แม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 22 สัปดาห์
สรุป
- อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ เท่ากับว่าคุณแม่อุ้มท้องมา 5 เดือนแล้ว ทารกในครรภ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนท้องมีการขยายใหญ่จนเห็นได้ชัด คุณแม่อาจมีอาการหายใจไม่อิ่ม รวมถึงร่างกายเผาผลาญได้มากกว่าปกติ ทำให้รู้สึกขี้ร้อนมากขึ้น
- สัปดาห์ที่ 22 ทารกมีขนาดตัวเท่ากับลูกมะพร้าว โดยเฉลี่ยมีความยาวประมาณ 10.9 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 430 กรัม และเริ่มดูเหมือนทารกแรกเกิดมากขึ้น เพราะใบหน้าจะปรากฎดวงตาและปากชัดเจน
- ช่วงนี้คุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ มีอาการตัวบวม และบวมบริเวณใบหน้าและมือ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้
ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ทารกในครรภ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้าท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่จนเห็นได้ชัด ลูกน้อยที่เติบโตจับจองพื้นที่ส่วนใหญ่ในหน้าท้องของคุณแม่ ทำให้คุณแม่อาจหายใจไม่อิ่มบ้างเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ร่างกายคุณแม่จะมีการเผาผลาญได้มากขึ้นกว่าปกติ อาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองขี้ร้อนมากขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ช่วงอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ท้องของคุณแม่กำลังโตขึ้นอย่างสวยงามได้รูป นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับเก็บภาพไว้สำหรับช่วงการท้องในไตรมาส 2
ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
อายุครรภ์ของคุณแม่เท่ากับ 5 เดือน อีกเพียงหนึ่งเดือนก็ครบไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้ว
ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน
แม้คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกน้อยในท้องเคลื่อนไหวไปมาและเปลี่ยนท่าทางได้บ่อย แต่ทารกยังคงเติบโตอยู่ภายในโพรงมดลูก เพราะปอดและระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์ ช่วงเวลานี้ทารกยังตัวโตไม่เต็มโพรงมดลูก จึงมีพื้นที่ให้ดิ้นได้ในหลากหลายท่าทาง
พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 22 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
1. ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด
สัปดาห์ที่ 22 ทารกมีขนาดตัวเท่ากับลูกมะพร้าวแล้ว โดยเฉลี่ยแล้วทารกจะมีความยาวประมาณ 10.9 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 430 กรัม แม้ตัวจะยังมีขนาดเล็ก แต่ก็เริ่มดูเหมือนทารกแรกเกิดมากขึ้นทุกที เพราะใบหน้าจะปรากฎดวงตาและปากชัดเจน คิ้วอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
2. ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง
ทารกในครรภ์ 22 สัปดาห์ จะมีการขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเตะ หมุนตัว หรือตีลังกา เนื่องจากทารกมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบประสาทและกล้ามเนื้อ จึงมีการยืดเหยียดแขนขา หรือมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวภายในครรภ์ เช่น เสียงของคุณแม่ หรืออาหารที่คุณแม่กินเข้าไป แต่การดิ้นของทารกแต่ละวันไม่เท่ากัน โดยช่วงที่คุณแม่รับประทานอาหาร ลูกน้อยอาจจะขยับตัวบ่อยมากขึ้น
3. อวัยวะและระบบต่าง ๆ
พัฒนาการอวัยวะและระบบต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ 22 สัปดาห์เป็นไปอย่างรวดเร็ว หัวใจของลูกมีขนาดใหญ่พอที่คุณแม่จะได้ยินการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง และเป็นช่วงที่ลูกน้อยเริ่มได้ยินเสียงภายนอก รวมถึงสามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของคุณแม่ได้
เวลานี้ผิวหนังของทารกยังคงถูกปกคลุมไปด้วยไขมันทั่วทั้งร่างกายและเริ่มมีขนอ่อนขึ้น แต่ผิวยังดูค่อนข้างย่น โปร่งแสง และมีสีแดงอมชมพู ขณะที่อวัยวะต่าง ๆ เติบโตต่อเนื่อง ตับอ่อนก็เริ่มผลิตฮอร์โมนสำคัญในร่างกายของทารกแล้ว
การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 22 สัปดาห์
อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ท้องของคุณแม่จะเริ่มยื่นมาข้างหน้า โดยมีขนาดท้องประมาณ 20-24 เซนติเมตร แต่น้ำหนักในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ประมาณสัปดาห์ละ 0.25 กิโลกรัม หรือเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม โดยคุณแม่ท้องแรกอาจเพียงดูอิ่มเอิบ แต่ก็ถึงเวลาที่ต้องใส่ชุดคลุมท้องแล้ว
ช่วงนี้ร่างกายคุณแม่จะมีการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ทำให้รู้สึกร้อนและเหงื่อออกเยอะ จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและสถานที่อับร้อน นอกจากนี้คุณแม่ควรรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อให้ได้รับพลังงานได้ตลอดทั้งวัน ลดอาการอ่อนเพลีย รวมไปถึงอาการอาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย
ในด้านอารมณ์คุณแม่อาจมีอารมณ์แปรปรวนได้ ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนและความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีความกังวลในการเลี้ยงลูกหลังคลอดมากขึ้น รวมทั้งต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน คุณแม่จึงควรต้องผ่อนคลาย ดูแลตัวเอง และพูดคุยกับคุณพ่อเพื่อให้ช่วยดูแลกันและกัน
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
การตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ ร่างกายคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจมีอาการดังต่อไปนี้
- รอยแตก เกิดจากที่กล้ามเนื้อและผิวหนังขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากทารกในครรภ์เติบโต และอาจเกิดจากฮอร์โมนได้อีกด้วย รอยแตกลายอาจเป็นเส้นสีแดงหรือม่วง เกิดขึ้นได้ทั้งหน้าท้อง ต้นขา และหน้าอก คุณแม่ควรทาเบบี้ออยล์หรือครีมบำรุงไว้แต่แรก เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง รวมถึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้นอีกด้วย
- สะดือจุ่น คุณแม่น่าจะสังเกตเห็นว่า สะดือจุ่นหรือปูดออกมาจากที่เดิมเคยบุ๋มลงไป ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากที่ท้องขยายออก เมื่อสวมเสื้อผ้าก็อาจจะเห็นหรือรู้สึกได้ แต่สุดท้ายแล้วสะดือจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมหลังจากคลอดแน่นอน
- มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น คุณแม่บางคนอาจมีความรู้สึกนี้ นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้น รวมไปถึงการคั่งของเลือดที่บริเวณอวัยวะเพศมากขึ้น การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงนี้สามารถทำได้ แต่ควรเลือกท่าทางที่เหมาะสมปลอดภัย หลีกเลี่ยงการกดทับบนหน้าท้องของคุณแม่
- มือและเท้าบวม โดยอาจมีอาการบวมชัดเจนในช่วงเย็น เพราะของเหลวในร่างกายของคุณแม่มีปริมาณมากขึ้น รวมถึงเมื่อมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นไปกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี อาจคั่งอยู่ตามมือและเท้า ทำให้มือและเท้าบวมได้ อย่างไรก็ตามหากมีอาการบวมรุนแรงผิดปกติ ควรรีบพบคุณหมอโดยทันที
- ปวดหลัง คุณแม่มีอาการปวดหลัง เนื่องจากการแบกรับน้ำหนักที่มากขึ้น รวมถึงท้องโตจนแอ่นไปข้างหน้า ทำให้เกิดการดึงรั้ง หลังต้องพยุงน้ำหนัก การใช้หมอนใบใหญ่มาช่วยพยุงในเวลานั่งหรือนอนจะช่วยลดอาการปวดหลังลงได้
- ผมและขนยาวเร็ว การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผมและเล็บของคุณแม่อาจจะหนาขึ้นหรือยาวขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางกลับกันผมและเล็บก็เปราะง่ายเช่นกัน คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน โดยรับประทานอาหารบำรุงเส้นผมและเล็บ เช่น ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ ปลา หรือผักใบเขียว
- หายใจไม่อิ่ม เนื่องจากขนาดตัวของทารกที่เติบโตขึ้น จนมดลูกมีการขยายตัวอาจทำให้เบียดปอดได้ รวมไปถึงการที่ผนังทรวงอกขยาย อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด หายใจไม่อิ่มได้เช่นกัน คุณแม่จึงควรนั่งหลังตรง หรือใช้หมอนหนุนสูงขณะที่นอนและพยายามผ่อนคลาย จะช่วยให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
อาหารคนท้อง 22 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
ในการตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ อาการแพ้ท้องจะเริ่มหายไป คุณแม่จะกลับมารับประทานอาหารได้ปกติ ยังคงแนะนำให้รับประทานครบ 5 หมู่ รวมถึงเน้นอาหารในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวและแป้ง ช่วยให้พลังงานสำหรับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ที่กำลังเติบโต แต่ควรเป็นอาหารไม่ใส่ไขมันหรือเนยมากเกินไป เช่น แป้งไม่ขัดขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช (โฮลวีต) เมล็ดพืช ธัญพืช เผือก มัน ควินัว โฮลเกรน และเซโมลินา รวมถึงพืชตระกูลถั่ว เพราะอาหารประเภทนี้จะผ่านกระบวนการขัดสีน้อย มีเส้นใยอาหารสูง ซึ่งมีประโยชน์มากกว่า
- ผักผลไม้ อาหารที่มีกากใยสูง ช่วยระบบขับถ่ายที่เป็นปกติ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต อะโวคาโด ธัญพืช
- ธาตุเหล็ก เพื่อช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนจากเลือดแม่ไปสู่ลูก เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง ตับ และผักสีเขียวเข้ม
- แคลเซียม เสริมการเติบโตของลูกน้อย เสริมสร้างมวลกระดูกให้กับคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น โยเกิร์ต นมวัว
- น้ำ วันละ 6-8 แก้ว เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 22 สัปดาห์
การตรวจอัลตราซาวด์ในช่วง 22 สัปดาห์ ส่วนมากจะเป็นการตรวจหาความผิดปกติหรือความพิการของทารกอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจตำแหน่งสายสะดือ รก และปริมาณน้ำคร่ำ ในช่วงนี้สามารถตรวจการเจริญเติบโตของทารก ที่เริ่มเห็นใบหน้าดวงตาและปากชัดเจน คุณแม่อาจได้เห็นลูกน้อยอยู่ในท่าเอามือจับสายรก ดูดนิ้วหัวแม่มือ เอามือจับสายรกหรือมีอาการสะอึกได้เช่นกัน
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์
คุณแม่อาจมีความสงสัยในเรื่องการดูแลครรภ์ในระยะนี้ สามารถดูสรุปข้อมูลได้ ดังนี้
อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 22 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง
- ไม่ควรรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุก และหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้ามาในร่างกาย
- ระวังเชื้อโรค เพราะคุณแม่บางคนมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย จึงไม่ควรใปในสถานที่ที่คนแออัด
- ห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ห้ามหายาต่าง ๆ มารับประทานเอง แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านทั่วไป เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- งดออกกำลังกายที่ทำให้เกิดแรงกระแทกได้ ช่วงนี้ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว หรือกระแทกร่างกาย แต่ควรออกกำลังกายทั่วไปในระดับที่เหมาะสม รวมถึงไม่ควรก้ม เงย บ่อย ๆ เพราะเสี่ยงต่อการหกล้มได้
- หลีกเลี่ยงความเครียด ในช่วงนี้คุณแม่หลายคนกำลังทำงานไปด้วย อาจเกิดความเครียดได้ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดสารเคมีหรือฮอร์โมนที่ส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ และอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้อีกด้วย
อาการแบบไหนเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นอาการผิดปกติที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ โดยมักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ มีอาการตัวบวม และบวมบริเวณใบหน้าและมือ ซึ่งภาวะครรภ์เป็นพิษส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก เมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปี หรืออายุมากกว่า 35 ปี
- คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เส้นเลือดไม่ค่อยดี มีโอกาสเส้นเลือดตีบได้ง่าย
- คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด หรือมากกว่า 2 คน
- คุณแม่มีภาวะมีบุตรยาก หรือเป็นการตั้งครรภ์ที่ใช้เทคโนโลยีช่วย
- มีพันธุกรรมหรือคนในครอบครัวมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
- คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต ไทรอยด์ ความดันโลหิตสูง โรคแพ้ภูมิตัวเอง
สัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ ที่คุณแม่ควรสังเกต
- น้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็วผิดปกติ
- มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะใบหน้า มือ เท้า
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น
- ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ประมาณ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- ปวด หรือจุกเสียดท้องตอนบน บริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงด้านขวา
- ตาพร่ามัว สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว คลื่นไส้ หรืออาเจียน หายใจถี่
- ตรวจพบโปรตีนในส่วนเกินในปัสสาวะ และระดับเกล็ดเลือดลดลง
- ทารกดิ้นน้อย ตัวเล็ก โตช้า
หากพบสัญญาณเตือนภาวะครรภ์เป็นพิษเหล่านี้ คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด อย่างไรก็ดีสามารถตรวจคัดกรองได้จากการประเมินปัจจัยเสี่ยงในเบื้องต้น และสามารถป้องกันได้ด้วยการไปตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัดอย่างเคร่งครัด หากเกิดความผิดปกติจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
อ้างอิง:
- 22 weeks pregnant – Week by week guide, nhs.uk
- ลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่ว่าที่คุณแม่ควรรู้, Pobpad
- คุณแม่รู้ไหม ลูกดิ้น..บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด, โรงพยาบาลเปา
- เซ็กซ์…ยามตั้งครรภ์, โรงพยาบาลยันฮี
- ตรวจอัลตราซาวด์บ่อยๆ จะส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่?, โรงพยาบาลพญาไท
- ครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 2 (อายุครรภ์ 4 - 6 เดือน), โรงพยาบาลเปาโล
- ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, hellokhunmor
- ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2566