แม่ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 27 สัปดาห์
สรุป
- อายุครรภ์ของคุณแม่เท่ากับ 6 เดือน ทารกในครรภ์ของคุณแม่มีขนาดเท่ากับหัวกะหล่ำดอก มีร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนท่าทางได้เองทั้งวัน
- ทารกในท้องลืมตาและหลับตาได้แล้ว รวมถึงมีอาการสะอึกที่คุณแม่อาจรู้สึกได้ นอกจากนี้ปอดก็เตรียมพร้อมให้ทารกหายใจได้หลังการคลอด
- คุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายโดยมีขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น เริ่มอุ้ยอ้ายและรู้สึกอึดอัด และอาจมีอาการปวดหลังและเป็นตะคริวร่วมด้วย
ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการร่างกายที่เติบโตขึ้น ขนาดตัวใหญ่ขึ้น ทำให้มดลูกของคุณแม่ต้องขยายขึ้นเรื่อยๆ ให้พอดีกับตัวของลูกน้อย และส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวไปทุกส่วนของร่างกาย กล้ามเนื้อตึง หรือแม้กระทั่งเจ็บขาและมีอาการมือเท้าบวม ขณะเดียวกันพัฒนาการของทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่สำคัญมากมาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลืมตาดูโลกกว้างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
อายุครรภ์ของคุณแม่เท่ากับ 6 เดือน เท่ากับว่าครบไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้ว
ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ ลูกอยู่ในท่าไหน
ทารกในครรภ์มีร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนท่าทางได้เองทั้งวัน ดิ้นได้อย่างอิสระ
พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 27 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
1. ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด
สัปดาห์ที่ 27 ทารกในครรภ์ของคุณแม่มีขนาดเท่ากับหัวกระหล่ำดอก ทารกมีความยาวประมาณ 30 ซม. เริ่มมีกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีเวลานี้ทารกเริ่มมีหน้าตาคล้ายกับหลังคลอดมากขึ้นแล้ว
2. ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง
ทารกในครรภ์ตัวใหญ่ โดยจะดิ้น แตะ ยืดตัว จนอาจเห็นเป็นก้อนนูนแหลมเคลื่อนไหวที่หน้าท้องของคุณแม่ได้ แต่ทารกในครรภ์ 27 สัปดาห์ยังดิ้นไม่เป็นเวลานัก
3. อวัยวะและระบบต่าง ๆ
ทารกในครรภ์ในช่วงนี้มีการเติบโตเปลี่ยนแปลงอย่างมาก กระดูกแข็งแรงขึ้น ระบบหายใจมีการพัฒนาสมบูรณ์ขึ้น คือ มีถุงลม หลอดเลือดไปเลี้ยงถุงลม ที่สำคัญคือ สมองเริ่มมีรอยหยัก และสมองสั่งการควบคุมการหายใจได้เอง ทารกจึงมีอาการสะอึกได้ เพราะหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าปอดและหายใจเอาน้ำคร่ำออกจากปอด
การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 27 สัปดาห์
ในช่วงอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายโดยมีขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น เริ่มอุ้ยอ้ายและรู้สึกอึดอัด โดยขนาดมดลูกจะโตขึ้น โดยยอดมดลูกอยู่ใกล้กับชายโครงทำให้รู้สึกว่าหายใจลำบาก หายใจได้สั้น เนื่องจากปอดขยายไม่เต็มที่ คุณแม่จึงรู้สึกหอบเหนื่อยง่าย เวลานอนก็อาจหลับได้ไม่เต็มที่ ทำให้เหนื่อยล้าและอยากงีบหลับในเวลาบ่าย เวลานี้มือและเท้าจะบวมอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมดลูกที่ขยายขึ้นไปกดทับเส้นเลือดบริเวณขาและเท้า ส่งผลให้เลือดไหลเวียนช้าลงและเกิดการสะสมของของเหลว รวมถึงมีอาการคันผิวหนังหน้าท้องมากขึ้น ซึ่งเกิดจากเส้นใยคอลลาเจนผิวหนังชั้นกลางยืดขยายออกตามขนาดท้อง
สำหรับด้านอารมณ์ คุณแม่อาจเกิดความกังวลไปต่าง ๆ นานา เนื่องจากต้องวางแผนลาคลอด วางแผนชีวิตระหว่างคลอดและหลังคลอด รวมไปถึงการเตรียมปรับตัวเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ นับเป็นการรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในบทบาทของชีวิต แต่การหาข้อมูลและวางแผนอย่างดีจะช่วยให้พร้อมรับมือได้
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
ช่วงเวลาตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่พบกับอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยในระยะนี้ ดังต่อไปนี้
- ตะคริว ช่วงนี้คุณแม่จะน้ำหนักเพิ่มขึ้น ขาต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าเดิม ทำให้เป็นตะคริวที่ขาและเท้าได้ง่าย คุณแม่ควรยืดขาและยืดเท้าบ่อย ๆ นวดเบา ๆ คลายอาการตะคริว รวมถึงดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการเป็นตะคริวได้เช่นกัน
- ปวดหลัง เมื่อท้องโตจนแอ่นไปข้างหน้า ทำให้เกิดการดึงรั้ง หลังต้องพยุงน้ำหนักที่มากขึ้น คุณแม่จึงมีอาการปวดหลังมากขึ้น ซึ่งแนะนำให้ค่อย ๆ ยืดเหยียดหลังเพื่อคลายอาการ ในช่วงเวลาที่นั่งหรือนอน ลองหาหมอนใบใหญ่มาช่วยพยุง เพื่อลดแรงกดช่วงสะโพก
- ท้องผูก เมื่อขนาดของทารกขยายตัวไม่หยุด ส่งผลต่ออวัยวะอย่างลำไส้ คุณแม่เกิดอาการท้องผูกได้ จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง พร้อมกับการดื่มน้ำให้เยอะขึ้น และออกกำลังกายด้วยการเดินบ่อย ๆ หากยังท้องผูกต่อเนื่อง ต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อขออาหารเสริมสำหรับขับถ่ายหรือยาถ่ายที่ปลอดภัย
- ริดสีดวงทวาร เนื่องจากอาการท้องผูกที่เกิดบ่อยครั้ง และฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักบวม ขับถ่ายลำบาก แล้วคุณแม่ต้องเบ่งถ่าย รวมถึงแรงกดที่ทารกในท้องมีต่ออวัยวะช่องท้องส่วนล่าง ทำให้เกิดเป็นริดสีดวงได้ แม้เป็นอาการที่ไม่อันตรายแต่อาจกลายเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอ
- ผิว ผม และเล็บเปลี่ยนไป การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมไปถึงคุณแม่ต้องแบ่งสารอาหารให้กับทารกในครรภ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับผิว ผม และเล็บ โดยผมและเล็บของคุณแม่อาจจะหนาขึ้นหรือยาวขึ้น แต่ในทางกลับกันก็เปราะง่ายเช่นกัน ส่วนผิวของคุณแม่อาจจะคล้ำขึ้นเนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น และมีฝ้า กระ ไฝ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปหลังจากที่คลอด
- ปัสสาวะเล็ด ในเวลาที่คุณแม่จามแรง ๆ อาจเกิดอาการนี้ได้ เนื่องจากทารกในครรภ์สร้างแรงกดต่อไตและกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งไม่มีทางป้องกันได้ คุณแม่อาจจะเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะมีที่ว่าง หรือใส่แผ่นอนามัยกันเปื้อนไว้ได้เช่นกัน
อาหารคนท้อง 27 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
คุณแม่ควรรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้พลังงาน และสารอาหารเพียงพอสำหรับคุณแม่เองและทารกในครรภ์ โดยจัดสัดส่วนอาหารแต่ละมื้อให้มีสารอาหารครบถ้วน 5 หมู่ ช่วงเวลานี้ไฟเบอร์เป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการขับถ่ายของคุณแม่
สำหรับช่วงเวลานี้ที่ทารกในครรภ์จะมีการพัฒนาสมองอย่างรวดเร็ว อาจเน้นอาหารที่ช่วยการเสริมสร้างสมองของทารก เช่น โฟเลต อาทิ ผักใบเขียว ถั่วที่ช่วยพัฒนาของระบบประสาทและสมอง พร้อมช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน ที่พบมากในไข่ ไก่ นมและถั่ว ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ยังมีอวัยวะอีกหลายส่วนของทารกที่ทำงานไม่เต็มที่ และระบบภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ จึงควรเสริม ธาตุเหล็ก แคลเซียม โอเมก้า 3 รวมถึง วิตามินซีจากผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ช่วยให้ทารกในครรภ์เติบโตและแข็งแรงมากขึ้น
การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 27สัปดาห์
หากคุณแม่ไปตรวจครรภ์ จะเห็นพัฒนาการของทารกในครรภ์ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ อาจเห็นทารกน้อยกำลังดูดนิ้วอยู่ในท้อง และจะได้เห็นหน้าตาของทารกที่ใกล้เคียงกับตอนคลอดมากยิ่งขึ้น
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์
คุณแม่อาจมีความสงสัยในเรื่องการดูแลครรภ์ในระยะนี้ สามารถดูสรุปข้อมูลได้ดังนี้
1. อาหารและกิจกรรม ที่คุณแม่ท้อง 27 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง
- ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม โกโก้ โดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ ไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะคาเฟอีนสามารถผ่านรกไปถึงลูกน้อยในครรภ์ และอาจมีผลกระทบต่อร่างกายของคุณแม่ ทำให้นอนไม่หลับ ปวดท้อง ใจสั่น เป็นต้น
- ผ่อนคลายความเครียด
- งดบุหรี่ แอลกอฮอล์และสารเสพติด
- ลดกิจกรรมที่ออกแรง และมีการก้มเงยบ่อย ๆ อาจทำให้ปวดหลัง ปวดเมื่อย และเสี่ยงต่อการหกล้มที่กระทบกระเทือนต่อครรภ์
2. การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องระวังระดับน้ำตาลในเลือดมากเป็นพิเศษ เพราะอาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้ ดังนั้นเมื่ออายุครรภ์ 24 - 28 สัปดาห์ คุณแม่ทุกคนจะได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวาน ว่ามีความสุ่มเสี่ยงหรือไม่ เนื่องจากโรคนี้มีผลเสียต่อทารกในครรภ์หลายประการ เช่น เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดเกินมาตรฐาน สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น โรคอ้วน มีน้ำตาลในปัสสาวะ มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน ต้องตรวจคัดกรองให้เร็วที่สุด ถ้าผลปกติก็ให้ตรวจซ้ำในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ในกรณีที่คุณแม่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แพทย์ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ และให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์
อ้างอิง:
- แม่ท้องกินอะไร…ถึงดีต่อลูกน้อย, โรงพยาบาลเปาโล
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- คัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
- How big is my baby? Week-by-week fruit and veggie comparisons, Babycenter
- 27 Weeks Pregnant, Baby Center
- 27 Weeks Pregnant, The Bump
- Tips to decrease your swollen feet during pregnancy, Standford Health
- ดื่มกาแฟมากไป ทำให้แท้งบุตร จริงหรือ? โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์, โรงพยาบาลนนทเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 25 มกราคม 2567