกน้อยจะกลืนน้ำคร่ำมากขึ้น ทำให้ลำไส้ของลูกเต็มไปด้วย “ขี้เทา” หรืออุจจาระแรกโดยปกติขี้เทาจะมีสีเขียวเข้มออกดำ ประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนัง ขน เยื่อบุทางเดินอาหาร และสารที่สร้างจากทางเดินอาหารของลูกน้อยเอง การกลืนน้ำคร่ำและการสร้างขี้เทานี้จะทำให้ลำไส้ของลูกเริ่มมีการเคลื่อนไหว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการย่อยน้ำนมแม่ในช่วงหลังคลอด
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์
คุณแม่หลายคนอาจเริ่มสังเกตเห็นเส้นสีดำบนท้อง ซึ่งทำให้ท้องของคุณแม่เหมือนถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน เส้นลายสีดำ (Linea Nigra) นี้เป็นอีกสัญญาณใกล้คลอดที่เกิดจากฮอร์โมนไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีมากขึ้น โดยคุณแม่จะสามารถมองเห็นเส้นสีดำบนท้องได้ชัดเจนที่สุดหลังคลอด ก่อนจะค่อยๆ จางหายไปในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา นอกจากนี้คุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บตรงสะดือและคันรอบสะดือ เพราะสะดือจะถูกดันออกมาด้านนอกตามมดลูกที่ขยายตัว แต่ไม่ต้องกังวลไป หลังคลอดเจ้าตัวเล็กอาการต่างๆ ก็จะหายไปและสะดือของคุณแม่ก็จะกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมตามปกติ
โภชนาการที่คุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ควรได้รับ
เมื่อใกล้คลอดคุณแม่จำเป็นต้องกินมากขึ้นเพื่อให้ลูกในท้องได้รับสารอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตซึ่งอาจทำให้น้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้นมาสักหน่อย แม้จะทำให้รู้สึกกังวลแต่ความจริงแล้วตลอดการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้าย คุณแม่และลูกน้อยจำเป็นต้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอเป็นเรื่องปกติ โดยจำนวนน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักก่อนเริ่มตั้งครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งหลังคลอดเมื่อคุณแม่ให้นมลูกน้ำหนักก็จะค่อยๆ ลดลงเองจึงไม่ควรอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ แต่ถ้าน้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้นมากเกินไป แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจความดันโลหิตดูว่าสูงเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์
เมื่อท้อง 8 เดือน คุณแม่บางคนอาจเริ่มรู้สึกถึงอาการบีดรัดตอนท้องซึ่งเกิดครั้งละประมาณ 30 วินาที โดยอาการนี้เรียกว่า “การเจ็บครรภ์หลอก (Braxton hicks)” ซึ่งเป็นวิธีอันชาญฉลาดของร่างกายในออกกำลังกายมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดจริงๆ ดังนั้นเมื่อคุณแม่เริ่มมีอาการเจ็บครรภ์หลอก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อจะได้เตรียมพร้อมสำหรับกำหนดคลอดที่กำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้
อ้างอิง:
1. Mennella JA, Jagnow CP, Beauchamp GK: Prenatal and Postnatal Flavor Learning by Human Infants. Pediatrics 2001, 107: -e88.
2. Seron-Ferre M, Torres-Farfan C, Forcelledo ML, Valenzuela GJ: The development of circadian rhythms in the fetus and neonate. Seminars in Perinatology 2001, 25: 363-370.
3. Swaiman KF: Pediatric neurology: principles & practice, 5th edn. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2012.
4. Weaver LT, Austin S, Cole TJ: Small intestinal length: a factor essential for gut adaptation. Gut 1991, 32: 1321-1323.
5. MedlinePlus [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated 2016 Oct 05]. Fetal development; [reviewed 2015 Sept 26; cited 2016 Oct 27]; [about 2 p.]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm