MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: คุณแม่ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 37 สัปดาห์

Add this post to favorites

คุณแม่ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 37 สัปดาห์

ช่วงอายุครรภ์นี้ ถือเป็นโค้งสุดท้ายก่อนคลอดแล้วนะคะ ทารกน้อยในครรภ์เติบโตเกือบสมบูรณ์เต็มที่แล้ว พร้อมออกสู่โลกภายนอก ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่อาจจะเริ่มมีอาการเจ็บท้องเตือนได้ เพราะทารกเริ่มกลับตัว ศีรษะจะไหลลงต่ำสู่อุ้งเชิงกรานของคุณแม่ สำหรับการตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจจะแยกยากนิดนึงระหว่างเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องจริง คุณแม่ควรศึกษาความแตกต่างของอาการ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมาคลอดที่โรงพยาบาล

2นาที อ่าน

สรุป

  • อายุครรภ์ 37 สัปดาห์นี้ ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนคลอดของคุณแม่แล้ว ทารกในครรภ์จะกลับหัว ศีรษะเคลื่อนตัวลงต่ำเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้ในช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกปวดหน่วงบริเวณเชิงกราน ด้วยขนาดครรภ์ที่ขยายโตมากขึ้นจน ไปกดทับอวัยวะภายในต่าง ๆ ส่งผลให้ปวดปัสสาวะบ่อย และเป็นตะคริวได้ง่าย
  • คุณแม่ต้องสังเกตอาการต่าง ๆ ของร่างกาย ศึกษาอาการความแตกต่างระหว่างเจ็บท้องเตือน กับเจ็บท้องคลอด รวมไปถึงอาการที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะมีโอกาสเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 
  • สัปดาห์นี้คุณแม่และคุณพ่อ อาจช่วยกันเริ่มเตรียมเก็บกระเป๋าสำหรับไปคลอด จัดสถานที่เพื่อรองรับลูกน้อยหลังคลอด และทำจิตใจให้สบาย ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกายและจิตใจในการเลี้ยงดูลูกน้อยนะคะ

ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

คุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณอุ้งเชิงกราน เพราะศีรษะเด็กที่ลงต่ำ ทำให้มดลูกไปกดทับเส้นเลือดดำบริเวณนั้น ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย เป็นตะคริวง่าย เท้าบวม แต่คุณแม่ก็จะรู้สึกหายใจสะดวกขึ้น ไม่แน่นท้องเท่าช่วงอายุครรภ์ก่อนหน้านี้

ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

อายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ เท่ากับคุณแม่ท้อง 9 เดือนเต็มแล้วค่ะ โค้งสุดท้ายเตรียมพร้อมสำหรับลูกน้อยออกสู่โลกภายนอกแล้วค่ะ

ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกในครรภ์จะเริ่มกลับตัว แล้วเคลื่อนตัวลงต่ำไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานหรือใกล้บริเวณปากมดลูกของคุณแม่ ซึ่งเป็นท่าพร้อมคลอดตามธรรมชาติ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1. ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

ทารกในครรภ์ 37 สัปดาห์จะมีขนาดประมาณหัวผักกาด โดยมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเกือบ 2,800-3,000 กรัม

2. ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ในช่วงนี้ทารกในครรภ์อาจจะดิ้นน้อยลงเนื่องจากขนาดตัวที่ใหญ่มากขึ้น แต่คุณแม่ยังคงต้องหมั่นสังเกตการดิ้นของลูกน้อยให้เกิน 12 ครั้งต่อวัน โดยทารกอาจจะหลับในช่วงกลางวัน และตื่นในช่วงกลางคืนได้

3. อวัยวะและระบบต่างๆ

ในช่วงนี้ปอดของทารกเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้ว เล็บมือ เล็บเท้า และเส้นผมจะยาวขึ้น รวมถึงสมองมีการเจริญเติบโตขึ้นมาก

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 37 สัปดาห์

ท้องของคุณแม่จะเคลื่อนลงต่ำ ทำให้หายใจสะดวกมากขึ้น และไม่แน่นท้องเท่าเดิม แต่คุณแม่อาจจะเริ่มปวดหน่วง ๆ บริเวณอุ้งเชิงกราน และเดินไม่สะดวกเท่าที่ควร เนื่องจากเท้าเริ่มบวม ซึ่งคุณแม่ควรงดการเดินทางไกล หรือกิจกรรมหนักต่าง ๆ และเดินช้าลง เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย รวมถึงลดโอกาสคลอดก่อนกำหนดด้วย

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

  • แสบร้อนกลางอก ขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้นมากจนอาจไปกดทับกระเพาะอาหาร รวมถึงระบบย่อยอาหารของคุณแม่ได้
  • มีเลือดออก หากมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงใกล้คลอด เนื่องจากช่วงนี้ปากมดลูกอาจจะเริ่มเปิด หรือเยื่อบุบริเวณช่องคลอดฉีกขาดได้ แต่หากมีเลือดออกเยอะผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีค่ะ
  • รอยแตกลาย หน้าท้องที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ อาจทำให้เกิดรอยแตกลายได้ง่าย คุณแม่ต้องหมั่นทาโลชั่นหรือออยล์ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  • แรงกดในช่องท้อง เกิดจากการที่มดลูกไปกดทับเส้นเลือดบริเวณอุ้งเชิงกราน เพราะศีรษะของทารกในครรภ์เคลื่อนลงต่ำ จึงทำให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยในช่วงนี้ และปวดหน่วงบริเวณดังกล่าวด้วย
  • มีปัญหาด้านการนอน อาจเพราะคุณแม่ต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึก และหลับไม่ได้สนิทมากนัก หรืออาจรู้สึกกังวลกับการเตรียมคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่พักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นคุณแม่ควรหาเวลางีบพักระหว่างวัน
  • การบีบตัว ในช่วงอายุครรภ์นี้ มดลูกอาจเริ่มมีการบีบตัว แต่เมื่อคุณแม่นั่งลงสักพักอาการนี้จะหายไป และเกิดห่าง ๆ ออกไปในวันอื่น ๆ ซึ่งหมายถึงการเจ็บท้องเตือน แต่หากมดลูกมีการบีบตัวสม่ำเสมอ และห่างกันไม่เกิน 5 นาที คุณแม่ควรเริ่มเตรียมตัวไปโรงพยาบาลได้เลยนะคะ
  • คลื่นไส้ เป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงใกล้คลอด ซึ่งหากมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนมากผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป

อาหารคนท้อง 37 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

ในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนคลอดนี้ คุณแม่ควรรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เยอะขึ้น และอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายคุณแม่เองสำหรับการคลอด และสำหรับลูกน้อยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมถึงคุณแม่อาจเริ่มรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยกระตุ้นน้ำนม อาทิ น้ำขิง ใบกระเพรา ฟักทอง ผักเพิ่มน้ำนม เป็นต้น เพื่อที่ภายหลังคลอดคุณแม่จะได้มีน้ำนมให้แก่ลูกน้อยได้ทันที

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์

คุณหมออาจแนะนำให้ทำการตรวจประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยวิธี Biophysical profile: BPP โดยอาจวัดปริมาณน้ำคร่ำ ควบคู่กับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทารก (Nonstress test: NST) เพื่อตรวจประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ระยะก่อนคลอด โดยดูจากจังหวะการเต้นของหัวใจขณะทารกเคลื่อนไหว

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

คุณแม่ต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นโปรตีนและแคลเซียม เน้นเนื้อสัตว์ เนื้อปลา รวมถึงผักใบเขียวต่าง ๆ อาหารที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ และคุณแม่ยังสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการกระตุ้นน้ำนมแม่โดยรับประทานอาหารที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ อาทิ ขิง หัวปลี มะละกอ อินทผลัม และฟักทอง เป็นต้น

อาการแบบไหนเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ พบว่ามีอาการผิดปกติกับร่างกายเหล่านี้ อาทิ มือ เท้า หน้าบวม ปวดศีรษะมาก ทานยาไม่หายปวด ความดันโลหิตสูงผิดปกติ ตาพร่ามัว ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นหลังตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งหากพบว่ามีครรภ์เป็นพิษ จะต้องรีบทำการคลอดทารกโดยทันที

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์

อีกไม่เกิน 2 ถึง 3 สัปดาห์ คุณแม่จะต้องคลอดลูกน้อยแล้ว ดังนั้น คุณแม่ต้องเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ โดยการอ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกายเบา ๆ หรือจัดเตรียมเสื้อผ้า สถานที่ในการเลี้ยงดูลูกน้อยหลังคลอด รับประทานอาหารสำหรับคนท้องที่มีประโยชน์ หรืออาหารที่มีส่วนช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ เพื่อพร้อมสู่การคลอดอย่างสมบูรณ์ที่สุดค่ะ

อ้างอิง:

  1. 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/9%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3
  2. 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล https://www.paolohospital.com/th-TH/kaset/Article/Details/9-%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C
  3. คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/106
  4. เตรียมความพร้อมก่อนคลอดเจ้าตัวเล็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ https://www.bangkokhospital.com/content/prepare-before-birth
  5. 5 ผัก ตัวช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่, โรงพยาบาลบางปะกอก 3 https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/246
  6. การเฝ้าระวังสุขภาพทารกในครรภ์ (Antenatal fetal surveillance), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4418/data/antena.htm
  7. การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/medical-student-5/3693/
  8. ครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง, โรงพยาบาลกรุงเทพ https://www.bangkokhospital.com/content/preeclampsia-pregnant-woman-must-be-careful

อ้างอิง ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2566