อายุครรภ์ 9 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์
คุณแม่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อ 37-41 สัปดาห์ก่อน ตอนนี้จึงนับเป็นสัปดาห์ที่ 35-39 ของการตั้งครรภ์ ช่วงเวลาแห่งการนับถอยหลังเพื่อเจอหน้าลูกน้อยครั้งแรกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงกำหนดวันคลอดที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็มีโอกาสทุกเมื่อในเดือนสุดท้ายนี้ที่ลูกน้อยจะเกิดมาลืมตาดูโลก คุณแม่จึงต้องพยายามจำกัดการเดินทางให้น้อยลงและจัดกระเป๋าเพื่อเตรียมพร้อมเผื่อต้องไปโรงพยาบาลทุกเวลา
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 9 เดือน
ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ที่สามารถอุ้มท้องมาถึงเดือนที่ 9 อย่างปลอดภัย แถมยังมีพัฒนาการการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ เหลือเวลาเพียงไม่นาน วันสำคัญที่ครอบครัวเฝ้ารอก็จะมาถึง เจ้าตัวน้อยยังคงขยับตัวไปมาแม้ขนาดท้องจะคับแคบมากแล้วก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 นี้ ลูกน้อยของคุณแม่ดูจ้ำม่ำ น่ารัก และพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว พัฒนาการทารกช่วงนี้คือ ขนอ่อน (Lanugo) และไขทารก ที่เคยปกคลุมตัวของลูกน้อยทำปกป้องผิวจะค่อยๆ หลุดออกจนหมด ระบบหัวใจและปอดพร้อมเริ่มต้นทำงานทันทีเมื่อลูกน้อยได้ออกมาเจอกับอากาศภายนอก โดยสามารถหายใจได้เองอัตโนมัติเป็นครั้งแรกแบบไม่ต้องพึ่งรกอีกต่อไป ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอด น้ำคร่ำจะถูกขับออกจากระบบทางเดินหายใจ แล้วถุงลมและหลอดลมของลูกจะกางออกเพื่อเตรียมพร้อมที่จะหายใจเอง
โภชนาการที่คุณแม่อายุครรภ์ 9 เดือนควรได้รับ
ใกล้กำหนดวันคลอดเข้ามาทุกที จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ระดับความเครียดของคุณแม่ท้องแก่จะมากขึ้นกว่าปกติ เรามีคำแนะนำเพื่อให้คุณแม่มีจิตใจที่ผ่อนคลายและใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข เรื่องการกินก็ควรเลือกอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อโภชนาการคุณแม่ ดังนี้
• แมกนีเซียม เพื่อช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ พบมากในถั่ว, ผักใบเขียว, ข้าวที่ไม่ได้ขัดสี, ผลไม้แห้ง หรือดาร์คช็อคโกแลต
• วิตามินบี 6 เพื่อช่วยในการทำงานระบบประสาท ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์, ตับ, ไข่, ถั่วต่างๆ, ผักใบเขียว และธัญพืชไม่ขัดสี
• โอเมก้า 3 ที่เป็นกรดไขมันจำเป็น พบมากในปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน, ปลาทูน่า, ปลาทู, ซาร์ดีน ฯลฯ สาหร่ายทะเล และอาหารทะเลต่างๆ รวมถึงน้ำมันเรพซีด น้ำมันคาโนล่า, เมล็ดลินินหรือเมล็ดแฟลกซ์
คุณแม่ควรรับประทานอาหารอย่างมีความสุข เพราะระหว่างมื้ออาหาร สมองจะหลั่งเอ็นโดฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้มีสุขภาวะทางจิตใจที่ดี ช่วยลดภาวะเครียดตอนตั้งครรภ์ ส่งผลให้อารมณ์เบิกบาน และรู้สึกผ่อนคลายสบายใจมากขึ้น
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 9 เดือน
ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องปกติที่น้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อเดือน แต่หากคุณแม่ท้องนํ้าหนักขึ้นเร็ว เฉลี่ยมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ คุณแม่ต้องรีบแจ้งให้คุณหมอทราบเพื่อตรวจสอบร่างกายก่อนคลอด เพราะมีความเป็นไปได้ว่าคุณแม่อาจจะมีปัญหาความดันโลหิตสูง คุณแม่น่าจะตื่นเต้นกับการรอลุ้นวันที่ลูกน้อยจะได้ออกมาลืมตาดูโลก ที่จริงแล้ววันครบกำหนดคลอดของคุณแม่เป็นการประมาณการณ์ช่วงเวลาที่คุณหมอคาดคะเนวันที่เหมาะสมมาให้ แต่วันที่คลอดจริงอาจจะเหลื่อมก่อนหรือหลัง 2 สัปดาห์ จากวันที่คำนวนไว้ ถ้าหากเกินจากการคาดการณ์มากกว่า 2 สัปดาห์ คุณหมอจะทำการตรวจสอบสุขภาพของลูกน้อยและตัดสินใจเวลาทำคลอดที่เหมาะสม ขอให้คุณแม่ทำใจให้สบายๆ รักษาจิตใจให้ผ่อนคลายและมองโลกในแง่ดีในช่วงท้ายก่อนคลอดนี้ เพราะหากคุณแม่แข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ รับรองว่าลูกน้อยจะคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์แน่นอน
อ้างอิง:
1. Mennella JA, Jagnow CP, Beauchamp GK: Prenatal and Postnatal Flavor Learning by Human Infants. Pediatrics 2001, 107: -e88.
2. Seron-Ferre M, Torres-Farfan C, Forcelledo ML, Valenzuela GJ: The development of circadian rhythms in the fetus and neonate. Seminars in Perinatology 2001, 25: 363-370.
3. Swaiman KF: Pediatric neurology: principles & practice, 5th edn. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2012.
4. Weaver LT, Austin S, Cole TJ: Small intestinal length: a factor essential for gut adaptation. Gut 1991, 32: 1321-1323.
5. MedlinePlus [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated 2016 Oct 05]. Fetal development; [reviewed 2015 Sept 26; cited 2016 Oct 27]; [about 2 p.]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm