แม่ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 23 สัปดาห์
ในช่วงตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงลูกน้อยมากขึ้น เพราะพัฒนาการเด็กในครรภ์เริ่มเติบโตจนจำแนกเสียงได้หลากหลาย และยังมีปฏิกิริยากับเสียงต่างๆ สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของคุณแม่ได้แล้ว
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 23 สัปดาห์
ไตรมาสที่ 2 เท้าของลูกน้อยยาว 4.5 - 5 ซม. ลูกมีน้ำหนักมากกว่า 700 กรัม เด็กในครรภ์จะเริ่มมีพัฒนาการของอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น
• หูชั้นในจะเริ่มสมบูรณ์จึงทำให้ลูกน้อยได้ยิน และแยกแยะความแตกต่างของเสียงได้
• ตับ และตับอ่อน เริ่มสร้างเอนไซม์สำหรับกำจัดของเสียในเซลล์เม็ดเลือดแดงของตัวเองได้
• ปอดจะมีการพัฒนาเพื่อพร้อมรับการหายใจ และในช่วงนี้คุณแม่สามารถทราบเพศของลูกน้อยได้แล้ว หากลูกของคุณเป็นเด็กผู้หญิง เธอมีช่องคลอดและรังไข่ แต่ถ้าลูกเป็นเด็กผู้ชาย เขามีอวัยวะเพศชาย และต่อมลูกหมาก แม้ว่าลูกอัณฑะของเขาจะสร้างตั้งแต่เดือนที่ 2 แต่มันยังคงอยู่ในช่องท้องของเขา โดยจะเคลื่อนลงมาตอนแรกเกิดหรือในช่วงสองสามเดือนแรกเกิดนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่เกิดความเครียด และสำหรับคุณแม่บางท่านอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเบาหวานในขณะกำลังตั้งครรภ์ มักพบหลังจากการตั้งครรภ์ได้ 23-28 สัปดาห์ หากคุณไม่ได้เป็นเบาหวานมาก่อน แต่ขณะครรภ์ 23-28 สัปดาห์มีระดับกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดสูง จะถือว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สาเหตุเป็นเพราะว่า ‘อินซูลิน’ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายของคุณสร้างขึ้นนั้นไม่เพียงพอต่อการนำกลูโคสจากในเลือดไปยังเซลล์ที่อยู่ในร่างกาย เพราะเมื่อตั้งครรภ์ รกจะสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินที่คอยคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ถ้าภาวะนี้ไม่ได้รับการควบคุม จะทำให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และส่งผลกระทบต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ แต่คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะคุณแม่สามารถป้องกันได้ นอกจากการดูแลรักษาจากคุณหมออย่างใกล้ชิดแล้ว ตัวคุณแม่เองก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้โดยการควบคุมอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้แล้ว
โภชนาการที่คุณแม่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ควรได้รับ
เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถดูแลโภชนาการได้ด้วยตนเอง เพียงใส่ใจในเรื่องการกินมากขึ้นเช่น
• พยายามควบคุมปริมาณอาหารจำพวกแป้ง หรือน้ำตาล เปลี่ยนมารับประทานข้าวซ้อมมือแทนข้าวขาว
• เพิ่มอาหารพวกโปรตีน เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ โดยเลือกทานเนื้อสัตว์ส่วนที่ไม่ติดมันและหนัง
• รับประทานผักหลากหลายชนิดในอาหารแต่ละมื้อ โดยเน้นผักผลไม้ที่มีกากใยสูง ควรหลีกเลี่ยงผลไม้สุกมากๆ ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กระป๋อง เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน อินทผาลัม ผลไม้ในน้ำเชื่อมกระป๋อง เป็นต้น เนื่องจากให้น้ำตาลมากกว่าผลไม้สดทั่วไป
• ควรเลือกทานผลไม้สดเป็นมื้อว่าง ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดคือประมาณ 1 จานรองกาแฟ หรือ 1 กำปั้น
• ควรหลีกเลี่ยงอาหารทานเล่นประเภทขนมถุงกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด หรือการปรุงอาหารแบบหนักมือ เพราะอาหารเหล่านี้มักมีเกลือสองถึงสามเท่าของปริมาณที่ร่างกายคุณแม่ต้องการ แต่ถึงแม้ว่าคุณแม่จะถูกให้จำกัดการทานเกลือ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ทานเกลือเลย เพราะโซเดียมเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสมดุลของน้ำในร่างกาย ซึ่งความสมดุลนี้มักจะถูกรบกวนจากฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ ฉะนั้นคุณแม่ต้องทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้มีความสมดุล
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์
เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกน้อย คุณแม่ควรหมั่นไปพบแพทย์ตามใบนัด เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นออกกำลังกายเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และการออกกำลังกายที่ถูกวิธีจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ตัวบวม ท้องผูก และนอนไม่หลับได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตั้งครรภ์ใกล้จะถึงไตรมาสสุดท้าย ท้องคุณแม่จะใหญ่ขึ้นทำให้เดินไม่สะดวก ทางที่ดีคุณพ่อควรจะพาคุณแม่ไปตรวจตามที่คุณหมอนัดพร้อมกัน หรือหากเป็นไปได้คุณพ่อควรเข้าคอร์สอบรมก่อนคลอดกับคุณแม่ด้วย เพื่อช่วยกันเตรียมความพร้อม และฝึกทักษะที่จำเป็นก่อนลูกจะเกิด อีกทั้งยังได้ใช้เวลากับคุณแม่ด้วยเป็นการเชื่อมความผูกพันทั้งครอบครัว
อ้างอิง:
1. Mennella JA, Jagnow CP, Beauchamp GK: Prenatal and Postnatal Flavor Learning by Human Infants. Pediatrics 2001, 107: -e88.
2. Seron-Ferre M, Torres-Farfan C, Forcelledo ML, Valenzuela GJ: The development of circadian rhythms in the fetus and neonate. Seminars in Perinatology 2001, 25: 363-370.
3. Swaiman KF: Pediatric neurology: principles & practice, 5th edn. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2012.
4. Weaver LT, Austin S, Cole TJ: Small intestinal length: a factor essential for gut adaptation. Gut 1991, 32: 1321-1323.
5. MedlinePlus [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated 2016 Oct 05]. Fetal development; [reviewed 2015 Sept 26; cited 2016 Oct 27]; [about 2 p.]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm