แม่ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 7 สัปดาห์
ในการตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ คุณแม่อาจจะยังไม่ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายนอกมากเท่าไหร่ เพราะสิ่งมีชีวิตน้อยๆ ในร่างกายของว่าที่คุณแม่มีความยาวเพียง 18 มม. เท่านั้น แม้ว่ายังมีขนาดที่เล็กมากแต่พัฒนาการเด็กในครรภ์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว มาดูพัฒนาการของลูกน้อย และเทคนิคบำรุงครรภ์ในไตรมาสที่1 กัน
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 7 สัปดาห์
ช่วงตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมาก แขนขานิ้วมือและนิ้วเท้าเริ่มเป็นรูปร่าง ในส่วนของใบหน้าจะเริ่มเห็นรูจมูกชัดเจนขึ้น และเมื่อกล้ามเนื้อของลูกพัฒนาแล้ว ลูกจะเริ่มเคลื่อนไหวเล็กน้อย ซึ่งคุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวนั้น
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์
เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงของคุณแม่มีผลต่อความรับรู้กลิ่นและรสชาติ สิ่งที่คุณชอบก่อนตั้งครรภ์ อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบในตอนนี้ แม้แต่น้ำหอมที่คุณเคยโปรดปรานก็อาจทำให้คุณเหม็นได้ คุณแม่อาจมีความอยากทานอาหารบางอย่าง หรืออาจมีอาการในทางตรงข้าม คือมีปัญหาเรื่องคลื่นไส้แพ้ท้อง ไม่อยากอาหาร ซึ่งมักจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในตอนเช้า
สาระน่ารู้! โภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 7 สัปดาห์
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีพัฒนาการด้านเซลล์สมอง และระบบประสาทส่วนกลาง คุณแม่จึงควรได้รับโภชนาการที่ดี มีสารอาหารที่ประกอบไปด้วยกรดโฟลิกและธาตุเหล็ก ที่ช่วยทำให้เซลล์อวัยวะสำคัญต่างๆ ของลูกน้อยแข็งแรง และควรเสริมด้วยโอเมก้า 3 ที่ช่วยให้สมองของลูกเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งสามารถหาได้จากน้ำมันปลา ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ถั่วอัลมอนด์ ถั่วเหลือง ถั่ววอลนัท เมล็ดฟักทอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณแม่ต้องแน่ใจว่าได้คุณแม่ทานอาหารครบ 5 หมู่อย่างสมดุล และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการทานอาหารเสริม เช่น วิตามินและแร่ธาตุที่ควรเสริม
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ 7 สัปดาห์
เป็นเรื่องปกติที่ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จะไม่ชอบอาหารบางประเภทเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีกลิ่นแรง แต่เพื่อคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วน คุณแม่ควรเลือกทานอาหารที่ "คล้ายกัน" คืออยู่ในกลุ่มอาหารเดียวกัน ให้คุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกัน เช่น หากคุณไม่สามารถทานปลาได้ ให้กินไก่หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ หากคุณไม่สามารถกินส้ม หรือผักสีเหลืองที่อุดมไปด้วยวิตามินได้ ก็สามารถชดเชยด้วยการกินผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารชนิดเดียวกัน เช่น ลูกพีช และแอปริคอต เป็นต้น
อ้างอิง:
1. Danforth DN, Scott JR: Danforth's obstetrics and gynecology, 9th edn. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2003.
2. Womenshealth.gov [Internet]. Washington, D.C.: Office on Women’s Health in the Office of the Assistant Secretary for Health in the US Department of Health and Human Services; [updated 2010 Sept. 27; cited 2016 Nov 3].