แม่ตั้งครรภ์ 3 เดือน เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 3 เดือน
ช่วงนี้จะเป็นช่วงสุดท้ายของไตรมาสที่ 1 อาการแพ้ท้องจะเริ่มหายไป แต่คุณแม่จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นแล้วไปกดทับกับกระเพาะปัสสาวะ
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 3 เดือน
ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือน ลูกน้อยจะมีอวัยวะครบถ้วน เริ่มมีการขยับแขน ขา ศีรษะ อ้าปาก และหุบปากได้ นิ้วเริ่มมีเล็บ แต่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวนั้น เนื่องจากลูกยังมีขนาดเล็กเท่าผลมะนาว โดยพัฒนาการเด็กในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมากดังนี้
• ใบหน้าของลูกน้อยเริ่มมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น คุณแม่จะเริ่มเห็นริมฝีปาก และคิ้ว ดวงตาทั้งสองข้างตอนนี้ยังถูกเปลือกตาปกปิดอยู่ ซึ่งคุณแม่จะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ระหว่างการตรวจอัลตราซาวด์
• หัวใจ เริ่มเต้นสม่ำเสมอ โดยมีการเต้นอยู่ที่ 110 ถึง 160 ครั้งต่อนาที ซึ่งเต้นเร็วกว่าหัวใจของคุณแม่เสียอีก และหัวใจของลูกน้อยจะเต้นเร็วขึ้นอีกถ้าคุณแม่อยู่ในภาวะเครียด ดังนั้นคุณแม่ควรจะพยายามผ่อนคลายอยู่เสมอ
• เซลล์ประสาทนับล้าน กำลังแบ่งตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวตอบสนองซึ่งคุณแม่อาจจะยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้เท่าไร ในช่วงนี้ลูกน้อยจะสามารถหันหัวไปมา ขยับแขนและขาได้ และที่สำคัญลูกน้อยกำลังพัฒนาต่อมรับรส โดยจะมีตุ่มรับรสเกิดขึ้นบนลิ้น สามารถเรียนรู้รสชาติต่างๆ ได้
• ปากของลูกน้อยจะเปิดปิดได้ และเริ่มที่จะกลืนน้ำคร่ำได้ ซึ่งน้ำคร่ำที่ทารกทานเข้าไปจะถูกกำจัดโดยไตในรูปของปัสสาวะ
สาระน่ารู้! โภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 3 เดือน
ขณะนี้ลูกน้อยของคุณแม่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นคุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลากหลายและสมดุล โดยเน้นไปที่ โปรตีน เพราะโปรตีนมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการเด็กในครรภ์ ช่วยสร้างเนื้อเยื่อให้ทารก สร้างเม็ดเลือดแดงให้มีสภาพสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันตัวคุณแม่เองก็ต้องการโปรตีนเพื่อช่วยซ่อมแซม และบำรุงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายด้วยเช่นกัน แต่ถ้าคุณแม่เป็นมังสวิรัติ หรือไม่ค่อยรับประทานเนื้อสัตว์ ก็สามารถรับประทานโปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นๆ ได้ เช่น ถั่ว ธัญพืช ไข่ และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น
และสารอาหารอีกหนึ่งชนิดที่ขาดไม่ได้ คือ แคลเซียม เพื่อให้แน่ใจว่าแคลเซียมจากกระดูกที่เป็นโครงสร้างหลักของคุณแม่จะไม่ถูกสลายไปใช้จนหมด การดื่มนมและรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและโยเกิร์ต เป็นประจำทุกวันมีความสำคัญมาก นอกจากนี้แคลเซียมยังสามารถพบได้ในผักและผลไม้ต่างๆ เช่น ผักปวยเล้ง บล็อกโคลี น้ำมันปลา ถั่วฝักยาว อัลมอนด์ หรือพืชตระกูลถั่วต่างๆ เป็นต้น แต่ปริมาณแคลเซียมในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังน้อยกว่าแคลเซียมที่ได้จากผลิตภัณฑ์ประเภทนม คุณแม่ควรโดยดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว เพื่อที่จะได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอกับร่างกายและลูกน้อยในครรภ์
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ 3 เดือน
ช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือน คุณแม่บางท่านอาจเกิดความสงสัยว่า “ทำไมถึงรู้สึกกินปลาไม่ลง” ซึ่งการที่อยู่ๆ คุณแม่เกิดไม่ชอบอาหารบางอย่างขึ้นมา หรือรับประทานอาหารบางชนิดแล้วไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อนนั้น มักเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ ความไม่ชอบนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้การได้กลิ่น และการรับรสไวกว่าปกติ ดังนั้นคุณแม่ไม่ต้องกังวลถ้าหากว่าเกิดรู้สึกขยะแขยงเวลานึกถึงปลา คุณแม่สามารถรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงได้จากอาหารประเภทอื่น เช่น อกไก่ ไข่ หรือแฮมที่ปรุงสุกแล้ว เป็นต้น หรือคุณแม่อาจจะทำอาหารโดยที่ใช้กรรมวิธีอื่นเพื่อ “กลบ” กลิ่นคาว เช่น นำมาทำเป็นซุป หรือนำมาผสมกับซุปแครอทบด อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกไม่ชอบนี้จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว และคุณแม่ก็จะกลับมาอร่อยกับอาหารได้อย่างเดิม โดยเมื่อถึงช่วงท้ายของตั้งครรภ์ 3 เดือน ความรู้สึกเหล่านี้จะเริ่มหายไปจนกลับมาเป็นปกติ เราขอแนะนำให้คุณแม่ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เยอะๆ ออกไปเดินเล่นข้างนอก ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง และมีความสุขไปพร้อมๆ กับลูกน้อยตลอดช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์