เป็นธรรมดาที่เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัย 2-3 ขวบขึ้นไป จะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงสิ่งไม่ดีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยเป็นเรื่องปกติ อย่างการสบถพูดคำหยาบ ไม่ว่าลูกจะรู้หรือไม่รู้ความหมายของคำหยาบนั้นๆ ก็ตาม แต่ความหยาบคายก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ลูกได้เข้าไปสู่สังคมที่ดี ดังนั้นมาเรียนรู้ 6 วิธีสอนลูกน้อยไม่ให้พูดคำหยาบคาย เสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีตั้งแต่ต้น เพื่อให้ลูกน้อยมีความฉลาดเข้าสังคมหรือ SQ กันค่ะ
6 วิธีสอนลูกน้อยไม่ให้พูดคำหยาบคาย
1. แม่แบบที่ดี เริ่มต้นที่พ่อแม่ - เพราะ “บ้าน” คือสถาบันการเรียนรู้แห่งแรกของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่คือคุณครู และแบบอย่างแบบแรกที่ลูกให้ความเชื่อถือมากที่สุด ดังนั้นต้องพยายามลด-ละ-เลิกการพูดคำหยาบ พูดจาไพเราะให้เป็นนิสัยนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้คุณพ่อคุณแม่หลุดพูดคำหยาบต่อหน้าลูก ไม่เช่นนั้นลูกก็คิดว่าการพูดคำหยาบเป็นเรื่องธรรมดา และอาจเลียนแบบจนถึงขั้นนำไปใช้กับเพื่อนๆ หรือครูที่โรงเรียน
2. อย่าใช้ความรุนแรงสั่งสอนลูก - ถ้าคุณพ่อคุณแม่คิดว่า การตีลูกเพราะลูกพูดคำหยาบ คือการลงโทษที่จะทำให้ลูกยำเกรง และหยุดพูดคำหยาบ เราขอแนะนำให้หยุดพฤติกรรมนี้นะคะ เพราะการทำโทษโดยการตีลูก จะมีแต่ทำให้สถานการณ์แย่ลง วิธีแก้ปัญหาคือการพูดคุยกับลูกดีๆ เพราะการตีไม่ใช่การแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอ กลายเป็นว่าลูกจะไม่พูดคำหยาบเพราะกลัวว่าจะถูกตี แต่ไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรพูดคำหยาบ และเขาก็จะใช้คำหยาบต่อไปด้วยอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น เพียงแต่ไม่ใช้ต่อหน้าคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นเอง
3. “ลูกรู้ไหมคะ ว่าคำนี้แปลว่าอะไร?” - เป็นไปได้อย่างมากที่ลูกน้อยอาจพูดคำหยาบตามคนอื่น แต่ไม่รู้ความหมายของคำเลยสักนิด หรือรู้เพียงผิวเผิน แต่ไม่เข้าใจว่าคำนั้นไม่เหมาะสม ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ให้คุณแม่ถามลูกน้อยว่ารู้ความหมายของคำที่พูดออกมาหรือไม่ บอกลูกตรงๆ ว่าคำที่ลูกพูดออกมาเป็นคำหยาบ เป็นสิ่งไม่ดี ทำให้คนฟังรู้สึกแย่ ให้ลูกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้ามีคนมาพูดหยาบคายแบบนั้นกับลูก ลูกก็คงรู้สึกไม่ชอบเหมือนกัน รวมไปถึงอธิบายถึงสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกถ้าลูกยังพูดคำหยาบต่อไป เช่น ลูกจะดูเป็นคนไม่ดีนะคะ เมื่อเป็นคนไม่ดี ก็จะไม่มีใครอยากคุย ไม่มีใครอยากคบ เมื่อลูกเข้าใจเหตุผลง่ายๆ นี้แล้ว เขาก็จะคิดได้เองค่ะ
4. ใครพูดคำหยาบ…แพ้! - ตั้งกฎประจำบ้าน “ห้ามพูดคำหยาบ” ใครถูกจับได้ว่าพูดคำหยาบ คนนั้นจะโดนลงโทษ โดยคุณแม่อาจลงโทษด้วยการให้นั่งนิ่งๆ คนเดียว ไม่ให้ออกไปเล่นหนึ่งวัน หรืองดเล่นเกมหรือมือถือ และเพื่อความเท่าเทียม และเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่ให้ลูกพูดคำหยาบ ให้ตั้งกระปุกคนแพ้ไว้ในบ้าน คนที่ถูกจับได้ว่าพูดคำหยาบ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือใครในบ้านก็ตาม ต้องหยอดกระปุกครั้งละ 10-20 บาท พอครบเดือนก็เอาเงินนั้นไปบริจาคค่ะ
5. ชี้แนะเมื่อดูทีวีด้วยกัน - เป็นไปได้สูงที่ลูกน้อยจะจำคำหยาบมาจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี หรืออินเทอร์เน็ต เราห้ามไม่ให้เขาเสพสื่อต่างๆ นี้ไม่ได้ แต่เราสามารถจำกัดเวลาในการดูทีวีและเล่นอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ลูกอยู่กับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่สมกับวัยเขามากกว่าได้ ในขณะเดียวกัน คุณแม่ก็สามารถเปลี่ยนสื่อที่เป็นดาบสองคมนี้เพื่อการสอนให้ลูกรู้มารยาทสังคมได้นะคะ เพราะเด็กๆ ก็เปรียบเสมือนผ้าขาวบริสุทธิ์ที่ง่ายต่อการแต่งเติมสีสัน ดังนั้น เพียงคอยบอก คอยแนะนำ และอยู่ใกล้ๆ เขา ก็สามารถทำให้ลูกน้อยเข้าใจได้ไม่ยากค่ะว่าอะไรดี ไม่ดี
6. ขอความร่วมมือจากทุกคน - เพราะคุณพ่อคุณแม่ ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่เพียงกลุ่มเดียวที่อยู่กับลูกน้อย พยายามอย่าให้ญาติ หรือใครก็ตามที่อยู่ใกล้ลูกพูดคำหยาบ แม้จะโดนค่อนขอดอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยึดมั่นในกฎเกณฑ์ของเรานะคะ เพราะสุดท้าย ผลดีที่สุดก็จะเกิดขึ้นกับลูก ไม่ใช่ใคร
การส่งเสริมให้ลูกน้อยไม่พูดคำหยาบ ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป หากคุณพ่อคุณแม่พยายามทำตามกฎเกณฑ์นี้ที่ตั้งไว้ และให้นึกเสมอว่าเราคือแบบอย่างที่ดีที่สุดของลูกนะคะ รวมทั้งต้องสอนลูกน้อยด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อฝึกให้ลูกเป็นคนมีเหตุผล และรู้จักคิดเป็น ซึ่งกระบวนการคิดแบบนี้จะทำให้เขามี SQ หรือ ความฉลาดเข้าสังคม พร้อมเรียนรู้ พัฒนาตัวเองทุกวัน และเป็นที่รักของทุกๆ คนค่ะ