การเคี้ยว: ขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับพัฒนาการของทารก
ในขณะที่การดูดเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ การเคี้ยวจะเป็นผลจากกระบวนการเรียนรู้ที่เริ่มเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน และต่อเนื่องไปจนกระทั่งอายุประมาณ 1 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทารกแรกเกิดจะกลืนอย่างอื่นนอกจากนมในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิต เพราะลิ้นเล็กๆ ของเขาจะดุนอาหารออกมาตามสัญชาตญาณ แต่เมื่ออายุใกล้ถึง 4-5 เดือน ลูกก็จะเริ่มมีพัฒนาการทางการกินมากขึ้น ตอนแรกคุณแม่จะพบว่าลูกจะสามารถดูดได้ ตามด้วยการเคี้ยวด้วยเหงือก และการเก็บชิ้นอาหารไว้ภายในปาก แน่นอน ภายในเวลาไม่นานลูกจะชื่นชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เหล่านี้! ประมาณ 2 เดือนต่อมา พัฒนาการของกล้ามเนื้อของลูกและฟันหน้าที่งอกขึ้นมาช่วยให้ลูกสามารถเคี้ยวได้ ทักษะใหม่นี้ และกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นทั้งที่คอ ริมฝีปาก และคอหอยของลูก ทำให้เขาสามารถบดเคี้ยวอาหารในปากให้กลายเป็นชิ้นเล็กๆ ได้
ความชอบส่วนตัวของลูกจะเริ่มต้นตั้งแต่จุดนี้ เพราะลูกเริ่มเรียนรู้ความสามารถของเขาเอง
ไม่นานนักลูกก็จะกินอาหารที่เป็นชิ้นเล็กๆ ได้ ในขณะที่ลูกกำลังเรียนรู้เทคนิคการเคี้ยว ขากรรไกรของเขาก็ขยายออก และเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง การให้อาหารเสริมตามวัยทีละเล็กละน้อย จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในช่องหู แล้วยังช่วยให้เขาไปหาหมอฟันน้อยลงด้วยเมื่อเขาโตขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ลูกเรียนรู้วิธีการเคี้ยว ตัวน้อยของคุณจะสามารถถือช้อนและขวดนมของตัวเองได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นจึงเป็นงานของคุณที่จะช่วยให้เขาผ่านขั้นตอนแรกของการกินอาหารด้วยตัวเอง
ฉันจะช่วยลูกของฉันที่มีอายุระหว่าง 6-12 เดือนได้อย่างไร: กระตุ้นโดยไม่มีการบังคับ
ถึงเวลาแล้ว: ในที่สุดลูกก็พร้อมที่จะลองรสชาติใหม่ๆ เขาลังเลระหว่างความอยากรู้กับความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าลูกจะดูเป็นเด็กขี้กลัวในช่วงแรกๆ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ การยอมรับว่าเด็กๆ ต้องผ่านขั้นต่างๆ ในกระบวนการเจริญเติบโตที่ละขั้น และต้องไม่บังคับเขา
• ประมาณ 6 เดือน: ให้ลูกได้ลองอาหารเด็ก 6 เดือนที่บดละเอียด เนื้อสัมผัสที่เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน- และไม่แตกต่างจากเนื้อสัมผัสของนมมากนัก เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเริ่มขึ้นอย่างนุ่มนวลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
• ประมาณ 7-8 เดือน: เปลี่ยนจากอาหารที่มี “เนื้อบดเนียนละเอียด” ไปเป็นอาหารบด ที่มีเนื้อหยาบมากขึ้น โดยใช้ผลไม้และผักบด
• ตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป: เปลี่ยนไปเป็นอาหารชิ้นเล็ก ที่อ่อนนุ่ม เช่น พาสต้า “ตัวอักษร” มันฝรั่งที่หั่นเป็นรูปลูกเต๋าชิ้นเล็กๆ ก่อนนำมาต้มสุก ข้าวนิ่มๆ ผลไม้หรือผักที่ปรุงสุกแล้ว ฯลฯ แล้วค่อยตามด้วยเนื้อสัตว์บดและเนื้อปลา เพราะอาหารพวกนี้จะเหนียวและเคี้ยวได้ยากกว่า
• ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป: ต้องให้ลอง! อาหารของลูกอาจประกอบด้วยอาหารชิ้นเล็กๆ ที่มีความหนาและความกรอบต่างกันไป โดยอาจบดอาหารด้วยส้อม แล้วให้ลูกลอง โดยอาจให้แครอทต้มสุกที่หั่นเป็นชิ้น มะเขือเทศปอกเปลือกที่ถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ฯลฯ แต่ควรจำไว้ว่า ลูกยังไม่สามารถกินอาหารได้เหมือนผู้ใหญ่ อย่าบังคับลูกให้กินอาหารโปรตีน เช่น เนื้อและปลา (3-8 ช้อนชาต่อวัน) และให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับนม ผลิตภัณฑ์นม และธัญพืชต่างๆ
ลูกของฉันมีสิทธิออกความเห็นในเรื่องนี้หรือไม่?
แม้ว่าคุณจะทำตามขั้นตอนที่ระบุในตำรา ลูกของคุณก็ยังต้องการออกความเห็นของเขา ต่อไปนี้คือคำแนะนำบางอย่าง
• เพื่อเป็นการช่วยให้ลูกสามารถแยกแยะอาหารที่มีเนื้อสัมผัสต่างกันได้:
• ให้ลูกได้อาหารที่บางส่วนบดละเอียด ส่วนที่เหลือให้บดหยาบหรือเป็นชิ้นเล็กๆ โดยขึ้นอยู่กับอายุของลูก
• ปล่อยให้ลูกใช้มือหยิบจับอาหารบ้างในบางครั้ง เพื่อให้เขาได้พัฒนาประสาทสัมผัสทั้งหมด
• ถ้าลูกไม่ชอบเนื้อสัมผัสบางอย่าง ให้เว้นระยะสัก 2-3 วันก่อน แล้วค่อยนำอาหารชนิดอื่นที่มีเนื้อสัมผัสเหมือนกันมาให้ลูกลองกิน
• ถ้าลูกปฏิเสธที่จะลองกินอาหารใหม่ๆ: ไม่ควรบังคับ ถ้าการหย่านมกลายเป็นขบวนการที่ยากลำบากมาก ก็ไม่ต้องเร่งรัด อย่าทำให้เวลาอาหารกลายเป็นการก่อสงครามทางด้านจิตใจ (หลีกเลี่ยงวิธี “กินให้แม่ดูหน่อยสิจ้ะ”) หรือการบังคับ ลูกอาจแค่ต้องการเวลาปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ทั้งหมดนี้!
สิ่งสำคัญ:
อย่ารอเวลาในการเปลี่ยนอาหารแบบบดละเอียดไปเป็นอาหารแบบบดหยาบนานเกินไป เพราะจะทำให้ลูกมีปัญหาการยอมรับ เมื่อต้องเปลี่ยนไปเป็นอาหารที่มีเนื้อสัมผัส “หยาบขึ้น”
เมื่อคุณเปลี่ยนไปเป็นอาหารชิ้นเล็กๆ ควรตรวจดูให้แน่ใจว่ามันไม่ได้แข็งหรือใหญ่จนเกินไป สิ่งต่างๆ อาจแย่ลงได้ง่ายๆ ถ้า “ไปผิดทาง”!
From Nestlé global toolkit