แม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 5 เดือน
สรุป
- คนท้องที่ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน จะเริ่มมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย ท้องอืด ลมในท้องเยอะ จุกเสียดแน่นท้อง ซึ่งล้วนเกิดจากการขยายตัวของมดลูกทำให้คุณแม่เกิดอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวและเป็นสาเหตุของการเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
- ทารกในครรภ์วัย 5 เดือนจะเริ่มมีการพัฒนาของผม ฟัน ขนคิ้ว ขนตา ช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มได้ยินเสียงภายในอวัยวะของคุณแม่แล้ว คุณแม่อย่าลืมพูดคุยกับลูกและเปิดเพลงให้ลูกฟังเป็นประจำเพื่อกระตุ้นพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยในท้อง
- ลูกน้อยยังเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีการตื่นและนอนเป็นเวลา และมีการเคลื่อนไหวขยับตัวไปมาจนทำให้คุณแม่รับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของลูกน้อยในท้อง
อาการคนตั้งครรภ์ 5 เดือน เป็นอย่างไร
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 5 คุณแม่จะรู้สึกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเพิ่มขึ้น และมีอาการอื่น ๆ ที่คุณแม่อาจพบในระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่
1. นอนไม่ค่อยหลับ
คุณแม่ที่มีหน้าท้องขยายใหญ่ขึ้นจะเริ่มรู้สึกนอนยากและนอนไม่หลับอยู่บ่อยครั้ง หากคุณแม่มีอาการนอนไม่หลับแนะนำให้เปลี่ยนท่านอนโดยการนอนตะแคงซ้ายแล้วใช้หมอนหนุนบริเวณท้องและขา ดื่มน้ำอุ่นก่อนนอน นอนบนม้าโยก และใช้น้ำอุ่นอาบน้ำ เพื่อให้คุณแม่หลับสบายมากยิ่งขึ้น
2. ปัสสาวะบ่อย
คนท้องจะรู้สึกว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยขึ้นมาก ๆ อันเนื่องมาจากมดลูกที่ขยายขึ้นจนไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะทำให้คุณแม่เข้าห้องน้ำถี่ขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาการปัสสาวะบ่อยนี้จะดีขึ้นเมื่อมดลูกขยายเข้าไปบริเวณช่องท้องและช่วงใกล้คลอด
3. ปวดท้องน้อย
อาการนี้เกิดจากการขยายตัวของมดลูกเช่นเดียวกัน เพราะมดลูกขยายจะทำให้เอ็นยึดที่มดลูกขยายตามไปด้วย คุณแม่จึงรู้สึกปวดตึง ๆ บริเวณหน้าท้องบางครั้งอาจปวดข้างเดียวบางครั้งอาจปวดตึงทั้ง 2 ข้างพร้อมกันเลย
4. ริดสีดวงทวาร
คนท้องที่ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือนบางคนอาจมีอาการริดสีดวงทวารเนื่องจากหลอดเลือดมีอาการโป่งพองขึ้น ส่วนมากมักเกิดขึ้นจากการท้องผูก เพื่อป้องกันอาการริดสีดวงทวารคุณแม่ควรดื่มน้ำมาก ๆ ทานอาหารที่มีกากใยสูง และแช่ก้นในน้ำอุ่น
5. เส้นเลือดขอด
เมื่อมดลูกใหญ่ขึ้นอีกหนึ่งปัญหาที่คนท้องมักเจอบ่อย ๆ คือ อาการเส้นเลือดขอดที่เกิดจากการกดทับเส้นเลือดดำของมดลูกบริเวณขาหรืออวัยวะเพศ
6. จุกเสียดท้อง
อาการจุกเสียดแน่นท้องของคุณแม่มักเกิดจากกรดในกระเพราะอาหารที่มากเกินไป อาหารย่อยช้า รวมถึงการขยายตัวของมดลูกจนไปดันกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้องขึ้น
อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 5 เดือน คุณแม่ควรรับมืออย่างไร
อาการท้องแข็งเป็นอาการของมดลูกที่บีบรัดกลายเป็นก้อนกลมแข็ง ปกติแล้วอาจพบได้ในช่วงที่คุณแม่พลิกตัว หรือลูกดิ้น หากคุณแม่มีอาการท้องแข็งบ่อย ๆ ควรนอนพักให้มาก ๆ แล้วคอยสังเกตตัวเองหากนอนแล้วยังมีอาการท้องแข็งอยู่ทุกครึ่งชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ให้รีบพบแพทย์โดยทันที เพราะถ้าปล่อยให้เกิดอาการท้องแข็งนาน ๆ อาจทำให้ปากมดลูกเปิดจึงเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดได้
เข้าใจลักษณะหน้าท้องของคนท้อง 5 เดือน
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 5 เดือน จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องที่เห็นได้ชัดเลย คือ รอยเส้นสีดำเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณหัวหน่าวยาวขึ้นไปและจะค่อย ๆ ปรากฏชัดขึ้นเมื่อท้องใหญ่ขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย อีกทั้งคุณแม่จะเห็นรอยขีดสีชมพูที่บริเวณหน้าท้องซึ่งเกิดจากหน้าท้องขยายใหญ่ขึ้น เราเรียกอาการนี้ “ท้องลาย” ซึ่งอาการทั้งสองจะหายไปหลังจากคุณแม่คลอดลูก
ท้อง 5 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัม
ในตอนนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 กิโลกรัมต่อเดือน หรือ ประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ เนื่องจากลูกน้อยในท้องอยู่ในช่วงของการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายลูกน้อยจึงต้องใช้พลังงานจำนวนมาก ทำให้คุณแม่ต้องทานอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้น
อัลตราซาวด์ท้อง 5 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรในท้องบ้างนะ
- ขนาดและน้ำหนักทารกในครรภ์ 5 เดือน ตอนนี้ลูกน้อยในท้องมีขนาดตัวยาวประมาณ 10-12 นิ้ว ส่วนน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 5 กิโลกรัมแล้ว
- รูปร่างของทารกในครรภ์ 5 เดือน คุณแม่สงสัยใช่ไหมว่าลูกมีหน้าตาเป็นอย่างไรแล้ว ตอนนี้ทารกเริ่มมีผมงอกขึ้น มีการสร้างไขมันขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง ขนคิ้วและขนตางอกขึ้น จึงเริ่มคล้ายกับทารกน้อยเข้าไปทุกทีแล้ว
- ท้อง 5 เดือน หัวลูกอยู่ตรงไหน ลูกน้อยในครรภ์คงอยู่ในมดลูกแต่มีการเคลื่อนไหวที่มากขึ้นทำให้คุณแม่สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยได้บ้างแล้ว
พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 เดือนแรก ที่คุณแม่ควรรู้
ลูกน้อยในท้องเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นใต้เหงือกแล้ว ขนคิ้ว ขนตาและผมก็ค่อย ๆ ขึ้นตามมาติด ๆ กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงขึ้น ลายนิ้วมือเริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว ภายในตับเริ่มมีการสร้างเม็ดเลือดแดง ส่วนในถุงน้ำดีเริ่มมีการสร้างน้ำดีขึ้นมา ตอนนี้ลูกน้อยมีการเจริญเติบโตไปอีกขั้น รู้จักการนอนและตื่นนอนเป็นเวลาแล้วด้วย
อายุครรภ์ 5 เดือน สมองของลูกในครรภ์ มีพัฒนาการอย่างไร
ช่วงนี้ลูกน้อยจะมีพัฒนาการได้ยินที่รวดเร็วทำให้ลูกน้อยสามารถได้ยินเสียงตาม ๆ ในร่างกายของคุณแม่ เช่น เสียงหัวใจเต้นของคุณแม่ และเสียงเคลื่อนไหวของกระแสเลือด เป็นต้น เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยคุณแม่ควรกระตุ้นลูกน้อยด้วยการพูดคุยกับลูกอยู่บ่อย ๆ เปิดเพลงให้ลูกในท้องฟัง โดยเปิดให้ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต โดยมีความดังที่อยู่ในระดับดังพอประมาณจะเปิดเพลงอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิค เพราะการพูดคุยและเปิดเพลงให้ลูกในท้องฟังจะช่วยกระตุ้นระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินได้เป็นอย่างดีทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการเร็วขึ้น เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาจะสามารถจดจำและลำดับความคิดในสมองได้เป็นอย่างดี
อาหารที่คุณแม่ท้อง 5 เดือน ควรรับประทาน
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 5 เดือน อาหารสำหรับคนท้อง ที่ควรทานยังคงเป็นอาหารครบ 5 หมู่ แต่อาจแบ่งอาหารทานวันละหลาย ๆ มื้อเป็นมื้อเล็ก ๆ เพื่อลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อของคนท้อง
- ควรเน้นอาหารที่ให้พลังงานและกากใยสูง เพื่อลดอาการท้องผูก เช่น อาหารจำพวกผักและผลไม้ที่ไม่หวานชัดเจน
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ควรเน้นอาหารที่ช่วยเสริมสร้างสมองลูกน้อยและระบบประสาท ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมอง โดยเลือกอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวอย่าง DHA เช่น ปลาทะเลและสาหร่ายทะเล และ ARA ซึ่งพบมากในอาหารประเภทน้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันข้าวโพด เป็นต้น
- ทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เพราะธาตุเหล็กจะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงซึ่งมีส่วนช่วยในการลำเลียงออกซิเจนจากแม่ไปสู่ลูกน้อยทำให้ลูกน้อยได้รับออกซิเจนที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยอาหารที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่ ตับ ไข่แดง และผักใบเขียว
- ทานนมที่มีแคลเซียมสูง เพราะแคลเซียมเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกระดูกให้คุณแม่และช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้กับทารกน้อยในท้องของคุณแม่ด้วย
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน
ข้อห้ามคนท้อง 5 เดือน มีอะไรบ้าง
คุณแม่ไม่ควรนั่งหรือยืนเป็นเวลานานเกินไป ในระหว่างนั่งก็ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง และไม่ใส่ถุงเท้าที่รัดแน่นจนเกินไปเพื่อเป็นการป้องกันอาการเส้นเลือดขอดระหว่างตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงการทานอาหารก่อนออกกำลังกาย งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ในระหว่างการตั้งครรภ์
อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน ควรหลีกเลี่ยง
เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในท้องคุณแม่ควรเลี่ยงอาหารประเภทอาหารรสจัดหรืออาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในท้อง รวมถึงการดื่มน้ำในระหว่างการทานอาหารบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้คุณแม่มีอาการจุกเสียดแน่นท้องขึ้นมาได้
อ้างอิง:
- สุขใจได้เป็นแม่, UNFPA กรมอนามัย
- การดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ สุขภาพดีทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
- การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
- อยากกระตุ้นให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 2 (อายุครรภ์ 4 - 6 เดือน), โรงพยาบาลเปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2566