MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: แม่ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 6 สัปดาห์

Add this post to favorites

แม่ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 6 สัปดาห์

คุณแม่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เจ้าตัวน้อยเกิดความเปลี่ยนแปลง เติบโตขึ้น ส่วนคุณแม่จะเริ่มมีอาการแพ้ท้อง รู้สึกเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ทำให้รับประทานอาหารได้น้อย จึงควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ เริ่มกินตั้งแต่เช้า และควรจิบน้ำขิงอุ่น ๆ จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ สำหรับอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ดีขึ้นแล้วหายได้เองในช่วงเดือนที่ 4 

2นาที อ่าน

สรุป

  • อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ร่างกายของแม่จะเปลี่ยนแปลง เต้านมจะใหญ่ขึ้น อาจรู้สึกเจ็บเมื่อกดหรือจับเต้านม
  • คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องมากขึ้น ควรระมัดระวังไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ อาจเป็นอันตรายต่อแม่และลูกในท้องได้
  • อาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียที่เกิดขึ้น มาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวได้

ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

คุณแม่บางคนอาจจะทราบว่า ตัวเองตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายจะเปลี่ยนแปลง เริ่มมีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้น อารมณ์ไม่คงที่ เกิดอาการเวียนหัวได้ง่าย เต้านมของคุณแม่ก็เริ่มโตขึ้น อาจมองเห็นเส้นเลือดขยายตัว ฐานนมและหัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ร่างกายของคุณแม่กำลังเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องมาก จนทำให้รับประทานอาหารได้น้อย ควรเลือกอาหารอ่อน ๆ กลิ่นไม่แรง จะช่วยให้ร่างกายย่อยได้ง่าย หมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ ให้ร่างกายคุณแม่สดชื่น

ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

การตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ จะก้าวเข้าสู่เดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วแพทย์จะนิยมนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์มากกว่าการนับเป็นเดือนเพราะสะดวกและแม่นยำมากกว่า

ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ เจ้าตัวน้อยเติบโตอยู่ภายในมดลูก แต่ขนาดของลูกจะเล็กมาก

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 6 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1. ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะมีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร สามารถมองเห็นการเต้นของหัวใจจากการอัลตราซาวนด์ เริ่มมีร่องยาวไล่ลงไปถึงหลัง ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นสมองและระบบประสาทต่อไป

2. ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่จะยังไม่สามารถสัมผัสได้ว่าลูกดิ้น อดใจรอให้ถึงประมาณสัปดาห์ที่ 16 เป็นต้นไป จึงจะค่อย ๆ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงภายในท้องของคุณแม่

3. อวัยวะและระบบต่าง ๆ

ในสัปดาห์ที่ 6 หัวใจของเจ้าตัวน้อยได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์ทั้ง 4 ห้อง อวัยวะอย่างแขนและขาจะพัฒนามากขึ้น มีนิ้วมือและนิ้วเท้าแล้ว ส่วนหู ตา และจมูก ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 6 สัปดาห์

อาการแพ้ท้องของคุณแม่จะชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มีอารมณ์แปรปรวน หรือพบอาการนอนไม่หลับได้

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

  • อาการเหนื่อยล้า อาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้า เป็นอาการที่พบได้บ่อยระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มมากขึ้น และในร่างกายของคุณแม่ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการดูแลทารกในครรภ์
  • อาการเจ็บคัดเต้านม เต้านมของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไป ขนาดค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น มีอาการเจ็บคัดเต้านมและเกิดอาการชาได้
  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ไปกดกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้คุณแม่รู้สึกอยากปัสสาวะบ่อย ๆ
  • ท้องอืดมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อร่างกายของคุณแม่ ทำให้รู้สึกท้องอืดและมีแก๊สในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ มดลูกที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น ก็ยังส่งผลต่อกระเพาะอาหาร รวมถึงลำไส้ คุณแม่จึงรู้สึกท้องอืดได้ง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนคนท้องที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของคนท้อง ทำให้รู้สึกอารมณ์แปรปรวนได้ คนที่ดูแลใกล้ชิด จึงต้องใส่ใจความรู้สึกของคุณแม่มากเป็นพิเศษ
  • เป็นตะคริวและมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หากมีเลือดออกกะปริบกะปรอยในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เป็นอาการปกติที่พบได้ในคนท้อง เช่นเดียวกับการเกิดตะคริว

อาหารคนท้อง 6 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

อาหารคนท้อง 6 สัปดาห์ควรได้รับโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน เพราะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังสร้างอวัยวะ โปรตีนและเกลือแร่ จึงมีความสำคัญอย่างมาก รวมถึงผักและผลไม้ที่มีกากใยจะช่วยให้ขับถ่ายได้ดี ป้องกันอาการท้องผูกได้ สำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง ควรเลือกเครื่องดื่มรสเปรี้ยวที่จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง เช่น น้ำมะนาวหรือน้ำส้ม

อาหารคนท้อง 6 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์

หากอัลตราซาวด์ในอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ จะเห็นการเต้นของหัวใจลูกได้

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 6 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

อาหารที่คุณแม่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ไม่ควรรับประทาน คือ

  • อาหารรสจัด
  • อาหารทอด เพราะเป็นอาหารที่ย่อยได้ยาก
  • อาหารหมักดอง
  • อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

สำหรับกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 6 สัปดาห์ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหักโหม และการยกของหนัก เพราะเป็นช่วงไตรมาสแรกที่ต้องดูแลร่างกายให้ดี เพื่อป้องกันการแท้งบุตร ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ในไตรมาสแรก ควรปรึกษาแพทย์

การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การตรวจคัดกรองเบาหวาน โดยทั่วไปจะทำการตรวจคัดกรองช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ หรือแพทย์จะประเมินความเสี่ยง และอาจพิจารณาตรวจคัดกรองก่อน หากพบว่ามีความเสี่ยง

อ้างอิง:

  1. การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในสตรีตั้งครรภ์, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. สุขใจ ได้เป็นแม่, UNFPA
  3. 5 อาการที่พบบ่อยในคนท้อง, สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย
  4. กรมอนามัย แนะหญิงท้องหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง เน้นกินปลา ตับ ไข่ ผัก ผลไม้ นม, สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย
  5. ไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ ( อายุครรภ์ < 14 สัปดาห์ ), ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  6. เบาหวานกับการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ

อ้างอิง ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2566