แม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 15 สัปดาห์
สรุป
- คุณแม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ อาจมีอาการเลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม อายใจไม่อิ่ม เลือดกำเดาไหล และอาหารไม่ย่อยได้ ซึ่งเป็นอาการที่อาจพบได้ ทั้งนี้หากไม่มั่นใจในความผิดปกติ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์์
- ในช่วงนี้ลูกน้อยในท้องเริ่มโตขึ้นมาอีกนิดแล้ว และมีหน้าตาที่คล้ายกับทารกมากขึ้น แถมยังเริ่มมีการเคลื่อนไหวเล็กน้อยซึ่งคุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวอย่างแผ่วเบาของลูกน้อย
- ในระหว่างของการตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ เป็นช่วงที่คุณแม่ต้องระมัดระวังเรื่องการทานอาหาร โดยเน้นการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย พยายามงดอาหารหมักดอง เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในท้อง
ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ผิวหนังของลูกน้อยบางมากทำให้สามารถมองทะลุเห็นเส้นเลือดผ่านผิวหนังได้อย่างชัดเจน ในสัปดาห์นี้ลูกน้อยยังคงฝึกหายใจ ดูด และกลืนอย่างต่อเนื่อง ส่วนกระดูกส่วนต่าง ๆ จะแข็งแรงขึ้น และตอนนี้ลูกมีใบหน้าคล้ายทารกแล้ว เพราะดวงตา ใบหู อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 15 สัปดาห์ เท่ากับว่าตอนนี้คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ได้ 4 เดือนแล้วและกำลังเข้าสู่การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2
ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน
ตอนนี้ลูกน้อยในท้องจะอยู่บริเวณส่วนบนของมดลูกประมาณ 10 -22 เซนติเมตร ใต้สะดือของคุณแม่
พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 15 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด
ลูกน้อยในท้องตัวใหญ่ขึ้น โดยมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 10.2 ซม. ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดลูกแพร์ ส่วนน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 71 กรัม
ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง
สัปดาห์นี้คุณแม่คุณแม่อาจยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของเจ้าตัวเล็ก แต่ลูกน้อยในท้องเริ่มมีการเคลื่อนไหวร่างกายบ้างแล้ว เช่น งอนิ้วเท้า เตะ ดูดนิ้ว และขยับแขนขา
อวัยวะและระบบต่างๆ
ช่วงนี้หูของทารกกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเริ่มได้ยินเสียงของคุณแม่เป็นครั้งแรก ส่วนดวงตายังคงปิดสนิทแต่เริ่มตอบสนองต่อแสงได้บ้างแล้ว
การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์
ในช่วงนี้ระบบไหลเวียนเลือดของคุณแม่จะดีขึ้น อาจมีเลือดกำเดาไหล และปวดหัวอยู่บ่อยครั้งได้ เมื่อแปรงฟันอาจพบอาการเลือดออกตามไรฟันได้ง่ายเนื่องจากแคลเซียมและเกลือแร่ของคุณแม่ถูกลูกน้อยนำไปเสริมสร้างกระดูกนั่นเอง ส่วนบริเวณร่างกายคุณแม่จะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของหัวนม ผิวหนังรอบหัวนมจะมีสีที่เข้มขึ้น มีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2 กิโลกรัม บางครั้งอาจรู้สึกชาที่ปลายมือและเท้า อีกทั้งยังมีความรู้สึกปวดกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณท้องส่วนล่างเนื่องจากการขยายตัวของมดลูกด้วย ทั้งนี้หากคุณแม่รู้สึกผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
- อารมณ์ทางเพศสูงขึ้น คุณแม่ท้องบางคนอาจรู้สึกถึงอารมณ์ทางเพศ เนื่องจากเลือดที่คั่งบริเวณอวัยวะเพศมากขึ้น รวมถึงความรู้สึกในการยอมรับการตั้งครรภ์ของคุณแม่นั่นเอง
- เลือดกำเดาไหล การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายอาจทำให้คนท้องเลือดกำเดาไหลได้ง่ายซึ่งเป็นอาการที่อาจพบได้ของคุณแม่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์นี้
- แสบกลางอกและ/หรืออาหารไม่ย่อย หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการอาหารไม่ย่อยแนะนำให้คุณแม่แบ่งทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อ แทนที่จะทานเป็นอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ เพื่อไม่ให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักเกินไป
- เหงือกบวม ในช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการเหงือกบวมและเลือดออกตามไรฟันได้ง่ายหลังจากแปรงฟัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้คุณแม่เลือดออกตามไรฟันได้ง่าย และอาจเป็นโรคเหงือกอักเสบด้วยได้ซึ่งอาการเหงือกบวมสามารถไปเองหลังจากที่คุณแม่คลอดลูก
- หายใจไม่อิ่ม เนื่องจากช่วงนี้ขนาดหน้าท้องของคุณแม่เริ่มใหญ่ขึ้นทำให้ไปเบียดกับปอดและกระบังลมจนปอดมีพื้นที่ในการขยายตัวลดลง คุณแม่จึงรู้สึกหายใจไม่อิ่มและอาจรู้สึกอ่อนเพลียหรือหน้ามืดได้ง่ายเพราะคุณแม่ได้รับออกซิเจนน้อยลง
อาหารคนท้อง 15 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
เพื่อป้องกันอาการที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 15 ของการตั้งครรภ์ และการเสริมสร้างพัฒนาการของร่างกายและอวัยวะของลูกน้อย คุณแม่ท้องควรทานอาหารสำหรับคนท้อง ดังนี้
- ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักใบเขียว รวมถึงตับ และไข่แดง เพื่อให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดให้มากพอที่จะลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารจากแม่ไปสู่ลูกน้อย
- เลือกทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เพื่อลดอาการท้องผูกที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 15 หรือเมนูอาหารสำหรับคนท้องที่เหมาะสม
- ดื่มนมเป็นประจำเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมสำหรับการเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารกน้อยในครรภ์
การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 15 สัปดาห์
ในกรณีที่คุณแม่ไม่ได้ตรวจครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรก การตรวจอัลตราซาวด์ในช่วงนี้ของคุณแม่จะเป็นการตรวจเพื่อยืนยันอายุครรภ์ ตรวจหาตำแหน่งของรก และปริมาณน้ำคร่ำ ตรวจความสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทารก เช่น หัวใจ สมอง ตับ ไต กระดูกสันหลัง เป็นต้น ประเมินความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดสำหรับคุณแม่ที่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน และตรวจดูการไหลเวียนโลหิตของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกซึ่งเชื่อมต่อมายังทารก
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์
1. อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 15 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง
- คุณแม่ควรทานอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมันในปริมาณที่เหมาะสม เพราะร่างกายของคนท้องต้องการสารอาหารอื่นมากกว่าโดยเฉพาะโปรตีน
- คุณแม่ควรระมัดระวังในการทานยา เพราะในช่วงนี้ร่างกายและระบบประสาทของทารกยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในท้อง เสี่ยงต่อความพิการ และทำให้ลูกเติบโตช้าได้
- ไม่ควรทานอาหารรสจัด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมักดอง เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายท้อง หรือปวดท้องได้ และอาจส่งผลเสียแก่สุขภาพของทารกในครรภ์
- งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ส่งผลโดยตรงต่อทารกน้อยในครรภ์เป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้ทารกโตช้า เสี่ยงต่อความพิการและความผิดปกติของร่างกายลูกน้อย และยังทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดด้วย
2. อาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป ทำอย่างไรดี
หากคุณแม่ยังมีอาการแพ้ท้อง อยู่ แนะนำให้ลองทานอาหารแต่ละมื้อน้อยลงแต่ทานให้บ่อยขึ้น เพื่อให้กระเพาะอาหารสามารถย่อยอาหารได้ทัน พยายามเปลี่ยนเมนูอาหารที่อาจทำให้รู้สึกดีขึ้น เช่น เปลี่ยนจากข้าวมาเป็นทานขนมปังแทน หรือรอให้อาหารเย็นลงเพราะการทานอาหารร้อน ๆ จะทำให้คุณแม่ไม่้กลิ่นอาหารที่ชัดเจนจนรู้สึกอยากอาเจียนได้ ทั้งนี้หากมีอาการแพ้ท้องที่ผิดปกติ คุณแม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาต่อไป
อ้างอิง:
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
- เซ็กซ์ ยามตั้งครรภ์, โรงพยาบาลยันฮี
- อาการหน้ามืด อ่อนเพลียในคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- อัลตร้าซาวด์ และการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ประโยชน์ในการทำอัลตร้าซาวด์แต่ละช่วงอายุครรภ์, โรงพยาบาลรามคำแหง
- 3 เทคนิคลดอาการแพ้ท้อง, โรงพยาบาลเปาโล
- 10 ข้อห้ามที่ “คนท้อง” ต้องรู้, โรงพยาบาลสมิติเวช
- 15 Weeks Pregnant, whattoexpect
- Pregnancy at week 15, pregnancybirthbaby
- 15 Weeks Pregnant, americanpregnancy
- การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจระหว่างตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2, Mbrace
- โรคปากแหว่ง เพดานโหว่, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
อ้างอิง ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566