MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: แม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 18 สัปดาห์

Add this post to favorites

แม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 18 สัปดาห์

การตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสสองอย่างเต็มรูปแบบเมื่อคุณแม่อายุครรภ์ครบ 18 สัปดาห์ ทารกมีขนาดประมาณเท่าพริกหยวก    คุณแม่จะเริ่มรู้สึกการเคลื่อนไหวไปมาของทารกในครรภ์ได้เล็กน้อย ซึ่งอาการจะคล้ายปลาตอดในท้อง หรือเหมือนมีฟองอากาศเล็ก ๆ แต่ในช่วงอายุครรภ์นี้ อาจจะยังไม่ได้รู้สึกทุกครั้งเนื่องจากทารกยังไม่โตมากนัก แต่จะรู้สึกได้ประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ขนาดของครรภ์อายุ 18 สัปดาห์จะขยายใหญ่ขึ้นมาก คุณแม่จะเริ่มมีอาการคนท้องต่าง ๆ อาทิ ปวดหลัง นอนหงายไม่สะดวกมากนัก ซึ่งคุณแม่อาจต้องมีการปรับรูปแบบของพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายมีความสบาย ลดความเมื่อยล้า และผ่อนคลายขึ้น

2นาที อ่าน

สรุป

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ จะรับรู้ถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ได้ โดยความรู้สึกเหมือนมีปลาตอดในท้อง หรือเหมือนมีฟองอากาศ และบางครั้งทารกอาจดิ้นแรงจนรู้สึกคล้ายโดนเตะในท้องเลยทีเดียว
  • คุณหมอจะทำการอัลตราซาวด์เพื่อตรวจการเจริญเติบโตของทารก และตรวจความสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติและพิการของทารกในครรภ์ได้ และในอายุครรภ์นี้จะสามารถบอกเพศของทารกได้แม่นยำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
  • เมื่อทารกขนาดตัวใหญ่ขึ้น และอาจไปกดทับเส้นเลือดที่อยู่บริเวณท้อง ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายคุณแม่หมุนเวียนไม่ดีนัก จนอาจมีอาการปวดหลัง อ่อนเพลีย มือเท้าบวม เป็นตะคริวได้ง่าย คุณแม่ควรเปลี่ยนท่านอนเป็นท่าตะแคง ออกกำลังกายเบา ๆ ดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ ผ่อนคลายอิริยาบถต่าง ๆ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากขึ้น

ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ขนาดของครรภ์ที่ขยายใหญ่ขึ้นมาก จนทำให้คุณแม่อาจรู้สึกปวดหลัง ไม่สบายตัว เวลานอนหงายจะเริ่มรู้สึกอึดอัด จึงควรเปลี่ยนมานอนตะแคงและอาจหาหมอนข้างให้วางพักขาเพื่อรู้สึกสบายตัวมากขึ้น รวมถึงยังช่วยลดการกดทับเส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ด้านหลังช่องท้อง ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเวียนศีรษะได้

ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

เมื่ออายุครรภ์ครบ 18 สัปดาห์เต็ม จะหมายถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ 5 เดือนแล้วค่ะ หรือเกือบครึ่งทางของการตั้งครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์ทั้งหมด คือ 40 สัปดาห์ ในอายุครรภ์นี้คุณหมอจะเริ่มตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูความเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงวัดความยาวของปากมดลูกด้วย

ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกในครรภ์ 18 สัปดาห์จะเจริญเติบโตอย่างเต็มที่และมดลูกจะขยายตัวจนไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ได้ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเวียนหัว หัวใจทำงานหนัก เพราะการไหลเวียนของเลือดไม่ดี และเกิดอาการหิวบ่อย เหนื่อยง่ายเพราะทารกโตอย่างรวดเร็วในครรภ์ 18 สัปดาห์นี้

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 18 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1.ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

ทารกมีความยาวประมาณ 16-18 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเกือบ 200 กรัม

2.ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ทารกจะเริ่มดิ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรับรู้ได้ว่าลูกน้อยเริ่มดิ้นแล้ว โดยมีอาการคล้ายมีปลาตอดในท้อง หรือมีฟองอากาศ

3.อวัยวะและระบบต่างๆ

คุณหมอจะสามารถเห็นและคาดเดาเพศของทารกเมื่ออายุครรภ์ 18 สัปดาห์ โดยหากเป็นเพศชาย เมื่อทำการอัลตราซาวด์จะเห็นอวัยวะเพศชัดเจนและคาดเดาเพศได้แม่นยำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกรณีเป็นทารกเพศหญิง อวัยวะสืบพันธุ์ต่าง ๆ จะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทารกจะมีขน ผม เล็บยาวขึ้น ตับเริ่มสร้างเม็ดเลือดแดง และถุงน้ำดีผลิตน้ำดี และลูกเริ่มปัสสาวะออกมาในน้ำคร่ำ

 

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 18 สัปดาห์

 

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 18 สัปดาห์

ขนาดของร่างกายคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงขยายใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน จนทำให้เริ่มมีอาการปวดหลัง เกิดตะคริวได้ง่าย มีอาการมือและเท้าบวมเล็กน้อย การขยายของผิวหนังช่วงท้องให้ทำให้เกิดรอยแตกได้ง่าย คุณแม่จึงควรทาโลชั่นหรือออยล์เป็นประจำเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณผิวหนังท้อง และลดอาการรอยแตกได้

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

  • มือและเท้าบวม เกิดจากระบบการไหลเวียนของเลือด และหัวใจทำงานได้ไม่ดี รวมถึงมีฮอร์โมนสูงขึ้น ร่างกายจะดูดซึมน้ำไว้มากขึ้น จึงอาจส่งผลให้มือ เท้าบวมเล็กน้อยได้ การนอนตะแคงและยกเท้าขึ้นสูงช่วยลดอาการบวมลงได้ แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์พบว่ามีอาการบวมขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
  • ปวดหลัง ขนาดของทารกในครรภ์ที่โตขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือด รวมถึงน้ำหนักมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดการปวดหลังได้
  • เป็นตะคริวที่ขา จากระบบไหลเวียนของเลือดในร่างกายไม่ดี หรือสาเหตุจากร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ จนทำให้เกิดอาการเป็นตะคริวที่ขา หรือนิ้วเท้าได้ง่าย คุณแม่จึงควรดื่มน้ำเยอะขึ้น ทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง แช่เท้าในน้ำอุ่นก็จะช่วยลดอาการตะคริวได้
  • เส้นเลือดขอด เมื่อเกิดความดันสูงขึ้นเพราะการไหลเวียนของเลือดในร่างกายไม่ดี ส่งผลให้เกิดเส้นเลือดขอดได้ง่าย คุณแม่ควรออกกำลังกายเบา ๆ และเวลานั่งหรือนอนควรหาอะไรหนุนเท้าให้สูงขึ้น
  • ปัญหาด้านการนอน การนอนตะแคง และหมอนหนุนเท้าและขา จะช่วยให้รู้สึกหลับสบายขึ้น เพราะทารกไม่ไปกดทับเส้นเลือดบริเวณท้องมากนัก
  • เลือดกำเดาไหล เมื่อเกิดอาการ ให้คุณแม่นอนราบหรือหงายศีรษะขึ้น และประคบเย็นเพื่อให้เลือดหยุดไหล
  • กำเนิดดาวเตะ ทารกในครรภ์มีกล้ามเนื้อแขนขาที่แข็งแรงมาก และขนาดของทารกในครรภ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้คุณแม่รู้สึกได้เวลาเคลื่อนที่ไปมา

อาหารคนท้อง 18 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ ควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ ผักใบเขียว อัลมอนด์ ปลาตัวเล็ก เมล็ดฟักทอง และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ประมาณวันละ 6-8 แก้ว ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล แต่เพิ่มโปรตีนมากขึ้น เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของลูกน้อย

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 18 สัปดาห์

คุณหมอจะทำการตรวจความผิดปกติของทารกอย่างละเอียด เมื่ออายุครรภ์ครบ 18 สัปดาห์ ซึ่งจะสามารถดูความผิดปกติหรือความพิการของทารกในครรภ์ได้ รวมถึงวัดความยาวและน้ำหนัก เพื่อดูการเจริญเติบโต และการดูตำแหน่งของรก สายสะดือ โดยคุณแม่บางท่านที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติครอบครัวมีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม คุณแม่อาจเลือกวิธีเจาะน้ำคร่ำ โดยคุณหมอจะนำน้ำคร่ำไปตรวจในช่วงอายุครรภ์นี้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำคร่ำมากเพียงพอ 

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

งดกิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือนบริเวณท้อง เพราะอาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ รวมถึงระมัดระวังท่าทางในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่อาจไปกดทับบริเวณท้องมากเกินไป ในส่วนของการรับประทานอาหาร ควรลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลสูง เพราะอาจทำให้มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้

อาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป ทำอย่างไรดี

คุณแม่แต่ละท่านอาจมีอาการแพ้ท้องหนัก เบา แตกต่างกันไป โดยปกติจะมีอาการแพ้ท้องระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสแรก และจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่สอง แต่หากคุณแม่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์แล้วยังมีอาการแพ้ท้องรุนแรง ส่งผลให้รับประทานอาหารไม่ได้ หรือรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ เพราะการอาเจียนอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ เป็นลม หน้ามืด และอาจเกิดอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้

เมื่อทารกในครรภ์ครบ 18 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกรับรู้ถึงการเคลื่อนที่ไปมาได้ ทำให้รู้สึกผูกพันต่อทารกมากยิ่งขึ้น โดยคุณแม่อาจสัมผัสด้วยการลูบท้องเบา ๆ พูดคุยกับลูกน้อยบ่อยครั้ง ร้องเพลง เล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ฟัง นอกจากจะเป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสซึ่งเป็นการสร้างพัฒนาการที่ดีในการได้ยินของทารกแล้ว ยังช่วยคลายความกังวล ลดความเครียดของคุณแม่ รู้สึกผ่อนคลายและเตรียมรับมือกับอาการต่าง ๆ ที่พบเมื่อมีอายุครรภ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ได้

อ้างอิง:

  1. 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
  2. 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  3. คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
  4. มือบวม เท้าบวมขณะตั้งครรภ์ เกิดจากเหตุใด?, โรงพยาบาลพญาไท

5.ตะคริวระหว่างตั้งครรภ์ สามารถป้องกันดูแลได้, โรงพยาบาลบางปะกอก

อ้างอิง ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2566