แม่ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 36 สัปดาห์
ตั้งแต่สัปดาห์นี้ไปจนถึงวันคลอด พัฒนาการเด็กในครรภ์จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยตอนนี้ลูกน้อยมีน้ำหนักประมาณ 2.9 กิโลกรัมและมีความยาวถึง 45 เซนติเมตรแล้ว จึงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกหนักและขยับตัวลำบากกว่าเดิมสักหน่อย พยายามเข้านะอีกไม่นานจะได้เจอเจ้าตัวเล็กแล้ว
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 36 สัปดาห์
ไตรมาสที่ 3 คุณแม่ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์แล้ว พัฒนาการทารกในสัปดาห์นี้ลูกยังคงเพิ่มน้ำหนักและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการมีชีวิตในโลกภายนอกที่ไม่มีแม่คอยโอบอุ้ม ทั้งระบบทางเดินอาหารซึ่งตอนอยู่ในท้องลูกน้อยจะได้รับอาหารผ่านสายสะดือ ก่อนจะเปลี่ยนมากินอาหารด้วยตัวเองหลังคลอด โดยอาหารชนิดแรกที่ลูกจะได้กินก็คือน้ำนมแม่ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและการเติบโตต่อจากนี้ของลูกอย่างมาก โดยเฉพาะ “น้ำนมเหลือง” หรือน้ำนมที่ไหลในช่วงแรก เช่นเดียวกับระบบทางเดินหายใจ จากเดิมลูกจะมีรกคอยทำหน้าที่เหมือนปอด แต่เมื่อถึงเวลาผนังช่องคลอดของแม่จะรีดน้ำคร่ำในทางเดินหายใจให้ไหลย้อนออกทางปากและจมูกของลูกน้อยจนหมด เพื่อให้ลูกได้หายใจด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์
เมื่อท้องใหญ่ขึ้นอาจทำให้คุณแม่ก้มใส่รองเท้ายากขึ้นสักหน่อยจึงควรเลือกรองเท้าที่ใส่และถอดง่าย ในขณะเดียวกันท้องโตๆ ก็อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เหนื่อยง่ายกว่าปกติ แม้จะเป็นแค่การทำงานบ้านเบาๆ หากคุณแม่รู้สึกเหนื่อยควรขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่และสามีเพื่อให้ช่วยทำงานบ้าน รวมถึงการช้อปปิ้งและการทำอาหาร ช่วงใกล้คลอดแบบนี้ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยงไปก่อน
สาระน่ารู้! โภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 36 สัปดาห์
คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนมากมักมีความอยากอาหารมากกว่าปกติ แต่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่คุณแม่จะเหนื่อยกับการกินหรือรู้สึกไม่อยากอาหารขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้นโภชนาการคุณแม่ก็ควรเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยอาจจะปรับมาทานอาหารมื้อเล็กๆ หรืออาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพตลอดทั้งวันเพื่อให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอกับพัฒนาการการตั้งครรภ์ในช่วงสุดท้าย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์น้อยจำเป็นต้องกินเพื่อเพิ่มน้ำหนักมากกว่าคนอื่น และดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 8 แก้วต่อวัน พร้อมกับทานวิตามินเสริมช่วงตั้งครรภ์ตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง โดยคุณแม่อย่าลืมว่าไม่ควรซื้ออาหารเสริม หรือเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์
แม้บางครอบครัวจะมีความเชื่อว่าไม่ควรตั้งชื่อลูกก่อนที่จะคลอด แต่คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็เริ่มตั้งชื่อลูกกันแล้วซึ่งสามารถมองหาแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อได้จากทุกๆ ที่ ทั้งจากหนังสือตั้งชื่อ การตั้งชื่อตามคนในครอบครัว หรือตั้งชื่อตามตัวละครจากภาพยนตร์ที่ชอบ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะลองเขียนรายชื่อที่ชอบมา หากมีชื่อที่ทั้งสองคนชอบตรงกันก็จะช่วยให้เลือกง่ายขึ้น
อ้างอิง:
1. Mennella JA, Jagnow CP, Beauchamp GK: Prenatal and Postnatal Flavor Learning by Human Infants. Pediatrics 2001, 107: -e88.
2. Seron-Ferre M, Torres-Farfan C, Forcelledo ML, Valenzuela GJ: The development of circadian rhythms in the fetus and neonate. Seminars in Perinatology 2001, 25: 363-370.
3. Swaiman KF: Pediatric neurology: principles & practice, 5th edn. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2012.
4. Weaver LT, Austin S, Cole TJ: Small intestinal length: a factor essential for gut adaptation. Gut 1991, 32: 1321-1323.
5. MedlinePlus [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated 2016 Oct 05]. Fetal development; [reviewed 2015 Sept 26; cited 2016 Oct 27]; [about 2 p.]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm