แม่ตั้งครรภ์ 1 เดือน เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 1 เดือน
สรุป
- คุณแม่ตั้งครรภ์ 1 เดือน มักจะมีอาการแพ้ท้อง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน จนรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ กินให้บ่อย ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เลือกโปรตีนที่หลากหลาย เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ หลากสีเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้มีอาการแพ้ท้อง
- อาการปวดหน่วง มีเลือดออก และตกขาว ระหว่างตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่หากอาการรุนแรง ปวดถี่ และมีเลือดออกมาก ควรรีบพบแพทย์
คุณแม่ตั้งครรภ์ 1 เดือน อาการคนท้อง 1 เดือนเป็นอย่างไรบ้าง
ภายในร่างกายของคุณแม่ เริ่มมีเจ้าตัวน้อยค่อย ๆ เติบโตขึ้น ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้มากมาย ความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่คุณแม่ต้องคอยดูแลตัวเอง และสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ สำหรับอาการคนท้อง 1 เดือน โดยทั่วไปจะพบอาการเหล่านี้
1. มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงจากเดิม อาจมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการสำคัญที่อาจรู้สึกได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ ร่างกายของคุณแม่จะเหนื่อยล้า จากหลอดเลือดที่เริ่มมีการหย่อนตัว ทำให้ระดับความดันโลหิตต่ำลงเป็นระยะ และมดลูกก็ต้องการเลือดในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลง
2. เจ็บหน้าอก คัดตึงเต้านม
เมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีเลือดไปเลี้ยงที่หน้าอกเพิ่มขึ้น ทำให้หน้าอกบวม เต้านมใหญ่ขึ้น อาจเกิดการคัดตึงเต้านมได้ คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บหัวนมและไวต่อการสัมผัส อาการนี้จะคล้ายกับช่วงมีรอบเดือน
3. ปัสสาวะบ่อยขึ้น
เนื่องจากมดลูกที่โตขึ้นจนไปกดกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น เลือดมาเลี้ยงที่บริเวณเชิงกรานเพื่อไปหล่อเลี้ยงตัวอ่อนในครรภ์ ระบบปัสสาวะจึงได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยขึ้น ทั้งกลางวันและกลางคืน
4. อาการแพ้ท้อง
ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาจกินอาหารไม่ค่อยได้ จึงต้องระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ และพยายามกินอาหารให้ได้ โดยแบ่งมื้ออาหาร กินบ่อย ๆ ในปริมาณที่น้อย อาจเลือกผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอาจช่วยลดอาการขมปากจากการอาเจียนได้
การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 เดือน
ร่างกายของแม่ในช่วงตั้งครรภ์ 1 เดือน จะยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงมากนัก อาจจะรู้สึกว่าหน้าอกใหญ่ขึ้นบ้าง มีเลือดไปเลี้ยงที่บริเวณหน้าอกมากขึ้น ลักษณะของท้องจะยังไม่ค่อยเปลี่ยนไป อาจจะมีตกขาวที่เกิดจากฮอร์โมนนที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกระปริบกระปอย การเปลี่ยนแปลงของร่างกายอาจทำให้คุณแม่มีอาการเหล่านี้
- มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- รู้สึกไวต่อกลิ่น
- เจ็บหน้าอก
- อาจมีความอยากอาหารที่แปลกไปจากเดิม
- มีอาการแพ้ท้อง เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย
- หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
ท้อง 1 เดือนตรวจเจอไหม
ท้อง 1 เดือน ก็สามารถตรวจเจอได้ ปัจจุบันมีการตรวจได้หลายวิธี เช่น ที่ตรวจครรภ์หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์ สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการทดสอบฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) ฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นมาระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งฮอร์โมนบางส่วนจะขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้ตรวจเจอได้
ท้อง 1 เดือน ลูกอยู่ตรงไหนของท้อง
ช่วงเดือนแรกจะเป็นการปฏิสนธิ เมื่อไข่ผสมกับสเปิร์ม ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะเคลื่อนมาตามท่อนำไข่ แล้วฝังตัวที่ผนังมดลูก
ลูกน้อยในครรภ์มีขนาดใหญ่แค่ไหน
ตั้งครรภ์ 1 เดือน ทารกมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1 กรัม หัวใจของเจ้าตัวน้อยเริ่มเต้นแล้วด้วย
การอัลตราซาวด์ท้อง 1 เดือน
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวด์ ในไตรมาสแรกจะทำเพื่อยืนยันอายุครรภ์ วัดความยาวตั้งแต่ศีรษะถึงกระดูกก้นกบ และเป็นการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์
พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือนแรก ที่คุณแม่ควรรู้
การตั้งครรภ์ 1 เดือนแรก ลักษณะของตัวอ่อนในครรภ์จะคล้ายลูกน้ำ มีหัวกลม มีปุ่มเล็ก ๆ ของแขนขาทั้ง 4 ข้าง มีการสร้าง รก และสายสะดือ โดยตัวอ่อนจะมีการแบ่งที่ประกอบไปด้วยชั้นเซลล์สามชั้น เพื่อพัฒนาต่อไปเป็นโครงสร้างส่วนต่าง ๆ
- Endoderm (เอนโดเดิร์ม) จะพัฒนามาเป็นอวัยวะได้แก่ อวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน และอวัยวะของระบบทางเดินหายใจ
- Mesoderm (มีโซเดิร์ม) จะพัฒนามาเป็นโครงกระดูก หัวใจ เส้นเลือด และอวัยวะเพศของลูกน้อย
- Ectoderm (เอ็คโทเดิร์ม) จะพัฒนามาเป็นระบบประสาทโดยเฉพาะอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัส ผิวหนัง เส้นผม เส้นขน และเล็บ หลังสัปดาห์ที่ 3 หัวใจของลูกจะเริ่มเต้น ในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ร่างกายของลูกจะเริ่มสร้างอวัยวะภายในและหลอดเลือด
อายุครรภ์ 1 เดือน สมองของลูกในครรภ์ มีพัฒนาการอย่างไร
ในช่วงเดือนแรก ร่างกายของลูกจะเริ่มพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางไปเป็นสมอง และไขสันหลัง ซึ่งเซลล์สมองจะเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
คุณแม่จะเสริมพัฒนาการของลูกในครรภ์ 1 เดือนแรกได้อย่างไร
ช่วง 1 เดือนแรกหลังการปฏิสนธิ ยังไม่มีกิจกรรมเสริมพัฒนาการเป็นพิเศษ แต่ที่สำคัญ คือ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงความเครียด หากิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสบายใจ เพราะคุณแม่ที่อารมณ์ดีย่อมส่งผลที่ดีต่อลูก
อาหารที่คุณแม่ท้อง 1 เดือน ควรรับประทาน
คุณแม่ควรรับประทานอาหารบำรุงครรภ์ที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยเลือกโปรตีนที่หลากหลาย เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ หลากสีเป็นประจำ รับประทานอาหารในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้มีอาการแพ้ท้อง รวมถึงควรทานวิตามินบำรุงครรภ์ที่แพทย์แนะนำ ในช่วง 3 เดือนแรก คือ วิตามินบี 9 หรือโฟลิก เพื่อลดโอกาสที่ทารกในครรภ์จะมีความผิดปกติของระบบประสาท
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 เดือน
ข้อห้ามคนท้อง 1 เดือน มีอะไรบ้าง
- ไม่ควรสูบบุหรี่
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ควรยกของหนัก
- ไม่ควรซื้อยากินเอง
อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 1 เดือน ควรหลีกเลี่ยง
- แม่ท้อง 1 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารไม่ปรุงสุก เลือกรับประทานอาหารที่สด สะอาด และปรุงสุกอยู่เสมอ
- ในไตรมาสแรก ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ แต่ยังต้องออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตามที่แพทย์แนะนำ
- การใช้สารเคมีเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก เช่น น้ำยาย้อมผม
- หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อความแน่ใจ ให้ปรึกษาคุณหมอก่อน เพราะแต่ละคู่อาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เนื่องด้วยภาวะแทรกซ้อน ปัญหาสุขภาพของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งท้องแบบมั่นใจ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนจะดีที่สุด
อ้างอิง:
- อยากกระตุ้นให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- อาการคนท้อง ระยะแรก ยืนยันว่าคุณตั้งครรภ์แล้วแน่ๆ, สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
- ตั้งครรภ์ 1 เดือน, 9 ย่างเพื่อสร้างลูก
- อาการหน้ามืด อ่อนเพลียในคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- อาการคัดเต้าในคนท้อง, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
- ท้องไม่ท้อง รู้ให้แน่ ด้วยการตรวจครรภ์หาค่าเอชซีจี (hCG), โรงพยาบาลนครธน
- ระหว่างตั้งครรภ์… คุณแม่มีเซ็กซ์ได้หรือไม่, โรงพยาบาลเปาโล
- การปฏิบัติตนระหว่างตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- พัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไรบ้างนะ, โรงพยาบาลพญาไท
- อาการหน้ามืด อ่อนเพลียในคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ