แม่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 20 สัปดาห์
สรุป
- เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากขึ้น เริ่มมีอาการเหนื่อยล้า หายใจไม่อิ่มจากการขยายตัวของมดลูก มีอาการปวดหลัง และตัวบวม
- ทารกอายุ 20 สัปดาห์ มีความยาวตัวประมาณ 20-25เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 400 กรัม มีพัฒนาการทางระบบประสาทอย่างรวดเร็ว และเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
สำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ นับว่าเดินทางมาถึงครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว เป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ทั้งร่างกายและอารมณ์ ซึ่งในช่วงนี้หน้าท้องคุณแม่จะเริ่มขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าและมีอาการปวดหลังมากขึ้น เนื่องจากหน้าท้องโตขึ้นทำให้สรีระหน้าท้องของคุณแม่เริ่มนูนแอ่นออกมาด้านหน้า
ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เทียบเท่ากับระยะเวลาประมาณ 5 เดือน เป็นช่วงเวลาสำคัญและเกิดการเปลี่ยนแปลงกับคุณแม่และทารกน้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ
พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 20 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด
ทารกน้อยในอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จะมีความยาวตัวประมาณ 20-25 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 400กรัม
ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ ลูกดิ้นแล้วหรือยัง
ทารกช่วงนี้จะสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น และคุณแม่อาจเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกแล้ว และจำนวนครั้งที่ทารกดิ้นในแต่ละวันจะแตกต่างกันออกไป คุณแม่จะรู้สึกเหมือนเส้นประสาทกระตุกเบา ๆ โดยการขยับตัวของทารกจะมีการเตะ ต่อย การพลิกตัวและม้วนตัว โดยการดิ้นของเด็กจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
อวัยวะและระบบต่าง ๆ
ช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มมีพัฒนาการทางร่างกายและระบบการทำงานต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- ระบบประสาท: เริ่มมีพัฒนาการทางประสาทและสมองอย่างรวดเร็ว โดยเซลล์ประสาทมีจำนวนมากขึ้นและเชื่อมต่อกันมากขึ้น ทารกเริ่มที่จะสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก เช่น เสียง แสง และสัมผัส
- ระบบหายใจ: ทารกอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ระบบหายใจจะเริ่มพัฒนาขึ้น และทางเดินหายใจส่วนต้นสมบูรณ์ขึ้น เกิดการเชื่อมต่อกันของเนื้อเยื่อหายใจกับหลอดเลือดฝอย ซึ่งหลอดเลือดฝอยบริเวณรอบๆทางเดินหายใจเริ่มปรากฎหนาแน่นและชัดเจนมากขึ้น มีพื้นที่ผิวสัมผัสที่มากขึ้น โดยขนาดของผนังถุงลมมีขนาดที่บางลง เพื่อให้เหมาะสำหรับการแลกเปลี่ยนก๊าซให้กับทารกน้อยในครรภ์
- ระบบทางเดินอาหาร: ระบบทางเดินอาหารจะเริ่มผลิตสารเหนียวๆ ที่เรียกว่า ขี้เทา (meconium) ซึ่งโดยปกติจะสะสมอยู่ในลำไส้จนกว่าทารกจะลืมตาดูโลก
- ระบบขับถ่าย: ทารกจะเริ่มปัสสาวะปนมาในนำครำ
- พัฒนาการอื่น ๆ: ช่วงสัปดาห์นี้ทารกจะสามารถกลืนได้แล้ว และมีเล็บเล็กๆ งอกขึ้นที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า ฟันเริ่มพัฒนาอยู่ใต้กราม ผมเริ่มงอก กล้ามเนื้อก็จะแข็งแรงยิ่งขึ้น ทารกจะสร้างไขมันเพื่อปกป้องผิวหนัง คิ้วและขนตากำลังพัฒนา
การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 20 สัปดาห์
ช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป มดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์จะขยายตัวทำให้หน้าท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้น เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น มีอาการปวดหลังซึ่งเกิดจากน้ำหนักตัวของทารกน้อยกดทับบริเวณหลัง
คุณแม่บางท่านอาจมีอาการท้องแข็งซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป อาการที่พบได้บ่อย เช่น อาการท้องแข็งเป็นระยะ เมื่อยืนนาน ๆ เดินนาน ๆ ออกกำลังกาย เริ่มรู้สึกเครียด หรือมีอาการตื่นเต้น อาการท้องแข็งส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายและมักหายไปเอง แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการท้องแข็งรุนแรง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงส่งผลให้คุณแม่อาจมีอาการคันบริเวณผิวหนัง หรืออาจมีอาการท้องผูก และปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากมดลูกขยายตัวกดทับกระเพาะปัสสาวะ
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
- อาการตกขาว นับเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีตกขาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ปกติแล้วตกขาวจะมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลิ่นเหม็น หากตกขาวมีสีหรือกลิ่นที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- อาการตะคริว มักเกิดขึ้นบริเวณน่องหรือเท้า อาจเกิดจากการขาดแคลเซียมหรือโพแทสเซียม
- อาการแสบกลางอก หรืออาหารไม่ย่อย เกิดจากการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารไปยังหลอดอาหาร
- ตัวบวม เกิดจากการกักเก็บน้ำของร่างกาย มักพบบริเวณเท้า ขา แขน และใบหน้า คุณแม่ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง
- หายใจไม่อิ่ม อาการนี้เกิดจากการขยายตัวของมดลูกไปกดทับกระบังลม ทำให้ปอดมีปริมาตรลดลง ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกหายใจไม่อิ่มเมื่อออกกำลังกายหรือเดินนาน ๆ ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักและพักผ่อนให้เพียงพอ
อาหารคนท้อง 20 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ การเลือกรับประทานเมนูอาหารสำหรับคนท้อง จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่เองและทารกน้อยในครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ในแต่ละมื้อควรมีสารอาหารครบ 5 หมู่ มากไปกว่านั้นควรเน้นที่อาหารที่ให้พลังงานและสารอาหารที่ดีในช่วงตั้งครรภ์ ได้แก่
- โปรตีน มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์ใหม่และซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ คุณแม่ควรได้ทานโปรตีนต่อวันประมาณ 1.5 กรัม/น้ำหนักตัวคุณแม่ (Kg) แหล่งโปรตีนที่ดี ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
- แคลเซียม มีความสำคัญต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารก คุณแม่ควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,000-1,200 มิลลิกรัม/วัน อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและโพแทสเซียม เช่น นม โยเกิร์ต ผักใบเขียว และผลไม้
- ธาตุเหล็ก มีความสำคัญต่อการผลิตเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 27-30 มิลลิกรัม/วัน แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลสุก ถั่ว ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม บรอกโคลี
- กรดโฟลิก มีความสำคัญต่อการป้องกันภาวะทารกพิการแต่กำเนิด เช่น ความบกพร่องของท่อประสาท ภาวะกระดูกสันหลังโหว่ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิกประมาณ 400-800 ไมโครกรัม/วัน อาหารที่มีกรดโฟลิกสูง ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม บรอกโคลี ผลไม้รสเปรี้ยว ถั่วเมล็ดแข็ง
- ไอโอดีน มีความสำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่จำเป็นต่อพัฒนาการทางสมองของทารกคุณแม่ท้องควรได้รับไอโอดีนประมาณ 220-290 ไมโครกรัม/วัน อาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีนสูง ได้แก่ อาหารทะเล เช่น ปลาทะเลน้ำลึก สาหร่ายทะเล เกลือเสริมไอโอดีน
- DHA มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและสายตาของทารก คุณแม่ควรได้รับ DHA ประมาณ 200 มิลลิกรัม/วัน แหล่งอาหารที่มี DHA สูง ได้แก่ ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า สาหร่ายทะเล
การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์
การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ เป็นการอัลตราซาวด์เพื่อตรวจประเมินพัฒนาการของทารกน้อยในครรภ์ เนื่องจากสามารถตรวจพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ เช่น ภาวะทารกพิการแต่กำเนิด ภาวะหัวใจพิการ เป็นต้น โดยคุณหมอจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งเข้าไปในช่องท้องของคุณแม่ เพื่อดูภาพทารกและโครงสร้างต่าง ๆ ภายในครรภ์
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์
อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 20 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง
คุณแม่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ยังคงทานอาหารและทำกิจกรรมได้ปกติเช่นเคย แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น
- อาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- อาหารที่มีไขมันสูง อาจทำให้น้ำหนักขึ้นมากเกินไป และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- อาหารที่มีน้ำตาลสูง อาจทำให้น้ำหนักขึ้นมากเกินไป และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- อาหารที่มีโซเดียมสูง อาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ เช่น ภาวะสมองพิการ ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา
- บุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ เช่น ภาวะน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ภาวะแท้งบุตร
กิจกรรมที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงและระวังเป็นพิเศษ
- การยกของหนัก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
- การออกกำลังกายหนัก ๆ อาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตร
- เดินทางไกล อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้า ไม่เป็นผลดีต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
- สัมผัสสารพิษ อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
- การอบซาวน่าหรือห้องไอน้ำ อาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
อาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป ทำอย่างไรดี
สำหรับคุณแม่หลายท่านอาจมีอาการแพ้ท้องนานถึง 20 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น หากอาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป อาจลองปรับวิธีการหรือดูแลตัวเองได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น อาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ขนมปัง ผลไม้สุก ผักต้ม
- ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอ น้ำจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น อาหารทอด อาหารที่มีกลิ่นแรง
- รับประทานอาหารที่เย็น ๆ เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม
- เคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม จะช่วยกระตุ้นน้ำลายและทำให้รู้สึกดีขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
เคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ที่อาจช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง
- รับประทานอาหารบ่อย ๆ แทนที่จะรับประทานอาหารมื้อใหญ่
- บรรเทาอาการแท้ท้องด้วย ขิงเพื่อช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ดี สามารถทานในรูปแบบน้ำขิง คุกกี้ หรือลูกอมก็ได้ (13)
อาการแพ้ท้อง อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย จึงควรดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้คุณแม่และทารกน้อยในครรภ์มีสุขภาพที่ดี
อ้างอิง:
- Your pregnancy at 20 weeks: Hormones, Medical News Today
- 20 Weeks Pregnant: Tips for Making Your Pregnancy Better, American Pregnancy
- ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 14 - 28 สัปดาห์), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Hospital
- Pregnancy Week by Week: Your Pregnant Belly at 20 Weeks, The Bump
- การดิ้นของทารกในครรภ์ สัญญาณที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก สมุทรปราการ
- Fetal development: Weeks 19 to 21, Medline Plus
- Meconium Aspiration: Edouard Sayad and Manuel Silva-Carmona. National Library of Medicine
- What to eat during the second trimester, Medicalnewstoday
- 20-week screening scan: What does the scan look for?, NHS UK
- 20-week screening scan: If there's a condition, will the scan find it? , NHS UK
- เตรียมตัวเดินทางสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, Seedoctornow
- 10 ข้อห้าม เมื่อตั้งท้อง: 9. ห้ามอบไอน้ำ อบซาวน่า, โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
- 6 อาหารที่ช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ (Food that help morning sickness), drnoithefamily
- 3 เทคนิคช่วยลดอาการแพ้ท้อง: กินน้อยแต่บ่อย, โรงพยาบาลเปาโล
- 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์: เดือนที่ 5 – รับรู้โลกนอกครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- Embryonic Development of the Respiratory System, lumenlearning
- ความสมบูรณ์ของปอดทารกในครรภ์: Fetal lung maturity, สูติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- การดิ้นของทารกในครรภ์ สัญญาณที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
- “กรดโฟลิก” สิ่งจำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน!, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566