แม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 34 สัปดาห์
สรุป
- ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดมากขึ้น เพราะท้องใหญ่มาก และรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ
- อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ในไตรมาสสุดท้าย ร่างกายของแม่ต้องการโปรตีนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ลูกน้อยพัฒนาเซลล์สมอง โดยเฉพาะอาหารประเภท ปลาที่มี DHA มีโอเมก้า 3
- ทารกในครรภ์ 34 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร น้ำหนักราว ๆ 2 กิโลกรัม
ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลานี้
อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ลูกในท้องตัวใหญ่ ขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว ไม่ว่าจะเป็นตอนตื่น ก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ลำบาก จึงต้องค่อย ๆ ลุกอย่างช้า ๆ ไม่ควรเร่งรีบ แต่ต้องหมั่นเปลี่ยนท่าทางให้บ่อย ส่วนเวลานอน คุณแม่ก็จะนอนหลับได้ไม่เต็มอิ่ม ต้องลุกไปปัสสาวะบ่อย ๆ ส่วนท่านอนที่ดีสำหรับคุณแม่ ควรนอนตะแคงจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้
ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ อายุครรภ์กี่เดือน
เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ จะเท่ากับตั้งครรภ์ 8 เดือน อยู่ในไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์
ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์อยู่ตรงไหนแล้ว
เจ้าตัวน้อยจะเคลื่อนไหวมาอยู่ใกล้ ๆ กับอุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมตัวเคลื่อนสู่ช่องคลอด ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์
พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 34 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
1. ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด
ทารกจะมีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัมแล้ว
2. ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง
ก่อนหน้านี้ทารกจะดิ้นแรง ดิ้นบ่อย แต่เมื่อเข้าสู่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่อาจสัมผัสการดิ้นได้น้อยลง เพราะลูกตัวใหญ่ขึ้น แต่คุณแม่ยังต้องนับลูกดิ้นเป็นประจำ ในแต่ละวันลูกควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง หรือช่วงหลังมื้ออาหาร ควรนับได้อย่างน้อย 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง
3. อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายลูก เป็นอย่างไร
พัฒนาการทารกในครรภ์เติบโตขึ้นอย่างมาก เริ่มมีไขเคลือบผิวตัวมากขึ้น เส้นผมมีมากขึ้นแล้ว
การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 34 สัปดาห์
คุณแม่จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายมากขึ้น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่าย อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ควรเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ เวลานั่งให้นั่งตัวตรง ส่วนเวลานอนให้ยกหัวสูง ขณะเดียวกันทางด้านจิตใจ คุณแม่อาจรู้สึกกังวลเรื่องลูกได้ ควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
- รู้สึกดวงตาพร่ามัว คนท้องมักจะมีอาการทางสายตา อาจรู้สึกว่า ดวงตาพร่ามัวได้ แต่ถ้าเกิดอาการพร่ามัวร่วมกับการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการมือเท้าบวม ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของครรภ์เป็นพิษได้
- อ่อนเพลีย ความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อ่อนแรง จะเกิดขึ้นได้ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะท้องของคุณแม่ใหญ่ขึ้น ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ และรู้สึกหายใจไม่อิ่ม
- ท้องผูก มดลูกที่ขยายใหญ่ยังไปกดอวัยวะสำคัญอย่างลำไส้ใหญ่ ประกอบกับฮอร์โมนของคนท้อง
ทำให้คุณแม่รู้สึกท้องผูกได้ง่าย ควรเลือกอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ หมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน และลุกเดินไปมาให้บ่อย เมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหวเป็นประจำ การขับถ่ายก็จะดีขึ้นด้วย
- ริดสีดวงทวาร เมื่อเกิดอาการท้องผูก ในอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ อาการริดสีดวงทวารก็มักจะตามมาด้วย เพราะมดลูกที่ขยายจะไปกดทับอวัยวะในร่างกาย การกดทับหลอดเลือดดำภายในท้อง อาจเกิดเลือดคั่งมากขึ้น วิธีบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร คุณแม่ไม่ควรเบ่งอุจจาระแรงเกินไป หากมีอาการท้องผูก อุจจาระแข็ง อาจทำให้เกิดเลือดออกตอนขับถ่าย และไม่ควรอั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ เมื่อรู้สึกปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ ควรเข้าในทันที
- แรงกดในช่องท้อง เจ้าตัวน้อยเคลื่อนที่มายังอุ้งเชิงกราน ทำให้คุณแม่รู้สึกได้ถึงแรงกดในช่องท้อง อาจอึดอัด ไม่สบายตัวได้
- เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ควรทราบถึงอาการเจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก เพื่อตรวจเช็คร่างกายว่า ควรไปพบแพทย์หรือไม่ อาการเจ็บเตือนนั้นจะเกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง เจ็บแล้วหายไป ไม่ปวดถี่ ไม่ปวดอย่างสม่ำเสมอ การเจ็บปวดจะเจ็บคล้ายเดิม ไม่รุนแรง และไม่เจ็บเพิ่มขึ้น
โภชนาการและอาหารคนท้อง 34 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
อาหารคนท้อง 34 สัปดาห์ ควรเลือกอาหารคนท้องที่มีโปรตีนสูง โดยเฉพาะปลาที่มี DHA โอเมก้า 3 สูง เพราะกรดไขมันจำเป็น จะมีบทบาทต่อโครงสร้างของสมองทารกและระบบประสาท ส่วนสารอาหารสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ไอโอดีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก
นอกจากนี้ ความต้องการพลังงานของคุณแม่จะเพิ่มขึ้น ควรบริโภคเพิ่มให้ได้ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ ให้เจ้าตัวน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรง ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ส่วนคุณแม่ก็ต้องมีสารอาหารอย่างเพียงพอเพื่อไปสร้างน้ำนมด้วย
อัลตราซาวด์เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์
อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่จะได้เห็นเจ้าตัวน้อยที่กลับหัวแล้วอยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน
ข้อห้ามและคำแนะนำเมื่อตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์
อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือของหมักดอง
- ห้ามยกของหนัก หรือไม่ควรออกกำลังกายหักโหม
- การมีเพศสัมพันธ์ในอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ไม่ควรสูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ควันบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการอั้นปัสสาวะและอั้นอุจาระ
อาการแบบไหนบ่งชี้ความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ
ภาวะแทรกซ้อนสำคัญของการตั้งครรภ์ คือ อาการครรภ์เป็นพิษ อันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกในท้องถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการครรภ์เป็นพิษมักจะเกิดในอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป มี 3 ระดับ
- ครรภ์เป็นพิษระดับไม่รุนแรง มีความดันโลหิตสูง อาการบวมในร่างกายปานกลาง
- ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง มีอาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว รู้สึกจุกเสียดบริเวณลิ้นปี เกล็ดเลือดต่ำ เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมปอด หรือเลือดออกในสมอง
- ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงจนเกิดอาการชัก จะมีอาการชัก เกร็ง หรือหมดสติ
การดูแลรักษาครรภ์เป็นพิษจึงควรทำทันที คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการคนท้อง หากมีอาการมือบวม เท้าบวม ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นท้อง ควรรีบพบแพทย์
อ้างอิง:
- สัญญานอันตรายที่แม่ตั้งครรภ์ต้องรีบไปพบแพทย์ : พบหมอรามาฯ, RAMA CHANNEL
- คู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต, มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตเขตสุขภาพที่ 9
- คู่มือโรงเรียนพ่อแม่, ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กรมอนามัย
- ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2566