แม่ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 14 สัปดาห์
สรุป
- คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ควรมีการดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการที่ดีของทารกในครรภ์
- การดูแลตนเองอย่างถูกวิธีของคุณแม่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ จะช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่ดี
ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ถือเป็นสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ในไตรมาส 2 ซึ่งในไตรมาสนี้คุณแม่จะเริ่มมีหน้าท้องนูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมดลูกมีการขยายตัวมากขึ้น และในขณะเดียวกัน คุณแม่หลาย ๆ คนก็อาจจะเริ่มรู้สึกอารมณ์ดีและผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเริ่มปรับตัวกับการตั้งครรภ์ได้แล้ว ทั้งยังเป็นช่วงที่อาการแพ้ท้องและอ่อนเพลียเริ่มหายไปด้วย
ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน
การนับอายุครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วมักจะนับเป็นรายสัปดาห์ เนื่องจากจำนวนวันที่ไม่เท่ากันในแต่ละเดือน บางเดือนมี 4 สัปดาห์ บางเดือนมี 5 สัปดาห์ ดังนั้นเมื่ออายุครรภ์ 14 สัปดาห์ จึงถือว่าคุณแม่อยู่ในเดือนที่ 4 เดือนของการตั้งครรภ์
ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน
เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะเคลื่อนตัวไปตามท่อนำไข่ และจะฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูก ทารกที่มีอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ จะเจริญเติบโตอยู่ในมดลูกบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งมดลูกจะมีการขยาย ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโตของทารก
พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 14 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
1. ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด
ในช่วงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดตัวประมาณ 3 นิ้วครึ่ง น้ำหนักประมาณ 45 กรัม หรือเทียบเท่าผลพีช รูปร่างหน้าตาจะมีความคล้ายเด็กมากขึ้น แขนและขาเริ่มยาวออก รวมไปถึงพัฒนาการและระบบต่าง ๆ ของอวัยวะ ที่พัฒนาเกือบครบแล้ว
2. ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ ลูกดิ้นแล้วหรือยัง
ทารกอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ เริ่มที่จะสามารถเคลื่อนไหวได้บ้างแล้ว แต่คุณแม่จะยังไม่สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าวของทารกได้ เนื่องจากการดิ้นของทารกอาจจะยังไม่ได้กระทบกับผนังมดลูกของคุณแม่ หรืออาจจะยังดิ้นไม่แรงพอจนทำให้คุณแม่สามารถรู้สึกได้
อวัยวะและระบบต่างๆ
ทารกอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ รูปร่างหน้าตาของทารกจะเริ่มมีความคล้ายเด็กมากขึ้น เด็กจะเริ่มมีคาง หน้าผาก และจมูกชัดเจนขึ้น แขนขาทารกเริ่มเห็นเป็นรูปร่างชัดเจน และเริ่มมีขนอ่อนขึ้นตามลำตัว ทารกเพศชายจะเริ่มพัฒนาต่อมลูกหมาก ส่วนเพศหญิงจะเริ่มพัฒนารังไข่
การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 14 สัปดาห์
เมื่ออายุครรภ์ 14 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนจะเริ่มมีหน้าท้องที่นูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด เต้านม หัวนมและหน้าอกจะเริ่มขยายขึ้นและอาจมีการสร้างน้ำนมเหลืองบ้างแล้ว เริ่มเกิดเส้นกลางลำตัวที่จะมองเห็นได้ชัดเมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ นอกจากนี้คุณแม่หลายคนจะเริ่มมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน จึงควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารเพื่อไม่ให้มีภาวะสุขภาพและโรคต่าง ๆ ตามมา ทั้งต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
- ปวดเมื่อย คุณแม่อาจจะมีอาการปวดเมื่อยและเจ็บ เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดขยายออกเพื่อรองรับการเจริญเติบโต ของทารกในครรภ์ หากมีความกังวลสามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้
- มีแรงมากขึ้น เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกคุณแม่อาจจะมีการอาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 อาการดังกล่าวจะเริ่มหมดไป ทำให้ในช่วงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ คุณแม่มีแรงมากขึ้น
- อยากอาหารเพิ่มมากขึ้น หลังจากอาการแพ้ท้องหมดไป คุณแม่จะเริ่มมีความอยากอาหารมากขึ้น ช่วงนี้คุณแม่ควรรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรี/วัน เนื่องจากอาหารที่คุณแม่ทานจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ด้วย จึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เหมาะสมกับช่วงอายุครรภ์ และระมัดระวังของมันหรืออาหารที่ทำให้อ้วน เนื่องจากอาจเกิดปัญหาสุขภาพตามมาภายหลังได้
อาหารคนท้อง 14 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
คุณแม่ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณแม่เอง และเพื่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ สารอาหารสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ควรได้รับ เช่น
- ธาตุเหล็ก ช่วยในการบำรุงเลือด ป้องกัน และลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจาง เช่น ตับ ไข่แดง เนื้อแดง ผักใบเขียว ธัญพืช
- ไอโอดีน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น อาหารทะเล เกลือไอโอดีน เกลือทะเล
- แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง เช่น นม ปลา ชีส เนย
การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 14 สัปดาห์
ส่วนใหญ่แล้วในช่วงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์มักจะไม่มีการอัลตราซาวด์ เพราะคุณแม่จะได้รับการอัลตราซาวด์ไปแล้วในช่วงไตรมาสแรก แต่หากมีความจำเป็นหรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ แพทย์อาจแนะนำให้รับการอัลตราซาวน์ได้ นอกจากจะได้ทราบพัฒนาการต่าง ๆ ของทารกในครรภ์แล้ว แพทย์จะมีการตรวจเพื่อหาความเสี่ยงของภาวะบกพร่องทางพันธุกรรม รวมทั้งโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ด้วย เช่น การหาความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรม เป็นต้น ดังนั้นคุณแม่จึงควรเข้ามาตรวจครรภ์ตามนัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์
1. อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ควรเลี่ยง
คุณแม่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ควรเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบวมและความดันสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณของการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีโอกาสกระทบกระเทือนรุนแรงต่อทารกในครรภ์ เช่น การชกมวย เล่นฟุตบอล ขี่ม้า เป็นต้น เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือส่งผลต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้
2. อาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป ทำไงดี
โดยปกติแล้วอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ หายไปในช่วงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ แต่ในคุณแม่บางคนอาจจะแพ้ท้องไปจนถึงใกล้คลอดเลยก็ได้ หากคุณแม่คนไหนที่มีอาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป อาจบรรเทาได้โดยการทานอาหารน้อย ๆ แต่บ่อยมื้อ ลดอุณหภูมิอาหารเพื่อลดกลิ่นที่ทำให้คุณแม่รู้สึกเหม็น ทานอาหารให้หลากหลายมากขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้อง รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้หากอาการแพ้ท้องมีความรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์โดยตรง
เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 14 ของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ดังนั้นจึงควรมีการดูแลตัวเองให้ถูกวิธี รับประทานอาหารสำหรับคนท้อง ที่เหมาะสมกับอายุครรภ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงอยู่เสมอ และเพื่อสร้างพื้นฐานพัฒนาการที่ดีของทารกน้อยในครรภ์
อ้างอิง:
- อัลตราซาวด์ และการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 14 - 28 สัปดาห์), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- 3 เทคนิค “ลดอาการแพ้ท้อง”, โรงพยาบาลเปาโล
- แพ้ท้องอยู่ใช่ไหม ต้องทำอย่างไรมีคำตอบ, โรงพยาบาลเพชรเวช
- Week 14 of Your Pregnancy, Parents
- 14 Weeks Pregnant, what to expect
- 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- Week 14 of Your Pregnancy, Parents
- Pregnancy at week 14, Pregnancybirthbaby
- Pregnancy at week 14, Pregnancybirthbaby
- Your Pregnancy at Week 14, OT&P Healthcare
- 14 weeks pregnant, Babycenter
- Linea Nigra, Cleaveland Clinic
อ้างอิง ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566