ส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาที่ไม่ได้ร้ายแรงเมื่อเทียบกับโรคในที่อื่นๆ แต่เป็นปัญหาที่รบกวนจิตใจทั้งคุณแม่และสุขภาพของลูกน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มทารกที่ยังไม่สามารถบอกอาการได้นอกจากแสดงว่าไม่สบายท้องด้วยการร้องไห้
มาทำความรู้จักกับปัญหาท้องไส้ที่พบบ่อยๆกัน
1.ภาวะร้องโคลิค เป็นปัญหาที่มักเกิดกว่าร้อยละ 20.5 ในกลุ่มทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ภาวะร้องโคลิคคือ อาการที่ลูกน้อยร้องไห้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ ร้องไห้นานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ร้องไห้อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อทารกคือนอนหลับกลางคืนได้น้อยลง แต่ถ้าเมื่อหยุดร้องลูกน้อยยังกินนมได้ตามปกติ ยังคงยิ้มได้ก็ถือว่าลูกปกติดี
2.ท้องผูก เป็นปัญหาที่มักเกิดกว่าร้อยละ 16.7 ในกลุ่มทารก ท้องผูกคืออาการที่ลูกน้อยถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระมีลักษณะแข็งและถ่ายยาก อาจมีอาการท้องอืด คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือบางรายเป็นมาก อุจจาระอาจมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระ อาการท้องผูกอาจจะเกิดกับเด็กที่แพ้นมวัวหรือตอนเปลี่ยนนม หรือวัยที่ต้องกินอาหารเด็กตามวัยแต่ยังกินแต่นม ซึ่งจะขาดกากใยอาหาร ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้อุจจาระแข็ง ท้องผูกได้
3.ท้องร่วง เป็นปัญหาที่มักเกิดประมาณ 1-2 ครั้งต่อคนต่อปีในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส นับว่ามีอาการท้องร่วงเมื่อความถี่และลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น เป็นเนื้อเหลว ความถี่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือเป็นมูกเลือด 1 ครั้งหรือเป็นน้ำปริมาณมาก 1 ครั้งขึ้นไปภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง อาการท้องร่วงเฉียบพลันมักหายได้เองภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ถ้านานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปถือเป็นภาวะอุจจาระร่วงยืดเยื้อหรือเรื้อรัง เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะและลำไส้โดยการกินอาหารซึ่งปนเปื้อนเชื้อโรค หรือการหยิบจับเอาเชื้อโรคเข้าปากตนเอง โดยอาการอาเจียนและท้องร่วงเป็นกลไกธรรมชาติในการกำจัดสารพิษและเชื้อโรคออกจากร่างกาย แต่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ อาจเสียเกลือแร่และน้ำมากจนเกิดอาการช็อกเป็นอันตรายต่อทารกและเด็กได้
4.แหวะนม เป็นปัญหาที่มักเกิดกว่า 23.1%ในกลุ่มทารก การแหวะนมคือ อาการหนึ่งในภาวะกรดไหลย้อน โดยจะมีกรดและน้ำย่อยไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารซึ่งอาจทำลายเยื่อบุหลอดอาหาร เป็นสาเหตุทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลได้
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยในการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นด้วยการให้จุลินทรีย์แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี (L. reuteri) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่พบในน้ำนมแม่ โภชนาการที่เหมาะสมที่เสริมจุลินทรีย์ช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ให้ขับถ่ายได้ปกติ ลดการปวดท้อง ลดท้องผูก ลดภาวะร้องโคลิค โภชนาการที่เหมาะสม รวมทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเสริมภูมิคุ้มกันและการทำหน้าที่ของระบบทางเดินอาหารของลูก ลดปัญหาท้องไส้โดยเฉพาะทารก
อ้างอิง
1. Iacono G, et al. Dig Liver Dis. 2005; 37(6):432-8.
2. Sinkiewcz G, et al. Microb Ecol Health Dis. 2008; 20: 122_126
3. Coccorullo P, et al. J Pediatr. 2010;157 (4):598-602.
4. Savino F, et al. Pediatrics. 2010 ;126 (3):e526-33.
5. Szajewska H, et al. J Pediatr. 2013;162(2):257-62
6. Indrio F et al. Euro J Clin Invest 2011;41(4): 417-22.
7. Romano C, et al. J Pediatr Child Health, 2010. Epub.