ความฉลาดมั่นใจของลูกน้อยจะเกิดขึ้นได้ เมื่อลูกได้รับกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ ในทางกลับกัน ถ้าพ่อแม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ ตลอดเวลา นอกจากจะเป็นการเพิ่มความเครียดลงบนบ่าน้อยๆแล้ว ยังเป็นการทำลายความมั่นใจในตัวเด็ก ซึ่งส่งผลถึงพัฒนาการทางสมองของลูกด้วย มาทำความเข้าใจถึงหัวอกของลูกน้อย และหยุดทำร้ายลูกด้วยการเปรียบเทียบกันค่ะ
สมองของเด็กพัฒนาในอัตราไม่เท่ากัน
เด็กทุกคนไม่ได้มีพัฒนาการเท่ากันหรือเหมือนกันเป๊ะ ดังนั้น การที่เด็กคนหนึ่งสามารถบวกลบคูณหารได้ตั้งแต่ 4 ขวบ ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเก่งเลขตอนอายุ 10 ขวบ หรืออย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะของโลก ก็ไม่ได้พูดเก่งตั้งแต่เด็ก โดยกว่าที่เขาจะพูดเป็นประโยคได้นั้นต้องรอจนถึง 5 ขวบ ซึ่งถ้าเขาเจอกับคุณพ่อคุณแม่นักเปรียบเทียบ ก็อาจจะไม่ได้เติบโตเป็นอัจฉริยะของโลกก็ได้ การเปรียบเทียบลูกจึงรังแต่จะสร้างความเครียด และเป็นการรังแกลูกโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่เคี่ยวเข็ญให้ลูกท่องสูตรคูณตั้งแต่ 3 ขวบ เพื่อจะได้เอาไปอวดความเก่งของลูกให้เพื่อนบ้านฟัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกพยายามท่องสูตรคูณเพื่อให้คุณแม่สบายใจ แต่สุดท้ายเด็กอาจจะไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้เข้าใจการคิดคำนวณที่แท้จริง เพียงท่องจำเพื่อให้คุณแม่เลิกดุด่าว่าเขาเท่านั้นเอง
ยิ่งเปรียบเทียบ ลูกยิ่งเครียดและขาดความกล้าคิดกล้าทำ
ธรรมชาติของเด็กนั้นเกิดมาพร้อมกับความสนใจใคร่รู้ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่คอยยัดเยียดเรื่องต่างๆ โดยที่ไม่ได้ถามความสมัครใจของลูกก่อน ความฉลาดมั่นใจที่จะตั้งคำถามหาข้อมูลในเรื่องต่างๆ จะค่อยๆ ลดลง ลูกจะกลายเป็นเด็กที่คิดเองไม่ได้ แทนที่ลูกจะถามตัวเองว่า “ฉันอยากเป็นอะไร” “ฉันชอบอะไร” และ “ฉันอยากรู้เรื่องนี้จริงหรือเปล่า” กลับเปลี่ยนเป็นคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรถึงจะได้เกรดดี ทำให้แม่ภูมิใจ ทำให้แม่สบายใจ” เมื่อถูกกดดันมากๆ ลูกจะกลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าตั้งคำถาม ความสนใจใคร่รู้ก็จะค่อยๆ ลดลง ขาดความกล้าคิดกล้าทำ และไม่เป็นตัวเอง
ลูกมีความอดทนจำกัดสำหรับการถูกเปรียบเทียบ
หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น เพราะคิดว่าลูกจะได้มีแรงฮึดสู้ขึ้นมา ผลเสียที่ร้ายแรงที่สุดไม่ใช่แค่เรื่องที่ลูกขาดความมั่นใจ ไม่เป็นตัวเอง เพราะทุกความอดทนนั้นมีขีดจำกัด เมื่อลูกเก็บความผิดหวังสะสมจากการที่ไม่สามารถทำได้เท่าที่พ่อแม่เปรียบเทียบไว้ได้ ในวันหนึ่ง ลูกอาจจะไม่เหลือความพยายามที่จะทำตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวังอีกเลย ในที่สุดลูกก็จะได้เป็นตัวเอง แต่เลือกที่จะปิดกั้นตัวเองกับพ่อแม่ไปตลอดกาล
การส่งเสริมให้ลูกน้อยฉลาดมั่นใจ เริ่มได้ง่ายเพียงหยุดเปรียบเทียบลูก เปลี่ยนเป็นการพาลูกน้อยไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ คนอื่นด้วยความสนุกเต็มที่ไม่มีเปรียบเทียบ พูดคุยกับลูกให้มาก ให้คำชม ให้กำลังใจลูกอย่างจริงใจ และอย่าลืม ดูแลร่างกายลูกให้แข็งแรงนะคะ