3 ขั้นตอนการคลอด ขั้นตอนการคลอดลูกที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้
ระยะเจ็บท้องคลอด
ระยะที่นานที่สุดของการคลอดบุตรเกิดขึ้นที่บ้านนี่เอง เมื่อคุณแม่รู้สึกถึงสัญญาณแรกของกระบวนการคลอด โดยทั่วไปกระบวนการคลอดจะประกอบด้วย 3 ระยะ เริ่มจากสัญญาณแรกของการบีบรัดตัวของมดลูกและจบด้วยการคลอดลูกน้อยและรกออกมา
ระยะแรกของกระบวนการคลอดประกอบด้วยขั้นตอนย่อยๆ โดยเริ่มจากมดลูกเริ่มบีบรัดตัวจนถึงช่วงที่ปากมดลูกขยายเปิดออก ช่วงแรกของระยะที่ 1 นี้เรียกว่า latent phase เป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิดช้าๆ ทีละน้อย การบีบรัดช่วงนี้มักไม่รู้สึกเจ็บ เพียงแต่จะรู้สึกเหมือนอาการปวดท้องช่วงมีประจำเดือน ความถี่และระยะเวลาในการบีบรัดตัวของมดลูกมีหลายแบบ ซึ่งจังหวะและความแรง และระยะเวลาในการบีบตัวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งยาวนานประมาณ 60 วินาที ในทุกๆ 2-3 นาที ในช่วงนี้คุณอาจเตรียมพร้อมอยู่ที่โรงพยาบาลให้เรียบร้อย
สัญญาณการคลอดบุตร
ในระยะเริ่มต้น มดลูกและปากมดลูกที่มีลักษณะเหมือนลูกแพร์กลับหัวจะปรับรูปร่างใหม่กลายเป็นลักษณะของถังน้ำ ส่วนของปากมดลูก หรือส่วนบนของลูกแพร์จะหดสั้นลง และขยายตัวหรือเปิดออกเพื่อให้ศีรษะของลูกน้อยสามารถผ่านออกมาได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ เรียกว่า การบางตัวของมดลูก เมื่อสิ้นสุดระยะที่ 1 นี้ ปากมดลูกจะเปิดประมาณ 3 เซนติเมตร
เมื่อไรที่คุณแม่ควรไปโรงพยาบาล
ช่วงเวลาที่คุณแม่ควรไปโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับคุณแม่และทีมแพทย์ คุณแม่ควรพยายามติดต่อโรงพยาบาลอยู่เสมอเพื่อขอคำแนะนำ ขั้นถัดไปของกระบวนการคลอดที่ต้องพร้อมไปโรงพยาบาลคือ ช่วงที่ 2 นี้ที่เรียกว่า active phase เป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิดอย่างรวดเร็ว รู้สึกเจ็บถี่ขึ้นและสม่ำเสมอมากขึ้น ปากมดลูกจะเปิดประมาณ 8 เซนติเมตร
ที่โรงพยาบาล
ในช่วงสุดท้ายของระยะที่ 1 ของกระบวนการคลอด ปากมดลูกจะเปิดประมาณ 10 เซนติเมตร เกิดการบีบรัดมากและถี่ขึ้น จนอาจรู้สึกว่ามีการบีบรัดต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 นี้ จะใช้เวลาไม่นาน และก็เข้าสู่ขั้นตอนการเบ่งไปพร้อมๆ กับการบีบตัวของมดลูก เมื่อคุณแม่พร้อมที่จะเบ่ง จะเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2 ของกระบวนการคลอด และคุณแม่จะเป็นคนสำคัญที่พาลูกน้อยออกมาสู่โลกภายนอกภายใต้ความช่วยเหลือของทีมแพทย์
พยายามผ่อนคลาย
สำหรับทีมแพทย์ การคลอดคืองานที่เขาคุ้นเคย ดังนั้นคุณแม่จึงควรพยายามทำใจให้สบาย ไม่ต้องกังวล เมื่อคุณมาถึงโรงพยาบาล ทีมแพทย์จะตรวจสัญญาณการคลอดต่างๆ เช่น ความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย และความกว้างของปากมดลูก และตำแหน่งการจัดท่าทางของทารก พวกเขาจะติดตามภาวะสุขภาพของลูกน้อย โดยเฉพาะการเต้นของหัวใจ และนี่คือช่วงเวลาที่คุณควรวางแผนการคลอด และผ่อนคลายความเจ็บปวดไปพร้อมๆ กัน
การบีบตัวของมดลูก
ในขณะที่กระบวนการคลอดดำเนินไปเรื่อยๆ การบีบตัวของมดลูกจะเกิดเร็วขึ้น ปากมดลูกจะขยายอย่างต่อเนื่อง และลูกน้อยจะค่อยๆ กลับหัว เมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่ นี่คือช่วงที่คุณควรออกแรงเบ่ง แพทย์ทำคลอดจะบอกให้คุณแม่หายใจเข้า และกลั้นหายใจเพื่อออกแรงเบ่งได้อย่างต่อเนื่อง และสูดหายใจใหม่อีกครั้ง คุณควรตั้งใจทำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้การบีบตัวแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพในการเบ่งคลอด พยายามจำสิ่งเหล่านี้ให้ได้ นี่คือช่วงเวลาที่คุณแม่จะได้นำสิ่งที่เรียนรู้ในการอบรมการตั้งครรภ์มาใช้จริง คุณแม่จะได้รับกำลังใจเต็มที่จากคุณพ่อ และคนที่คุณรัก รวมทั้งทีมแพทย์
หลังการคลอด นี่คือขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากลูกน้อยคลอดออกมา
1. แพทย์จะวางลูกน้อยลงบนท้องของคุณเพื่อให้เกิดสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ
2. ลูกน้อยอาจเริ่มหายใจครั้งแรกในช่วงเวลานั้น
3. แพทย์จะประเมินภาวะของลูกน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าลูกน้อยสามารถหายใจเองได้
4. สายสะดือจะถูกตัด แพทย์อาจให้คุณแม่หรือคุณพ่อมีส่วนร่วมในการตัดสายสะดือ
5. พยาบาลจะป้ายยาที่ตาของลูกน้อยเพื่อป้องกันการติดเชื้อหนองในที่อาจได้รับระหว่างการคลอด
6. แพทย์จะประเมินภาวะของลูกน้อย และอาจฉีดวิตามินเค เพื่อช่วยในการแข็งตัวของเลือด
7. พยาบาลหรือแพทย์จะใส่สายรัดข้อมือที่ระบุรหัสประจำตัวให้คุณแม่และลูกน้อย
8. การคลอดบุตรจะเสร็จสิ้นเมื่อมีการคลอดรกออกมาด้วย และนี่คือระยะที่ 3 ของกระบวนการคลอด การบีบตัวของมดลูกจะสิ้นสุดลง แต่อาจเกิดขึ้นได้อีกนาน 5-20 นาทีจนกว่ารกจะถูกคลอดออกมา แพทย์ทำคลอดจะตรวจสอบรกเพื่อให้แน่ใจว่ารกได้ออกมาครบถ้วน และไม่มีส่วนใดๆ หลงเหลือในร่างกายของคุณแม่
การคลอด
ในช่วงท้ายของการคลอด แพทย์จะสามารถมองเห็นศีรษะของลูกน้อยในช่วงของการบีบรัดตัวของมดลูกหรือหลังจากนั้น ซึ่งเรียกว่า crowning คือเห็นส่วนของศีรษะโผล่บริเวณปากช่องคลอด แพทย์อาจทำการตัดฝีเย็บบริเวณช่องคลอดส่วนล่างเพื่อป้องกันการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ หากจำเป็นแพทย์อาจใช้คีมช่วยในการนำทารกออกมา ลูกน้อยจะโผล่ส่วนของศีรษะออกมาก่อน และจะส่งเสียงร้องแรกให้ทุกคน และนี่ก็คือ ช่วงเวลาที่คุณได้ให้กำเนิดทารกตัวน้อยแล้ว ยินดีด้วย คุณเป็นคุณแม่เต็มตัวแล้วค่ะ
อ้างอิง
1. Gross MM, et al. Z Geburtshilfe Neonatol. 2002 Nov-Dec;206(6):236-41.
2. A Sandström, et al. J Perinatol. 2017 Mar; 37(3): 236–242.
3. Philip Steer and Caroline Flint. BMJ. 1999 Mar 20; 318(7186): 793–796.