แม่ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 9 สัปดาห์
ใกล้สิ้นสุดการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่1 แล้ว ในสัปดาห์ที่ 9 นี้ หัวใจของลูกน้อยเริ่มเต้นถี่ขึ้น เฉลี่ย 120 – 160 ครั้งต่อนาทีเลยทีเดียว รวมถึงมีการสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้ในช่วงนี้ร่างกายของลูกน้อยเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่นั้น ในช่วงนี้จะมีความอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เนื่องมาจากฮอร์โมนที่ยังไม่คงที่นั่นเอง
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 9 สัปดาห์
ระยะการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 9 หัวใจของลูกน้อยจะเริ่มแข็งแรงและเต้นถี่ขึ้น โดยอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 120 - 160 ครั้งต่อนาที รวมถึงร่างกายและอวัยวะภายในก็เริ่มมีการพัฒนาเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เริ่มมีเปลือกตา กระบังลมในช่องอก ปอด และเริ่มมีการสร้างทางเดินอาหาร หากในช่วงนี้คุณแม่มีการทำอัลตร้าซาวด์จะสามารถเห็นได้ว่า ลำตัวของลูกน้อยเริ่มยาวมากขึ้น และการมีการขยับร่างกายถี่ แต่ก็ยังเบาไปเกินกว่าที่คุณแม่จะรู้สึกได้
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์
คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยง่ายเป็นพิเศษ ซึ่งอาการเหนื่อยง่ายระหว่างตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะลูกน้อยกำลังเติบโตอยู่ในร่างกายของคุณ ในช่วงนี้อารมณ์ของคุณแม่ยังคงแปรปรวน เพราะระดับฮอร์โมนยังไม่คงที่ โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก ก็จะยิ่งมีความเครียด และความกังวลใจต่างๆ ทางที่ดีคนรอบข้าง โดยเฉพาะคุณพ่อ ควรพูดคุย รับฟัง และให้กำลังใจ เพื่อให้คุณแม่ผ่อนคลายมากขึ้น
สาระน่ารู้! โภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 9 สัปดาห์
• ความหวาน
คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทานหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่? ยังคงเป็นคำถามที่คุณแม่หลายท่านสงสัย โดยความจริงนั้น คุณแม่สามารถทานได้ หากแต่ต้องอยู่ในปริมาณที่พอดี และเลือกประเภทความหวานที่มีประโยชน์ต่อตัวเองและลูกน้อยมากที่สุด เช่น แทนที่คุณแม่จะดื่มน้ำอัดลมกระป๋อง 330 มล. มีน้ำตาลมากถึง 7 ช้อนชา ซึ่งจริงๆ แล้วต่อวันคุณแม่ควรทานน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ควรหันมาเลือกทานน้ำดื่มกลิ่นผลไม้ต่างๆ ที่ไม่ผสมน้ำตาล แต่ยังได้กลิ่นของผลไม้ หรือผสมน้ำมะนาวลงไปในน้ำดื่ม ก็ช่วยให้สดชื่นได้โดยไม่ต้องทานน้ำตาลมากๆ ด้วย หรืออาจเลือกทานผลไม้สดหั่นเป็นชิ้นคำเป็นมื้อว่าง ปริมาณไม่เกิน 1 กำมือต่อมื้อ ก็ช่วยให้อิ่มท้อง แถมได้วิตามินเกลือแร่ และใยอาหารอีกด้วย
• ธัญพืช
ธัญพืชอาจเป็นอาหารที่ช่วยให้คุณแม่อิ่มนาน แต่ก็มีหลายชนิดที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมากเกินไป แนะนำเลือกทานธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ซีเรียลธัญพืช เนื่องจากมีวิตามินบี และใยอาหารซึ่งเมื่อทานแล้วช่วยให้อิ่มท้องนาน และช่วยเรื่องการขับถ่ายอีกด้วย
• โฟลิก
คุณแม่ควรทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง กรดโฟลิกหรือโฟเลตเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง พบมากในอาหารประเภทไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม ฯลฯ การทานโฟลิกให้เพียงพอขณะตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับความพิการแต่กำเนิดของลูกน้อย เช่น โรคหลอดประสาทไม่ปิด และดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็ก พบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ตับ เลือด ไข่แดง โดยธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ช่วยนำพาออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางอีกด้วย
• สังกะสี
ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย อาหารที่เป็นแหล่งของสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ และอาหารทะเล เป็นต้น นอกจากโภชนาการคุณแม่ที่แนะนำไปแล้ว การดื่มน้ำระหว่างตั้งครรภ์ในปริมาณที่เพียงพอระหว่างวัน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์มักเหงื่อออกง่าย ปัสสาวะบ่อย และเสียน้ำจากการคลื่นไส้อาเจียนในช่วงที่แพ้ท้อง
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ 9 สัปดาห์
สำหรับคุณแม่ที่เคยดื่มแอลกอฮอล์ก่อนจะรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ อาจมีคำถามว่า “ฉันเคยดื่มเบียร์ตอนที่ยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ จะเป็นอันตรายต่อลูกหรือไม่” เราขออธิบายง่ายๆ ว่า หากดื่มในปริมาณไม่มาก ก็อาจไม่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ หรือไวน์ เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด อาจทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ หรือบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นแท้งก็เป็นได้ ทางที่ดี ควรเลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ เช่น นม นมถั่วเหลือง น้ำผักและน้ำผลไม้แทน
อ้างอิง:
1. Papaioannou GI, Syngelaki A, Poon LC, Ross JA, Nicolaides KH: Normal ranges of embryonic length, embryonic heart rate, gestational sac diameter and yolk sac diameter at 6-10 weeks. Fetal Diagn Ther 2010, 28: 207-219.
2. MedlinePlus [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated 2016 Oct 05]. Fetal development; [reviewed 2015 Sept 26; cited 2016 Oct 27]; [about 2 p.]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm
3. Embryology.ch [Internet]. Gametogenesis; [updated 2008 Feb 20; cited 2016 Oct 27].