สรุป
- ทารกวัย 1 เดือน เป็นช่วงที่ร่างกายต้องมีการเติบโตอย่างรวดเร็วรวมถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทารกในช่วงนี้จะยังมองเห็นแม่ในระยะใกล้ ๆ เท่านั้น และมักชอบมองใบหน้าของแม่ คุณแม่อย่าลืมอุ้มลูกน้อยและพูดคุยกับเจ้าตัวเล็กบ่อย ๆ
- คุณแม่สามารถเลือกใช้ของเล่นที่มีเสียง เช่น ของเล่นบีบมือ ของเล่นกรุ๊งกริ๊ง เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 1 เดือนได้ เพื่อเรียกความสนใจจากลูกรัก
- ในระหว่างที่เล่นกับลูก หรือทำกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการลูก คุณพ่อคุณแม่ควรคอยสังเกตว่าลูกได้ยินเสียงหรือมีการแสดงอาการโต้ตอบหรือไม่ ถ้าลูกน้อยนิ่งเฉยไม่แสดงอาการใด ๆ ให้พาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางในการกระตุ้นพัฒนาเด็กในอนาคต
ตั้งแต่วันแรกหลังคลอดจนถึง 1 เดือนแรก เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่และลูกน้อยต่างเริ่มเรียนรู้ซึ่งกันและกันเนื่องจากลูกน้อยจะทำได้เพียงการดูดนม การนอน การขับถ่าย ร้องไห้และแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น สะดุ้ง กำนิ้วมือ เป็นต้น พัฒนาการแรกของทารกวัย 1 เดือนจึงเป็นเพียงการมองเห็นหน้าพ่อแม่ในระยะใกล้ ๆ การจดจำกลิ่น รวมถึงการสื่อสารความต้องการผ่านการยิ้มและร้องไห้เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยสังเกตและเอาใจใส่ลูกน้อยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกน้อยอย่างเหมาะสม
พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการทุกด้าน
ทารกวัย 1 เดือน จะมองเห็นใบหน้าของคุณแม่ในระยะประมาณ 8-12 นิ้ว สามารถมองเห็นวัตถุที่เคลื่อนไหวผ่านตาได้ เมื่อลูกน้อยเกิดความสนใจจะเอียงคอมองเพราะทารกในช่วงวัยนี้ยังไม่สามารถขยับดวงตามองไปยังด้านข้างของดวงตาได้ หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการกระตุ้นพัฒนาการทารก 1 เดือน สามารถทำได้โดย
- แสดงอารมณ์ทางสีหน้าเมื่ออุ้มลูก เมื่อคุณแม่อุ้มลูกน้อยให้พยายามยื่นหน้าเข้าไปใกล้ ๆ ลูกแล้วค่อย ๆ แสดงสีหน้า เช่น ยิ้มแย้ม อ้าปาก หรือแลบลิ้น เพื่อให้เด็กได้มองเห็นคุณแม่และเกิดการเลียนแบบตาม
- พูดคุยกับลูกน้อย ในขณะที่อุ้มลูกคุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกได้ แม้ว่าทารกจะยังพูดคุยสื่อสารกับพ่อแม่ไม่ได้แต่หนูน้อยอาจสามารถตอบสนองต่อเสียงพูดได้โดยการทำเสียงในลำคอ
- ใช้ของเล่นกระตุ้นพัฒนาการ ทารกในวัยนี้จะสนใจของเล่นที่เป็นสีขาว-ดำ หลังจากอายุ 1 เดือนแล้วแนะนำให้ใช้ของเล่นที่มีสีสันสดใสและมีเสียง เช่น ของเล่นกรุ๊งกริ๊ง และของเล่นที่เป็นเสียงดนตรี เพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้เหมาะสมตามวัยของทารก
พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ด้านร่างกาย
ทารกช่วงแรกคลอดเกิดมาพร้อมกับปฏิกิริยาตอบสนองกลับทันที เช่น การดูดนมจากเต้า การกำมือหรือกำหมัดของทารก หรือการสะดุ้งต่อเสียงต่าง ๆ เป็นต้น ทารกวัย 1 เดือนแม้ว่าจะนอนหงายหรือหันศีรษะได้บ้างแล้วแต่ไม่อาจพยุงศีรษะได้อย่างมั่นคงหรือคอไม่แข็งมากนัก ในช่วงแรกคุณแม่อาจจำเป็นต้องใช้มือประคองศีรษะลูกน้อยทุกครั้งที่อุ้มทารก
- น้ำหนักเด็ก 1 เดือน โดยปกติแล้วทารกในวัยแรกเกิดจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 2-3.4 กิโลกรัม พอทารกอายุ 1 เดือนจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 4.2-4.5 กิโลกรัม
- ส่วนสูงเด็ก 1 เดือน มีแรกเกิด ทารกจะมีส่วนสูงอยู่ที่ประมาณ 49 เซนติเมตร พอทารกอายุ 1 เดือนจะมีส่วนสูงอยู่ที่ประมาณ 7-54.7 เซนติเมตร
พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ด้านสติปัญญา
ระบบประสาทของทารกยังคงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องแม้ว่าการได้ยินของทารกจะยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่แต่หนูน้อยในวันนี้สามารถจดจำเสียงของพ่อแม่ได้แล้ว แถมลูกน้อยยังจะชื่นชอบเสียงที่มีโทนแหลมเป็นพิเศษด้วย ในช่วงแรกลูกน้อยอาจมีสมาธิไม่มากนัก วอกแวกได้ง่าย เนื่องจากทารกสามารถมองเห็นพ่อแม่ได้ในระยะเพียง 8-12 นิ้วเท่านั้น ทำให้หลุดโฟกัสได้ง่ายแล้วอาการนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อลูกน้อยโตขึ้น และลูกน้อยก็ชอบมองหน้าคุณพ่อคุณแม่ เพราะโดยธรรมชาติของทารกมักจะสนใจใบหน้าของคนมากกว่าสิ่งของหรือวัตถุอื่น ๆ
พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ
ทารกสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ด้วยวิธีเดียว คือ “การร้องไห้” ทำให้ในหนึ่งวันคุณแม่จึงรู้สึกว่าลูกน้อยร้องไห้บ่อยมากรวม ๆ แล้วอาจนานถึง 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งวิธีที่ช่วยปลอบโยนลูกน้อยได้ คือ การอุ้มและโยกตัวไปมาหรือการใช้ผ้าห่อตัวให้ลูกน้อย การสัมผัสเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทารกพ่อแม่ควรใช้วิธีโอบกอดลูกน้อยหรือการสัมผัสใกล้ชิดแบบเนื้อแนบเนื้อให้มากเพราะจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายใจ
พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ด้านโภชนาการ
ทารกแรกเกิดจนถึง 1 เดือน จะดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวมากถึงวันละ 6-12 ครั้ง หรือทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง โดยปกติคุณแม่หลายคนอาจมีตารางเวลาสำหรับให้นมลูกน้อยแต่มีคุณแม่อีกส่วนหนึ่งที่คอยให้นมลูกน้อยตามสัญญาณการหิวนมของทารก เช่น ขยับศีรษะไปมา ทำปากเหมือนดูดนม และมักจะพยายามหาเต้านมอยู่บ่อยครั้ง เมื่อทารกกินนมอิ่มแล้วมักจะนอนหลับไปในที่สุด
วิธีส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 1 เดือน
1. วิธีส่งเสริมกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของเด็ก
การส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กวัย 1 เดือนสามารถทำได้ด้วยให้คุณแม่จัดท่าลูกน้อยในท่านอนคว่ำ นำของเล่นเขย่าที่มีสีสันสดใสมาบริเวณด้านหน้าของลูกน้อย โดยมีระยะห่างประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นเขย่าไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งอาจจะเริ่มจากด้านซ้ายก่อนเพื่อเป็นการฝึกให้ลูกน้อยได้มองตามของเล่น หลังจากนั้นเคลื่อนของเล่นมาไว้ด้านหน้าเหมือนเดิมแล้วค่อยเคลื่อนของเล่นไปทางด้านขวา
2. วิธีส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ ให้ลูกอารมณ์ดี
เนื่องจากทารกวัย 1 เดือนจะชอบมองใบหน้าของพ่อแม่ ดังนั้น วิธีการกระตุ้นพัฒนาการที่ดีที่สุดคือการให้ลูกได้จ้องมองหน้าพ่อแม่โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 วินาที วิธีการเริ่มจากให้คุณแม่จัดท่าลูกนอนหงาย หรืออุ้มลูกน้อยขึ้นมาให้อยู่ในระดับสายตาโดยห่างจากใบหน้าประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นให้คุณแม่สบตาลูกน้อยแล้วแสดงท่าทางต่าง ๆ เช่น ทำตาโต หรือกระพริบตาใส่ เพื่อให้ลูกน้อยเกิดความสนใจ ในระหว่างนั้นอาจใช้การพูดคุยหรือทำปากส่งเสียงเพื่อให้ลูกน้อยมองมาที่ปากแทน วิธีนี้นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้แล้วยังทำให้ทารกอารมณ์ดีด้วยนะ
3. วิธีส่งเสริมพัฒนาการสื่อสารให้ลูกรัก
การกระตุ้นให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียงพูดวิธีนี้จะช่วยให้ลูกน้อยได้เข้าใจด้านภาษามากขึ้น สามารถทำได้โดยการจัดท่าให้ลูกน้อยนอนหงาย จากนั้นให้คุณแม่พูดกับลูกทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง เช่น เรียกชื่อลูกจากฝั่งด้านซ้ายโดยใช้โทนเสียงปกติ หากลูกมีการสะดุ้งให้คุณแม่สัมผัสตัวและยิ้มให้ลูกน้อย หากลูกไม่มีการตอบสนองเช่นการสะดุ้งหรือเคลื่อนไหวใด ๆ ให้คุณแม่เพิ่มความดังเสียงเล็กน้อยเพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น
ข้อควรระวัง พัฒนาการเด็ก 1 เดือน และการเลี้ยงดูเด็ก 1 เดือน
หากคุณแม่เล่นกับลูกหรือพยายามฝึกกระตุ้นพัฒนาการแล้วลูกยังไม่สามารถตอบสนองต่อเสียงไม่มองหน้าพ่อแม่ขณะคุยด้วย ไม่หันมองตามของเล่น ไม่มีการส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบตามวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกข้างต้นได้จนลูกน้อยมีอายุเกิน 1 เดือนแล้ว แนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบแพทย์หรือบุคคลากรสาธารณสุขเพื่อวินิจฉัยและหาแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสมให้มากที่สุด
คำแนะนำสำหรับคุณแม่
นอกจากการติดตามพัฒนาการของลูกน้อยและการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กวัย 1 เดือนแล้ว คุณแม่ยังต้องดูแลสุขภาพและดูแลเรื่องอื่น ๆ ของลูกน้อย เช่น
- ดูแลสุขภาพช่องปากของลูกน้อยโดยการใช้ผ้านุ่ม ๆ ชุบน้ำต้มสุกทำความสะอาดลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปากเป็นประจำทั้งช่วงเช้าและเย็น เพื่อเช็ดทำความสะอาดเอาคราบน้ำนมออกให้หมด
- พาลูกน้อยไปรับวัคซีนสำหรับทารกแรกเกิดตามนัดกับโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) และวัคซีนตับอักเสบบี
- พาลูกน้อยไปรับการคัดกรองการได้ยินโดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือคอยสังเกตดูว่าลูกน้อยมีการแสดงอาการตกใจ สะดุ้งหรือแสดงอาการใด ๆ ตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงที่ดังควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพราะถ้าคุณแม่เจออาการผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยินของลูกน้อยที่รวดเร็วจะทำให้ลูกน้อยสามารถมีพัฒนาการทักษะการได้ยินและการพูดที่เป็นปกติได้อนาคต
อ้างอิง:
- พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย, โรงพยาบาลเปาโล
- พัฒนาการเด็กแรกเกิด - 1 ปี และวิธีเสริมพัฒนาการเด็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลพริ้นซ์
- Baby Development: 1-2 Months Old, WebMD
- น้ำหนักทารก และส่วนสูง ตามช่วงอายุ, hellokhunmor
- คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- พัฒนาการของคุณลูก, khunlook
- การดูแลทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลยันฮี
อ้างอิง ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2566