MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: แม่ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 38 สัปดาห์

Add this post to favorites

แม่ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 38 สัปดาห์

ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเริ่มตั้งครรภ์จนเข้าถึงสัปดาห์ที่ 38 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่คงรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากมาย ตอนนี้ก็ถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้วลูกน้อยของคุณแม่ใกล้ได้ออกมาลืมตาดูโลกแล้วและอาจพร้อมออกมาทักทายคุณแม่ได้ทุกเมื่อ

2นาที อ่าน

สรุป

  • ในช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ลูกน้อยในท้องยังคงมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง สีของดวงตาปรากฏขึ้น ขนอ่อนที่ปกคลุมเริ่มร่วงหลุดไป ปอดและเส้นเสียงแข็งแรงมากขึ้น
  • เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ตอนนี้ลูกน้อยอยู่ในท่าเตรียมพร้อมใกล้คลอดโดยเคลื่อนศีรษะลงไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานแล้ว ทำให้หน้าท้องมีขนาดลดลงคุณแม่จึงหายใจได้สะดวกมากขึ้น
  • คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการบวมบริเวณช่วงเท้ามากขึ้นโดยเฉพาะช่วงตอนเย็นซึ่งเป็นอาการปกติของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีอาการบวมตามมือ ใบหน้า และเท้ามากขึ้น พร้อมกับอาการตาพร่ามัว ปวดหัวไม่หาย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และลูกดิ้นน้อยลงให้รีบพบแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณของครรภ์เป็นพิษได้

ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ลูกน้อยในท้องยังคงมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเริ่มปรากฎสีของดวงตาแต่อาจจะเห็นได้ไม่ชัดมากจนกว่าลูกน้อยจะอายุได้ประมาณ 1 ขวบ ส่วนขนอ่อนที่เคยปกคลุมทั่วร่างกายของลูกน้อยก็ค่อย ๆ หลุดร่วงออกไปเพื่อเตรียมพร้อมสู่อ้อมอกคุณแม่

ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

ตอนนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 38 สัปดาห์แล้ว เท่ากับว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้นคุณแม่ก็จะได้เจอหน้าลูกน้อยแล้ว

ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ตอนนี้ลูกน้อยของคุณแม่ได้เคลื่อนศีรษะลงไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานแล้ว ทำให้หน้าท้องของคุณแม่มีขนาดลดลง คุณแม่จึงหายใจได้สะดวกมากขึ้น ไม่อึดอัดเหมือนก่อนหน้านี้ โดยอาการนี้เรียกว่า “อาการท้องลด” คุณแม่พร้อมเจอลูกน้อยหรือยัง?

ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ อาการคนท้องใกล้คลอดมีอะไรบ้าง

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 38 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1. ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

ลูกน้อยในท้องมีขนาดตัวยาวโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ระหว่าง 17 ถึง 20 นิ้ว และมีน้ำหนักตัวอยู่ประมาณ 2.8 ถึง 3.4 กิโลกรัมแล้ว

2. ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ ลูกดิ้นบ่อยแค่ไหน

โดยปกติแล้วทารกจะดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากช่วงสัปดาห์ที่ 16-20 ของการตั้งครรภ์ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นลูกน้อยในท้องจะดิ้นในอัตราที่คงที่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งช่วงใกล้คลอด ในช่วงของการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 38 คุณแม่จะรู้สึกถึงการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างชัดเจน และในหนึ่งวันลูกน้อยอาจมี การขยับตัวหรือดิ้นมากถึง 30 ครั้งต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

3. อวัยวะและระบบต่าง ๆ

ลูกน้อยมีพัฒนาการของเส้นเสียงและปอดที่ดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น เริ่มมีสีตาปรากฏขึ้นที่ดวงตา เล็บจะยาวขึ้นจนถึงปลายนิ้ว อวัยวะและระบบต่าง ๆ ของลูกเริ่มสมบูรณ์และพร้อมทำงานแล้ว คุณแม่เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูกได้เลย

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 38 สัปดาห์

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 38 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกหายใจได้สะดวกมากขึ้นเพราะลูกน้อยเคลื่อนตัวลงต่ำไปอยู่บริเวณอุ้งเชิงกรานแต่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกถึงแรงกดทับบริเวณอุ้งเชิงกรานแทน อาจมีน้ำนมเหลืองไหลออกมาบ้าง และอาจมีอาการบวมที่เท้าซึ่งเป็นอาการปกติของการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการบวมบริเวณเท้า มือ หรือใบหน้ามากกว่าปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะครรภ์เป็นพิษได้

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

ในช่วงของการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 38 คุณแม่อาจพบลักษณะอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อย เมื่อคุณแม่มีอาการท้องลดจากการที่ลูกน้อยเคลื่อนตัวต่ำลงมายังบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งใกล้กับบริเวณของกระเพาะปัสสาวะทำให้พื้นที่กระเพาะปัสสาวะลดน้อยลงคุณแม่จึงรู้สึกปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • คันบริเวณหน้าท้อง คนท้องจะรู้สึกคันที่หน้าท้องทำให้คุณแม่รู้สึกอยากเกาอยู่บ่อยครั้ง หากคุณแม่รู้สึกคันพยายามอย่าเกาเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากกว่าเดิม และควรทาครีมที่ลดอาการคัน หรือครีมที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว
  • บวมตามเท้าและข้อเท้า เกิดจากการที่ครรภ์กดทับเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองไม่ดี เกิดการคั่งของเลือด นำมาซึ่งอาการบวมของร่างกายบางส่วน อีกทั้งฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงของคุณแม่ยังส่งผลให้เนื้อเยื่อดูดซึมและกักเก็บของเหลวมากขึ้น อาการบวมตามข้อมือ ข้อเท้าจึงเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หากมีอาการบวมผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
  • นอนไม่หลับ คุณแม่ที่อยู่ในช่วงใกล้คลอดอาจเผชิญกับปัญหาของการนอนที่เป็นผลมาจากการวิตกกังวล หรือตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ รวมถึงการถูกรบกวนจากการนอนทั้งการที่ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ และลูกดิ้นรุนแรงจนปลุกให้คุณแม่ตื่นซึ่งเป็นอาการปกติของการตั้งครรภ์
  • ตกขาว ในช่วงนี้คุณแม่ยังมีอาการตกขาวอยู่ โดยมีลักษณะเป็นก้อนมูกใสอาจมีสีเหลือง หรือสีน้ำตาลบริเวณปากมดลูกตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์
  • เจ็บเตือน ลักษณะของอาการเจ็บเตือน คือ คุณแม่จะรู้สึกถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกอยู่บ่อยครั้งแต่อาจไม่ได้เป็นจังหวะสม่ำเสมอ

อาหารคนท้อง 38 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

  • แคลเซียม เพราะแคลเซียมเป็นสารอาหารที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟันของลูกน้อย โดยเฉพาะช่วงใกล้คลอด การเสริมแคลเซียมจากนม ไข่ เต้าหู้ หรืออาหารอื่น ๆ
  • โปรตีน คนท้องยังต้องการปริมาณโปรตีนมากที่สุดเพื่อนำไปใช้ในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ให้แก่ลูกน้อยในท้อง คุณแม่จึงควรทานอาหารที่เสริมโปรตีนจากเนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วประเภทต่าง ๆ
  • กรดไขมันที่จำเป็น กรดไขมันอย่าง DHA และโอเมก้า 3, 6, 9 เป็นอีกสารอาหารที่สำคัญหนึ่ง เพราะมีส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาเซลล์ประสาทและเซลล์สมองของลูกน้อยในท้อง ซึ่งพบมากในเนื้อปลา อาหารทะเลบางชนิด และถั่วประเภทต่าง ๆ
  • โฟเลต คุณแม่ควรทานอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลตหรือกรดโฟลิกจากตับ ผักใบเขียว หรือธัญพืช เพราะในโฟเลตเป็นสารอาหารที่ลดความเสี่ยงต่ออาการผิดปกติของลูกน้อยในท้องได้

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 38 สัปดาห์

การตรวจอัตราซาวด์ของทารกในช่วงไตรมาสที่ 3 ส่วนใหญ่จะตรวจในช่วงสัปดาห์ที่ 28-36 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่ไม่ได้ตรวจอัตราซาวด์ในช่วงดังกล่าวจำเป็นต้องตรวจในช่วงสัปดาห์นี้เพื่อหาปริมาณน้ำคร่ำ ประเมินสุขภาพของรก ตรวจการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ น้ำหนักตัว ตรวจหาความผิดปกติของทารก การเคลื่อนไหว และท่าก่อนคลอดเพื่อเตรียมพร้อมก่อนคลอดลูกน้อย

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 38 สัปดาห์

อาหารที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 38 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่คุณแม่จะเริ่มมีอาการใกล้คลอดและควรระมัดระวังเรื่องการทานอาหารเป็นพิเศษโดยเฉพาะของหวาน เพราะนอกจากจะทำให้น้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มมากขึ้นกว่าเกณฑ์ปกติแล้ว ยังอาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารรสจัด อาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ และควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

อาการเสี่ยงครรภ์เป็นพิษที่คนท้องควรระวัง

อาการครรภ์เป็นพิษเกิดจากการฝังตัวที่ผิดปกติของทารกทำให้ลูกน้อยขาดออกซิเจนหรือขาดเลือด ส่วนคุณแม่อาจได้รับสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดแทนจึงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้น ลักษณะของอาการเป็นพิษ ได้แก่

  • มีอาการบวมมากบริเวณใบหน้า มือ และเท้า
  • มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ปวดหัวมากกว่าปกติ ทานยาแล้วไม่หาย
  • ลูกในท้องดิ้นน้อย
  • ตาพร่ามัว
  • ปวดหรือจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครง

อ้างอิง:

  1. 38 Weeks Pregnant, what to expect
  2. 38 Weeks Pregnant, American Pregnancy Association
  3. 6 สัญญาณเตือนการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
  4. สุขใจได้เป็นแม่, UNFPA กรมอนามัย
  5. การดิ้นของทารกในครรภ์ สัญญาณที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
  6. 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  7. ทานอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ทั้งแม่และลูกเมื่อเข้าสู่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์, โรงพยาบาลบางปะกอก
  8. ครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  9. ตรวจอัลตราซาวด์บ่อยๆ จะส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่?, โรงพยาบาลพญาไท

อ้างอิง ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2566