แม่ตั้งครรภ์ 8 เดือน เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 8 เดือน
สรุป
- ช่วงเดือนที่ 8 นี้ลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มกลับหัว คุณแม่เองก็รู้สึกได้การบีบตัวของมดลูก ที่เรียกว่า การเจ็บเตือน และสังเกตได้ว่า ท้องจะมีลักษณะคล้อยลง หรือลดต่ำลง
- คุณแม่อาจรู้สึกว่ามีอาการท้องแข็ง รู้สึกตึงหน้าท้องหรือท้องน้อย โดยอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ ภาวะเช่นนี้ไม่เป็นอันตราย คุณแม่อาจนั่งหรือนอนพักนิ่ง ๆ สักระยะ เพื่อบรรเทาอาการ
- ทารกในครรภ์กำลังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร และ มีน้ำหนักตัวประมาณ 1,900กรัม อาจเทียบได้ว่าทารกมีขนาดตัวเท่ากับผลสัปปะรด
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 8 เดือน เป็นอย่างไร
การตั้งครรภ์เดือนที่ 8 ร่างกายคุณแม่เริ่มปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมสู่การคลอดทารกน้อยในครรภ์ อาจมีอาการดังต่อไปนี้
1. เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก
ช่วงเดือนที่ใกล้คลอดนี้ คุณแม่จะมีอาการเจ็บท้องถี่ขึ้น จากการที่มดลูกขยายตัวเต็มที่และเคลื่อนต่ำลง รวมถึงการบีบหดตัวของมดลูก ทำให้ท้องแข็งเกร็ง แต่ยังไม่บีบตัวเป็นจังหวะที่แน่นอน ความเจ็บปวดจะคล้ายกับปวดท้องประจำเดือน เมื่อเดินหรือเปลี่ยนท่าจะหายปวด อาการเหล่านี้คือ การเจ็บเตือน แตกต่างจากกการเจ็บท้องจริงที่จะมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อเกร็งเป็นจังหวะทุก 5-10 นาที และเจ็บถี่ขึ้น และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ
2. หัวนมและปานนมมีสีเข้มขึ้น
นอกจากเต้านมของคุณแม่ที่ขยายใหญ่ขึ้นมากที่สุด โดยหัวนมและปานนมอาจมีขนาดใหญ่และมีสีที่เข้มขึ้นด้วย เพื่อเตรียมพร้อมสู่การให้นมลูกน้อยเมื่อคลอดแล้ว
3. หายใจไม่อิ่ม
ช่วงตั้งครรภ์ใกล้โค้งสุดท้าย ลูกน้อยในครรภ์ขยายตัวเต็มพื้นที่ภายในท้อง มดลูกขยายใหญ่ขึ้นตามขนาดของทารก คุณแม่อาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว อึดอัด เพราะยอดมดลูกเริ่มดันยอดอกและชายโครง รวมถึงกระบังลมและปอดถูกกดจนทำให้รู้สึกหายใจได้ไม่เต็มที่ คุณแม่อาจใช้หมอนหนุนสูงขณะที่นั่งและนอน จะช่วยให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
4. แสบร้อนกลางอก
อาการแสบร้อนกลางอกจากโรคกรดไหลย้อน อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนต่าง ๆ และขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนเบียดกระเพาะอาหาร แม้ในช่วงนี้คุณแม่ต้องการอาหารประเภทโปรตีนเพื่อบำรุงร่างกายมากขึ้น คุณแม่ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนนอน เพราะน้ำย่อยในกระเพาะยังทำงานอยู่ และไม่ควรนอนหรือนั่งทันทีหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการ เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และคาเฟอีน
5. มีน้ำนมไหลซึม
ร่างกายของคุณแม่เริ่มปรับตัวเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดและให้นมลูกน้อย โดยร่างกายจะเริ่มผลิตหัวน้ำนม หรือน้ำนมสีเหลืองข้น ไหลออกมาในปริมาณเล็กน้อยระหว่างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยเป็นเหมือนสัญญาเตือนว่าร่างกายกำลังเตรียมนมสำหรับให้ลูกน้อยได้ดูดกินหลังคลอด
6. ตกขาว
คุณแม่ตั้งครรภ์มักมีปริมาณตกขาวมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทำให้มีการสร้างมูกบริเวณปากมดลูกมากขึ้น และออกมาเป็นตกขาวในลักษณะที่เป็นมูกใส หรือ สีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการแสบ คันช่องคลอด อย่างไรก็ดี คุณแม่ควรสังเกตให้ดี หากมีมูกสีขาวมีลักษณะเหนียวข้นหลุดออกมา หรือหากเป็นน้ำใส ๆ ไหลออกมาเป็นปริมาณมาก อาจเป็นสัญญาณก่อนคลอดได้
อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือน คุณแม่ควรรับมืออย่างไร
ช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ มดลูกจะเริ่มขยายตัวขึ้นตามขนาดตัวของทารกในครรภ์ ซึ่งปกติท้องจะมีลักษณะเป็นก้อนมีความนุ่มหยุ่น แต่ช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกว่ามีอาการท้องแข็ง โดยมีอาการเจ็บ หรือรู้สึกตึงหน้าท้องหรือท้องน้อย โดยอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ เนื่องจากการบีบรัดของมดลูก หรือทารกในครรภ์ดิ้นแรงหรือโก่งตัวชนกับผนังมดลูกจนมดลูกเกิดการบีบรัด จนเห็นอวัยวะต่าง ๆ ของทารกนูนให้เห็นที่หน้าท้องคุณแม่ได้ ภาวะเช่นนี้ไม่เป็นอันตราย คุณแม่อาจนั่งหรือนอนพักนิ่ง ๆ สักระยะ เพื่อบรรเทาอาการ
การดูแลตัวเองในช่วงนี้เพื่อป้องกันอาการท้องแข็งคือ ไม่กลั้นปัสสาวะ ไม่บิดตัวเอี้ยวตัวแบบบิดขี้เกียจ เพราะทำให้ความดันในมดลูกสูงขึ้นได้ และไม่ควรกินอิ่มเกินไป เพราะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ
ข้อสังเกตที่ไม่ควรละเลยคือ หากคุณแม่รู้สึกว่ามีอาการท้องแข็งนานเป็น 10 นาทีจึงคลายลง ติดต่อกัน 4-5 ครั้ง และเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้สึกแน่น หายใจไม่ออก ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสาเหตุให้คลอดก่อนกำหนดได้ รวมถึงหากมีอาการอื่น ๆ ที่ดูผิดปกติ เช่น น้ำเดิน ทารกดิ้นน้อยลง แม้ไม่มีอาการท้องแข็งร่วมด้วย ก็ควรไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน
เข้าใจลักษณะหน้าท้องของคนท้อง 8 เดือน
ในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือน ท้องคุณแม่จะมีขนาดใหญ่มาก โดยอาจมีขนาดท้องอยู่ที่ 30-34 เซนติเมตร แต่จะสังเกตได้ว่า ท้องจะมีลักษณะคล้อยลง หรือลดต่ำลง เนื่องจากทารกในครรภ์เคลื่อนตัวลงมาอยู่ใกล้อุ้งเชิงกรานมากขึ้น พร้อมกับมีการกลับหัวลงเพื่อเตรียมเข้าสู่การคลอดในเดือนถัดไป
ท้อง 8 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัม
อายุครรภ์ 8 เดือน เท่ากับอยู่ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ช่วงเดือนนี้น้ำหนักคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นได้อีก 2-2.5 กิโลกรัม เพราะลูกน้อยในท้องเริ่มมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น ตัวเริ่มใหญ่จนคับในครรภ์แม่ โดยรวมแล้วคุณแม่จะมีน้ำหนักขึ้นจากเดือนแรกประมาณ 11-12 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ด้วย
สำหรับค่าเฉลี่ยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ในแต่ละไตรมาส สรุปได้ดังนี้
- ไตรมาส 1 โดยมากแล้วน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นน้อยมาก หรืออาจมีน้ำหนักลง เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายมีการปรับตัว รวมถึงมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย ช่วงนี้คุณแม่ที่มีน้ำหนักปกติ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 กิโลกรัม
- ไตรมาส 2 เมื่อเข้าสู่ไตรมาสนี้ คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องลดน้อยลง เริ่มรับประทานอาหารได้เป็นปกติ น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม ซึ่งรวมแล้วในไตรมาสที่ 2 จะมีน้ำหนักเพิ่มอีก 4-5 กิโลกรัม
- ไตรมาส 3 เข้าสู่ไตรมาสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระอย่างชัดเจน เพราะทารกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น น้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มประมาณ 2-2.5 กิโลกรัม ซึ่งรวมแล้วในไตรมาสที่ 3 จะมีน้ำหนักเพิ่มอีก 5-6 กิโลกรัม
อัลตราซาวด์ท้อง 8 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้าง
การอัลตราซาวด์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย แพทย์จะตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ โดยตรวจการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อ อัตราการเต้นของหัวใจ และพัฒนาการอื่น ๆ
ขนาดและน้ำหนักทารกในครรภ์ 8 เดือน
ในช่วงเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์นี้ ลูกน้อยของคุณแม่กำลังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 200 กรัมต่อสัปดาห์ (ในช่วงสองเดือนสุดท้ายเจ้าตัวเล็กจะหนักขึ้นเป็น 2 เท่า) และขนาดตัวจะขยายใหญ่ขึ้นอีกประมาณ 10 เซนติเมตร โดยรวมแล้ว เดือนที่ 8 นี้ทารกในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 44 เซนติเมตร และ มีน้ำหนักตัวประมาณ 1,950 กรัม อาจเทียบได้ว่าทารกมีขนาดตัวเท่ากับผลสัปปะรด
1. รูปทารกในครรภ์ 8 เดือน
ทารกจะมีขนาดและสัดส่วนใกล้เคียงผลสับปะรด และเคลื่อนเข้าสู่อุ้งเชิงกราน โดยกลับตัวหันศีรษะมาทางปากมดลูก
2. ท้อง 8 เดือน หัวลูกอยู่ตรงไหน
ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ 8 เดือน ทารกในครรภ์จะกลับหัวลงหมุนตัวมาอยู่ในตำแหน่งเพื่อเตรียมคลอดออกมาจากท้องแล้ว ร่างกายขดตัวกลมและหันหลังไปทางด้านซ้ายของคุณแม่ โดยประมาณ 95% ของคุณแม่ที่ท้อง 8 เดือน เมื่อมาอัลตราซาวด์ครั้งสุดท้ายจะช่วยบ่งบอกตำแหน่งการหันหัวออกที่เหมาะสมของลูกน้อยได้ โดยลูกน้อยค่อย ๆ เริ่มเคลื่อนลงมาที่กระดูกเชิงกรานของคุณแม่ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การคลอดออกมาดูโลกภายนอกในไม่ช้า
พัฒนาการทารกในครรภ์ 8 เดือน ที่คุณแม่ควรรู้
ในช่วงเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ ลูกน้อยกำลังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับพัฒนาการทารกด้านร่างกายอย่างสุดท้ายก่อนจะออกจากท้องแม่นั้น อวัยวะต่าง ๆ มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างกระดูกเริ่มขึ้นมาเป็นรูปร่าง มีเส้นผมหรือเส้นขนขึ้นมาปกคลุม ผิวหนังเริ่มเป็นสีชมพู และเริ่มมีเล็บงอกขึ้นมาด้วย ส่วนอวัยวะที่มีหน้าที่กำจัดของเสียก็ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องโดยไตจะเริ่มสร้างปัสสาวะได้ และลำไส้จะค่อย ๆ ถูกเติมด้วยสารสีดำที่มีความหนืดหรือที่เรียกกันว่า “ขี้เทา” นั่นคืออุจจาระแรกของลูกน้อยภายหลังการคลอดนั่นเอง
อายุครรภ์ 8 เดือน สมองของลูกในครรภ์ มีพัฒนาการอย่างไร
สมองทารกในครรภ์ 8 เดือนยังคงมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง โดยระบบประสาททำงานได้เต็มที่ ทารกจะเรียนรู้ทักษะในการดำรงชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูดและกลืนอาหาร ตุ่มการรับรสเริ่มทำงาน ดวงตาของทารกจะเริ่มมีการเปิดและปิดเพื่อรับแสงตามวงจรการหลับและตื่น นอกจากนี้ยังได้ยินเสียง และมีความรู้สึกเจ็บปวด
อาหารที่คุณแม่ท้อง 8 เดือน ควรรับประทาน
เมื่อก้าวเข้าสู่การตั้งครรภ์ 8 เดือน ซึ่งอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ อวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์เริ่มเจริญเติบโต ดวงตาเริ่มเปิด เล็บและผมงอก การดูแลให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารต่าง ๆ ตามความต้องการเพื่อการเจริญเติบโตนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าที่ คุณแม่ควรเพิ่มความใส่ใจในเรื่องโภชนาการอาหารคนท้อง โดยนอกเหนือจากการรับประทานครบ 5 หมู่ อาจเน้นอาหารดังต่อไปนี้
- ผักและผลไม้สดที่มีวิตามินซี ซึ่งช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพเหงือกและฟันที่ดี และยังช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กซึ่งสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด เช่น ส้ม เกรปฟรุต กีวี สตรอร์เบอร์รี่ มะเขือเทศ
- อาหารที่มีวิตามินเอ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและการมองเห็น เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม แครอท แคนตาลูป
- อาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี ช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับแคลเซียม พร้อมเสริมความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน เช่น ปลาแซลมอน ไข่แดง ซีส
- อาหารที่มีแคลเซียมสูง เพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและฟัน เช่น นม บรอกโคลี ผักคะน้า ปลากะตักหรือปลาซาร์ดีนกระป๋องที่มีกินก้างปลาได้
- อาหารที่มีวิตามิน B6 ที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและพัฒนาสมองของลูกน้อย เช่น กล้วย เนื้อสัตว์ ปลา เครื่องในสัตว์
- อาหารที่อุดมด้วยวิตามิน B12 บำรุงระบบประสาทให้แข็งแรง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ตับวัว ปลา เนื้อสัตว์ นม ไข่
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ปริมาณน้ำที่ควรดื่มคือ 5-2 ลิตรต่อวัน
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 8 เดือน
ช่วงใกล้คลอดนี้ คุณแม่อาจมีความสงสัยในเรื่องการดูแลครรภ์ สามารถดูสรุปข้อมูลได้ดังนี้
ข้อห้ามคนท้อง 8 เดือน มีอะไรบ้าง
- ห้ามละเลยสัญญาณอันตรายช่วงใกล้คลอด เช่น อาการปวดบีบที่ท้องอย่างรุนแรงและไม่บรรเทาลง ต้องไปพบแพทย์โดยเร่งด่วนที่สุด
- ห้ามสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง และมีโอกาสแท้งได้
- พยามเลี่ยงความครียด เพราะอาจมีภาวะเสี่ยงต่อการแท้งได้ รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด ที่ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคสมาธิสั้น หรือโรคในกลุ่มออทิสติก
- ห้ามออกกำลังกายรุนแรง และไม่ควรออกกำลังกายต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที
- ห้ามหายาต่าง ๆ มารับประทานเอง แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านทั่วไป เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
อาหารและกิจกรรมที่คุณตั้งครรภ์ 8 เดือน ควรหลีกเลี่ยง
- อย่าเผลอตามใจปาก ควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานขนมจุกจิก
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ควรกินขณะตั้งครรภ์ ที่มีโซเดียมสูง เพราะกระตุ้นให้เกิดอาการบวมตามข้อเท้าได้
- งดอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ที่จะกระตุ้นอาการกรดไหลย้อนและแสบร้อนกลางอกได้
ช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 8 นับเป็นไตรมาสสุดท้ายที่ใกล้คลอดเข้าไปทุกที แนะนำให้คุณแม่เตรียมจัดของใช้ที่จำเป็นสำหรับลูกน้อยที่จะคลอดในเดือนหน้าไว้ให้พร้อม รวมถึงการหาข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวคลอด การเตรียมวันลาคลอด และการจัดกระเป๋าสำหรับการไปคลอด และเมื่อถึงวันที่จะได้เห็นหน้าลูกน้อย คุณแม่จะมีความพร้อมและสบายใจที่สุด
อ้างอิง:
- พัฒนาการของทารก สุขภาพของคุณ และเรื่องน่ารู้ในช่วงท้อง 8 เดือน, Pobpad
- 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
- ไม่ดีแน่… ถ้าปล่อยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องสู้กับ “กรดไหลย้อน”, โรงพยาบาลเปาโล
- ตกขาวคราวตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงอันตรายแค่ไหน, โรงพยาบาลพญาไท
- การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
- 10 ข้อห้ามที่ “คนท้อง” ต้องรู้, โรงพยาบาลสมิติเวช
- คุณแม่ตั้งครรภ์ คุมน้ำหนักอย่างไรให้พอดี, โรงพยาบาลบางปะกอก
- วิธีดูแลแม่ตั้งครรภ์ 8 เดือน เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 8 เดือน
- How big is my baby? Week-by-week fruit and veggie comparisons, Medically reviewed by Judith Venuti, Ph.D., embryologist
- Foods to Eat During Your Third Trimester, Medically Reviewed by Traci C. Johnson, MD on November 12, 2022 Written by Alexandra McCray
- Breasts leaking colostrum during pregnancy, Medically reviewed by Sally Urang, MS, RN, CNM, midwife
- 33 weeks pregnant: Medically reviewed by Layan Alrahmani, M.D., ob-gyn, MFM อ้างอิง ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2566