อาการลูกดิ้นที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้!
ลูกน้อยเริ่มดิ้นเมื่อไหร่?
คุณแม่ตั้งครรภ์มักสงสัยและกังวลเกี่ยวกับการดิ้นของลูกในครรภ์ และวิธีการนับความถี่ของการดิ้นในแต่ละวัน ซึ่งความจริงแล้วทารกในครรภ์จะเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 7 สัปดาห์เท่านั้น แต่เนื่องจากว่าในมดลูกมีที่ว่างมากพอที่จะเคลื่อนไหวไปรอบๆ โดยไม่ชนหน้าท้องคุณแม่ คุณจึงยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว แต่เมื่อลูกโตขึ้นการเคลื่อนไหวจะมากขึ้นและแรงขึ้น คุณแม่ท้องแรกจะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูกครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ ขณะที่คุณแม่ท้องหลังจะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์
โดยในช่วงอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ จำนวนครั้งของการดิ้นในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน บางวันอาจจะดิ้นมาก บางวันดิ้นน้อย แต่หลังจากเลยช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ไปแล้ว การดิ้นจะสม่ำเสมอและค่อนข้างคงที่ การนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นจึงมีประโยชน์ในการเฝ้าติดตามสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้ดี
แล้วจะนับลูกดิ้นได้อย่างไร?
วิธีนับลูกดิ้นมีหลายวิธี โดยจะเริ่มนับลูกดิ้นเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์
1. เทคนิคการนับลูกดิ้นแบบ “Count to Ten” ให้นับลูกดิ้นตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น หรือใช้เวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมง ดูว่าลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้งหรือไม่? ถ้าดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่าปกติ
2. เทคนิค “Sadovsky” นับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นหลังจากคุณแม่เพิ่งรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง (ลูกจะได้รับพลังงานมากขึ้นและดิ้นบ่อยเป็นพิเศษ) โดยลูกควรมีจำนวนการดิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมงหลังจากที่คุณแม่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ในแต่ละมื้อ (ถ้าลูกขยับตัวติดต่อกันให้ถือว่าลูกดิ้น 1 ครั้ง เช่น “ตุ๊บ ตุ๊บ พัก” ให้นับเป็น 1 ครั้ง หรือ “ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ” ก็ให้นับเป็น 1 ครั้งเช่นกัน) ถ้าทั้ง 3 มื้อรวมกันแล้วดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่าปกติสำหรับวันนั้น แต่หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมงให้นับต่ออีกทันที 1 ชั่วโมง และหากยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ให้รีบไปพบแพทย์
การดิ้นของลูกน้อย
ลูกดิ้นมาก
ส่วนใหญ่ถ้าลูกดิ้นมากจะไม่ถือว่าผิดปกตินะคะ เพราะลูกจะมีช่วงตื่นช่วงหลับเป็นวงจรอยู่ในท้องคุณแม่ ในช่วงที่ตื่นก็อาจจะรู้สึกว่าดิ้นมากซึ่งไม่เป็นอันตรายใดๆ ยกเว้นคุณแม่พบว่าลูกจะดิ้นแรงมากอยู่ระยะหนึ่งแล้วหยุดดิ้นไปเลยและไม่มีอาการดิ้นอีกต่อไป แบบนี้แสดงว่ามีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นค่ะ
ลูกดิ้นน้อย
ถ้าคุณแม่มีอายุครรภ์ราว 7-8 เดือน ลูกกลับดิ้นน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในระยะใกล้ครบกำหนดคลอด หรือเมื่อเลยกำหนดวันคลอดไปแล้วคุณแม่ก็ยังไม่เจ็บท้องคลอดสักที ถ้าลูกยังดิ้นดีอยู่ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าดิ้นน้อยลงและดิ้นเบาๆ หรือในวันหนึ่งๆ รู้สึกว่าลูกดิ้นเพียงไม่กี่ครั้งก็ควรจะพบหมอทันที เพื่อตรวจดูสาเหตุที่ลูกดิ้นน้อยลงนั้นเกิดจากอะไร การดิ้นที่น้อยลงอย่างผิดปกติของทารกในครรภ์ มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังและลูกอาจอยู่ในภาวะอันตรายได้ค่ะ
ลูกดิ้นตอนกลางคืน
คุณแม่หลายคนรู้สึกว่าลูกจะดิ้นกวนใจเฉพาะในตอนกลางคืนเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วลูกก็ดิ้นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนนะคะ แต่ในช่วงกลางวันคุณแม่ต้องทำงานหรือมีเรื่องอื่นที่ดึงดูดความสนใจมากกว่า ก็เลยไม่ได้สังเกตหรือสนใจเรื่องการดิ้นของลูกสักเท่าไร และขณะทำงาน เดิน หรือเปลี่ยนอิริยาบถเร็วๆ ลูกน้อยอาจจะตกใจและหยุดนิ่งไปบ้าง เมื่อถึงตอนกลางคืนขณะที่คุณแม่นอนหลับพักผ่อนถึงจะมีเวลาสนใจเรื่องตัวเองมากขึ้น จึงรับรู้ได้ว่าลูกดิ้นมากนั่นเอง
สร้างสัมพันธ์เมื่อลูกดิ้น
เมื่อรู้สึกว่าลูกดิ้น คุณพ่อ-คุณแม่อาจพูดคุยกับลูกในท้อง โดยคุณแม่ควรพูดด้วยเสียงปกติ เพราะเสียงสามารถผ่านลำตัวของคุณแม่ไปยังลูกน้อยได้โดยตรง แต่สำหรับคุณพ่อนั้นจะต้องเพิ่มระดับความดังของเสียงให้มากกว่าปกติสัก 20-30% ด้วยการพูดซ้ำๆ เพื่อให้ลูกเกิดการเคยชินกับเสียง อาจจะทำวันละครั้งๆ ละ 15 นาที และอาจใช้มือลูบที่หน้าท้องของคุณแม่หรือตบเบาๆ ตรงตำแหน่งที่ลูกดิ้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยและเพิ่มความสัมพันธ์กับลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องคุณแม่
ที่มา หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “การเคลื่อนไหวของลูก”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”. หน้า 132-133. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “ลูกดิ้นมาก ดิ้นน้อย จะทำอย่างไร”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”. หน้า 151-153. M & C แม่และเด็ก. “บันทึกการดิ้นของลูกกันเถอะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : motherandchild.in.th. [10 ม.ค. 2016]. หาหมอ.com, การเคลื่อนไหว หรือการดิ้นของทารกในครรภ์ (Fetal movement in pregnancy), รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ, สูตินรีแพทย์, http://haamor.com/th/การเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของทารกในครรภ์