MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: พัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัยเตาะแตะ

Add this post to favorites

พัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัยเตาะแตะ

พัฒนาการด้านภาษาขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน เด็กบางคนมีความสุขกับการพูดอ้อแอ้ แต่บางคนจะรอจนกว่าจะเข้าใจในคำต่างๆ จึงจะเกิดความมั่นใจพอที่จะพูดออกมา

1นาที อ่าน

• ช่วง 12-20 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มพูดด้วยคำง่ายๆ ที่มีความหมาย 2-3 คำ เช่น พอ ไม่ อีก
• อายุ 15 เดือน ลูกจะเริ่มพูดโดยนำคำ 2-3 คำมาต่อกันอย่างมีความหมาย ลูกน้อยวัยเตาะแตะจะพูดคำซ้ำๆ (คำที่เลียนเสียงสิ่งของบางอย่าง เช่น ปู๊น ปู๊น) คุณแม่อาจเริ่มได้ยินลูกพูด 2 คำที่มีความหมาย เช่น หม่าม๊า
• อายุ 18 เดือน ลูกน้อยจะใช้คำที่มีความหมายได้มากกว่า 20 คำ แต่เขาจะมีความเข้าใจและจดจำคำได้มากกว่านั้นมาก ลูกน้อยวัยนี้สามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้มากกว่าสิ่งที่เขาสามารถพูดได้ คุณแม่ควรส่งเสริมการพูดให้ลูกโดยการให้เขาเห็นภาพประกอบพร้อมการได้ยินคำพูดต่างๆ หรือการร้องเพลงเด็กให้ลูกน้อยฟัง คุณแม่ควรพูดกับลูกเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่พบเจอ การพูดคุยกับคนรอบข้างเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มคำศัพท์และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้ลูกน้อย ซึ่งการฟังหรือการดูทีวีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยได้ เมื่อลูกสะสมคำศัพท์ได้มากขึ้น ลูกน้อยจะเริ่มพูดมากขึ้นเพื่อสื่อสารกับคนรอบข้าง

 

พัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัยเตาะแตะ


คำและประโยค เป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนา
 

คุณแม่ควรจำไว้ว่า การพูดของเด็กแต่ละคนอาจเกิดขึ้นในเวลาที่ต่างกัน เมื่อลูกน้อยวัยเตาะแตะเริ่มพูด คำพูดแรกๆ ของลูกอาจเป็นชื่อของคนที่รู้จัก ของเล่นที่ชอบ หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย คำแรกๆ ของลูกน้อยอาจเข้าใจได้ยาก และการออกเสียงยังคงคล้ายการพูดอ้อแอ้อยู่

• อายุ 1 ปี พัฒนาการด้านภาษาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว และพัฒนาการทางภาษาอาจใช้เวลานานในเด็กบางคน ลูกน้อยเริ่มเรียกชื่อสิ่งของได้ถูกต้อง และสนใจคนรอบข้าง เขากำลังเรียนรู้คำใหม่อย่างน้อยวันละ 1 คำ แต่การเรียงลำดับคำอาจยังไม่ดีพอที่จะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกหงุดหงิดและเกิดอาการร้องอาละวาดได้
• เมื่อลูกสะสมคำศัพท์ได้มากขึ้น ลูกน้อยจะเริ่มพูดมากขึ้นเพื่อสื่อสารกับคนรอบข้าง คุณแม่ควรใช้ช่วงเวลานี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยการเล่านิทานให้ลูกน้อยฟัง คุยกับเขาเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ลูกน้อยยังคงค้นหาคำและภาษาใหม่ๆ และถูกกระตุ้นให้อยากพูดมากขึ้นเมื่อเขาได้รับการตอบสนองในเชิงบวกจากคุณแม่ ยิ่งลูกน้อยมีพัฒนาการทางด้านภาษาดีเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยลดอาการหงุดหงิดที่ทำให้เกิดอาการร้องอาละวาดได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนอื่นไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังสื่อสารได้
• อายุ 2 ปี ลูกน้อยจะพบว่าคำต่างๆ นั้นมีความเชื่อมโยงกัน และนำคำ 2 คำมาต่อเข้าด้วยกัน
• อายุ 3 ปี ลูกจะรู้จักคำประมาณ 1,000 คำ และพูดต่อกัน 3 คำหรือมากกว่านั้น เป็นประโยคที่สามารถเข้าใจได้ชัดเจน ลูกจะเริ่มใช้โครงสร้างของประโยคและใช้คำได้หลากหลายขึ้น เขาจะพูดโดยยึดตัวเองเป็นบุคคลหลักในการทำกิจกรรมต่างๆ การได้พูดคุยบ่อยๆ กับคุณพ่อคุณแม่จะช่วยกระตุ้นเขาให้พูดได้เก่งขึ้น ช่วงมื้ออาหารที่มีการพูดคุยโต้ตอบกันเป็นช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการในเด็กวัยนี้ บทสนทนาที่หลากหลายจะยิ่งช่วยให้ลูกเรียนรู้การมีส่วนร่วมในการพูดคุย

 

พัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัยเตาะแตะ

 

วิธีส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาให้ลูกน้อยวัยเตาะแตะ
 

• ใส่ใจกับสิ่งที่ลูกกำลังพูด โดยการหยุดกิจกรรมอื่นๆ นั่งลงในระดับเดียวกับลูก และสบตาฟังลูกพูด
• เมื่อลูกสามารถเข้าใจได้มากขึ้นและใช้คำได้หลากหลายขึ้น ลองถามคำถามง่ายๆ ให้ลูกลองตอบเองบ้าง
• ชมเชยในความพยายามของลูก อย่าพูดว่า “ไม่” หรือ “ไม่ใช่” เป็นสิ่งแรกในการแก้ไขสิ่งที่ลูกพูดหรือทำผิดแต่ให้คุณแม่พูดทวนในสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสารด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล
• ขยายความให้ประโยคที่ลูกพูด หากลูกพูดว่า ดูหมา คุณแม่ก็ควรตอบว่า ใช่จ้ะ ดูหมาสีน้ำตาลสิจ๊ะลูก
• ให้เวลากับลูกในการอ่านและดูหนังสือที่หลากหลาย
• พูดคุย หรือถามคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกเห็น หรือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวละครในนิทานนั้นๆ

พัฒนาการด้านภาษาเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน หากคุณแม่คิดว่าลูกมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า คุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำ หรืออาจช่วยให้พบปัญหาอื่นๆ เช่น การติดเชื้อที่หู ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการได้ยินและการพูดได้