MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: 6 เทคนิคดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้

Add this post to favorites

6 เทคนิคดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้

ความอยากรู้อยากเห็น และซุกซนตามธรรมชาติของลูกน้อยที่มากเกินไป อาจเพิ่มโอกาสให้ลูกน้อยเกิดอันตรายได้ง่าย คุณแม่จึงต้องมีวิธีดูแลความปลอดภัยสำหรับลูกน้อยอย่างเหมาะสม

3นาที อ่าน

ลองนึกถึงความสุขและความตื่นเต้นขณะที่คุณกำลังมองดูลูกน้อย ผู้มีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และซุกซนตามธรรมชาติ ทว่าความซุกซนที่มากเกินไปกลับเพิ่มโอกาสให้ลูกน้อยเกิดอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บง่ายขึ้นด้วย คุณแม่จึงต้องมีวิธีดูแลความปลอดภัยสำหรับลูกน้อยอย่างเหมาะสม ด้วย 6 เทคนิคสำคัญที่เรารวบรวมไว้ครบถ้วน

 

เด็กหัดคลาน

 

ความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ผลักดันให้ลูกๆ ตื่นตัวที่จะค้นหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ คุณแม่ควรสนับสนุนการเรียนรู้ของเขาควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยเพื่อป้องกันการบาดเจ็บต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อย แม้คำแนะนำต่อจากนี้อาจไม่สามารถป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้ 100% แต่คุณแม่ก็มีวิธีรับมือกับอันตรายในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกันคุณก็มีความสุขในการได้เห็นลูกน้อยสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ไปพร้อมกับการปกป้องและระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขา

เทคนิคการดูแลความปลอดภัยทั่วไป
• โอกาสที่เด็กจะได้รับบาดเจ็บและอันตรายจะเพิ่มตามอายุของลูกที่มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อลูกน้อยมีความกระตือรือร้นสูงและไม่อยู่นิ่งเฉย การคลาน ยืน เดิน วิ่ง และการเล่นกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ล้วนแต่มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้เสมอ
• บทบาทหนึ่งของการเป็นพ่อ-แม่ คือการป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเล่นสนุก เทคนิคการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บกับลูกน้อยจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามช่วงวัยของลูก ที่อยากจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมเรื่องการจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
• บ้านที่ปลอดภัย ย่อมหมายถึงความปลอดภัยของลูกน้อย โดยบริเวณที่มัดเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้มากที่สุด คือบริเวณที่ลูกน้อยใช้เวลาเล่นมากที่สุดนั่นเอง คุณแม่จึงจำเป็นต้องใส่ใจและดูแลบ้านให้เป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับลูกน้อยอยู่เสมอ
• สิ่งสำคัญเมื่อลููกน้อยได้รับบาดเจ็บ คือการไม่ตื่นตระหนก และคุณแม่ควรมีความเข้าใจในขั้นตอนของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือเข้าคลาสอบรมวิธีการปฐมพยาบาลและเตรียมพร้อมเรื่องเบอร์ฉุกเฉินที่สามารถหาได้ง่าย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกอุ่นใจมากขึ้น
• อย่าปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง คุณแม่ควรอยู่กับลูกตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อให้ลูกอยู่ในที่สูง เช่น โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม เก้าอี้สำหรับรับประทานอาหาร เพราะลูกน้อยยังไม่สามารถรักษาสมดุลของร่างกายได้ดีพอ จึงมีโอกาสที่จะล้มคว่ำหรือกลิ้งตกได้ตลอดเวลา
• ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ห่างมือและมิดชิดจากลูกน้อย สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คุณแม่ต้องปิดประตูไว้ตลอดเวลา
• หุ้มส่วนขอบของเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่แหลมหรือคม ควรหาฟองน้ำหรืออุปกรณ์หุ้มขอบเพื่อความปลอดภัยจากการเดินชนหรือกระแทก
• บริเวณที่ลูกเล่นต้องมีความปลอดภัย ไม่มีวัสดุที่แตกหักได้ และวัสดุที่มีความแหลมคม ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้กับลูกได้

 

อันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดกับลูกน้อย และเทคนิคในการป้องกันไม่ให้อันตรายเหล่านั้นเกิดขึ้น

 

1. การล้ม หรือตกจากที่สูง

 

6 เทคนิคดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้

 

เด็กหลายคนมักได้รับบาดเจ็บจากการล้มหรือตกจากที่สูง การล้มเล็กน้อยสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเริ่มคลาน หัดเดิน หรือเริ่มวิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของลูกน้อย คุณแม่ไม่จำเป็นต้องรีบเข้าไปดูแลลูกน้อยในทุกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ลุกยืนและก้าวต่อไปด้วยตัวเอง การเข้าไปดูแลลูกน้อยมากเกินไปไม่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการการพึ่งพาตนเองและความสามารถที่จะฟื้นตัวได้เอง เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก จากประสบการณ์ของคุณแม่ที่เห็นลูกน้อยร้องไห้ และการระงับความกลัวของลูกมาตั้งแต่แรกเกิด จะทำให้คุณแม่ทราบว่าช่วงเวลาใดที่ควรเข้าไปช่วยเหลือ หรือช่วงเวลาใดควรยืนดูห่างๆ เพื่อการเติบโตด้านจิตใจของเขานั่นเอง

เทคนิคเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มของลูกน้อย
• อย่าปล่อยให้ลูกยืนบนเก้าอี้ เพราะอาจเสียสมดุล ล้ม หรือตกลงมาได้ง่าย
• ติดตั้งประตูหรือรั้วที่ส่วนบนสุดและล่างสุดของบันไดบ้าน เพราะลูกน้อยมีความแข็งแรงพอที่จะยันตัวเองขึ้นบันไดได้ ดังนั้นคุณแม่จึงไม่ควรให้ลูกเข้าถึงบันไดได้เอง
• การเปลี่ยนผ้าอ้อมบนพื้นจะไม่มีทางทำให้ลูกตกลงมาได้ หากคุณแม่ใช้โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม คุณแม่ต้องเตรียมของใช้ทุกอย่างให้พร้อมหยิบ
• จัดบ้านให้ปลอดภัยเสมอ เพราะคุณแม่คงไม่อยากเห็นลูกน้อยหาทางปีนป่ายขึ้นไปที่หน้าต่างหรือราวระเบียง ดังนั้นต้องปิดประตูทุกครั้งเมื่อออกไปข้างนอก หากลูกโตขึ้นคุณแม่อาจให้เขาเล่นบริเวณระเบียงได้ แต่ต้องเฝ้าดูให้อยู่ในสายตาตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณที่มีส่วนของพื้นที่ต่างระดับ
• การสวมรองเท้าอาจยังไม่จำเป็นจนกว่าลูกจะเดินออกนอกบ้าน เมื่อลูกน้อยเดินได้ รองเท้าแบบสวมที่พื้นรองเท้ามีความยืดหยุ่นเป็นรองเท้าที่เหมาะสำหรับเท้าน้อยๆ ที่กำลังฝึกเดิน ส่วนรองเท้าแตะแบบคีบยังไม่เหมาะสำหรับเท้าน้อยๆ ที่กำลังหัดเดิน
• อย่าให้ลูกน้อยวิ่งมากเกินไป โดยเฉพาะการวิ่งในบ้าน เพราะการวิ่งควรเป็นกิจกรรมนอกบ้านที่มีพื้นกว้างขวางเพียงพอ
• ล็อคลูกน้อยให้อยู่ในที่ที่เหมาะสมทุกครั้ง เมื่อลูกน้อยนั่งในคาร์ซีทหรือเก้าอี้รับประทานอาหาร คุณแม่ต้องรัดเข็มขัดให้ลูก เพื่อป้องกันการพลัดตกลงมา

 

2. อาการหายใจไม่ออกและการสำลักสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ

 

6 เทคนิคดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้

 

เด็กทารกมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทางเดินหายใจถูกอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม และอาการหายใจไม่ออก ขณะกินอาหารหรือการเล่นสิ่งของเล่นชิ้นเล็กๆ เพราะช่วงวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็นสูง ทำให้ลูกน้อยหยิบเอาสิ่งของหรืออาหารใส่ปากได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอมและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นคุณแม่ต้องตื่นตัวและคอยสังเกตลูกน้อยตลอดเวลา

เทคนิคในการหลีกเลี่ยงการสำลักสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ
• อย่าให้ลูกน้อยอยู่ใกล้หรือหยิบจับชิ้นพลาสติกต่างๆ ได้ง่าย ตรวจเช็คที่นอนและหมอนของลูกว่า ไม่มีพลาสติกห่อหุ้มที่ลูกน้อยสามารถกัดหรือแทะเล่น ทำให้อุดกั้นทางเดินหายใจได้ เก็บกล่องพลาสติก ถุงพลาสติก และของเล่นที่มีขนาดเล็กๆ ให้ห่างมือของลูกน้อย
• อย่าใช้แป้งเด็กมากเกินไป การสูดเอาฝุ่นแป้งเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้หายใจไม่ออกได้ ควรเก็บแป้งฝุ่นให้พ้นมือลูกน้อย
• อย่ามัดหรือผูกสิ่งของต่างๆ ไว้กับลูกน้อย เพราะเชือกหรือริบบิ้นอาจพันตัวหรือรัดบริเวณคอทำให้เกิดความรำคาญได้ และถ้าแน่นมากก็ อาจอันตรายถึงชีวิต
• เลือกที่นอนที่มีขนาดพอดีกับเตียง อย่าวางผ้าที่ไม่ได้มีการขึงตึงไว้บนเตียงของลูกน้อย เพราะอาจห่อหุ้มตัวของลูกเมื่อกลิ้งตัวไปมาได้ การใช้ที่นอนที่มีขนาดเล็กกว่าเตียงจะทำให้มีช่องว่างระหว่างศีรษะ ขา หรือแขนของลูกน้อย และอาจเข้าไปติดจนเป็นอันตรายได้
• เก็บโทรศัพท์มือถือให้ห่างจากลูกน้อย โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เด็กๆ หยิบเข้าปาก อุปกรณ์ชิ้นส่วนเล็กอาจหลุดเข้าปากลูกน้อยได้
• สังเกตุเวลาให้อาหารหรือสิ่งที่ลูกน้อยสามารถใช้มือหยิบจับกินได้เอง ( finger foods) เช่น ถั่วทั้งเมล็ด ป๊อปคอร์น ลูกอม แอปเปิล ไส้กรอก แครอท อาหารเหล่านี้มักติดคอเด็กได้ง่าย ทำให้เกิดอันตรายจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม คุณแม่ต้องให้ลูกน้อยนั่งกินอาหารอยู่กับที่ การวิ่งเล่นไปมาขณะกินอาหารจะทำให้อาหารติดคอได้ง่าย
• ลูกโป่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้โดยเฉพาะเมื่อมันแฟบ เพราะเด็กๆ อาจเอาชิ้นส่วนของลูกโป่งเข้าปาก
• อย่าปล่อยลูกน้อยไว้ตามลำพังในบริเวณที่มีแหล่งน้ำ เช่น อ่างอาบน้ำ หรือสระว่ายน้ำ
• ปิดประตูห้องน้ำและปิดฝาชักโครกตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการใส่น้ำไว้ในถัง หรือในภาชนะที่ไม่มีฝาปิด เทน้ำออกจากภาชนะต่างๆ เสมอ
• เมื่อลูกน้อยเริ่มคลานและขยายอาณาเขตในการสำรวจสิ่งต่างๆ คุณแม่ต้องแน่ใจว่าพื้นสะอาด ปราศจากวัสดุชิ้นเล็กๆ เพราะเด็กเป็นวัยที่ช่างสงสัย และมักหยิบสิ่งของเข้าปากเสมอ ซึ่งอาจทำให้ติดคอและหายใจไม่ออกได้
• อย่าให้ชิ้นส่วนของเสื้อผ้าที่มีด้าย กระดุมที่กำลังจะหลุด หรือชิ้นส่วนของของเล่นที่สามารถดึงหลุดออกได้ง่าย พยายามนำชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เด็กสามารถกลืนได้ออกไป เช็คกระดุมและสายรัดต่างๆ บนเสื้อผ้าให้แน่นหนา

 

3. อาหารที่มีการปนเปื้อน

 

ภาวะเป็นพิษจากอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรียเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับเด็กทารก เพราะเด็กจะแสดงอาการที่รุนแรงกว่าในผู้ใหญ่มาก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ ควรให้ลูกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ และอาหารเหลือที่เก็บไว้ในตู้เย็นควรนำมากินให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง

 

4. พิษจากสารเคมี

 

6 เทคนิคดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้

 

การได้รับพิษจากสารเคมีมักเกิดจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและยาต่างๆ ที่เก็บไว้ในบริเวณที่เด็กสามารถหยิบจับได้ นอกจากการดูแลลูกน้อยเมื่อเขาสามารถคลานหรือเดินได้อย่างใกล้ชิด เรามีคำแนะนำที่สามารถช่วยป้องกันอันตรายจากสารเคมีต่างๆ มาฝาก

• เก็บสารเคมีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มิดชิด เช่น น้ำยาทำความสะอาด ยา น้ำมันหล่อลื่น และผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ ที่ควรเก็บให้ห่างจากมือเด็ก ติดตั้งตู้ที่มีตัวล็อคสำหรับป้องกันไม่ให้เด็กๆ เปิดได้ เก็บสารเคมีอันตรายให้มิดชิดในตู้ที่ล็อคได้ และสูงพอที่เด็กจะเอื้อมไม่ถึง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทปลอดสารเคมีก็เป็นอีกทางเลือกความปลอดภัยที่ดีเช่นกัน
• กำจัดผลิตภัณฑ์เก่าที่หมดอายุแล้ว ลองเช็คผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในตู้ หากขวดไหนที่หมดอายุแล้วควรเก็บทิ้งให้หมด
• ไม่ควรเรียกยาว่า “ลูกอม” หรือ “ขนม” เพื่อความง่ายในการป้อนยา ขณะที่คุณแม่ไม่อยากให้ลูกกลัวยา คุณแม่ก็ไม่อยากให้เขาคิดว่ายานั้นปลอดภัยเสมอด้วยเช่นกัน การให้กินยาผิดมีอันตรายอย่างมากและอาจส่งผลถึงชีวิตได้
• ติดป้ายฉลากยาให้ชัดเจน ผลิตภัณฑ์ยาทุกชิ้นต้องมีฉลากบอกประเภทและวิธีใช้ที่ถูกต้อง หากลูกน้อยเผลอกินยาที่อันตราย คุณแม่ต้องรู้และสามารถบอกแพทย์ได้ชัดเจนว่าลูกกินอะไรเข้าไป
• อย่าเก็บยาและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในภาชนะที่ใช้บรรจุอาหาร เพราะอาจทำให้เผลอหยิบมากินหรือดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจได้
• กำจัดยาให้มิดชิด ทิ้งขวดหรือภาชนะใส่ยาที่หมดแล้วด้วยความระมัดระวัง ล้างภาชนะเหล่านั้นและทิ้งลงในที่ที่ลูกน้อยวัยอยากรู้อยากเห็นไม่สามารถเข้าถึงได้
• เก็บยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดวัชพืชให้ห่างจากสายตาของเด็ก และในที่ที่ลูกน้อยไม่สามารถเข้าถึงได้
• เก็บแอลกอฮอลล์ให้ห่างจากมือลูกน้อย ลูกน้อยชอบเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ คุณแม่ควรเก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้พ้นมือเด็ก
• ใช้สีทาบ้านปลอดสารตะกั่ว รวมทั้งอย่าให้ลูกน้อยอยู่ในบริเวณที่ผนังมีสีลอกหรือกำลังขัดสีเก่าออก การได้รับฝุ่นสีต่างๆ หรือเศษสีที่หลุดร่อนออกมากๆ อาจทำให้เกิดอันตรายจากพิษของตะกั่วได้

 

5. ผิวไหม้ น้ำร้อนลวก

 

6 เทคนิคดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้

 

แผลไหม้บนผิวหนังหรือน้ำร้อนลวกจำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลทันที เพราะผิวหนังของลูกน้อยบอบบางและไวต่อความร้อนจากแสงแดดจนอาจเกิดการไหม้ของผิวได้ง่าย คุณแม่จึงควรป้องกันผิวจากการได้รับแสงแดดแรงๆ

เทคนิคหลีกเลี่ยงอันตรายจากผิวไหม้ น้ำร้อนลวก
• ครีมกันแดดเป็นสิ่งจำเป็น แสงแดดมีความจำเป็นต่อร่างกายในการสังเคราะห์วิตามินดีก็จริง แต่ช่วงเวลาที่ปลอดภัยในการให้ลูกน้อยได้รับแสงแดดอ่อนๆ คือช่วงก่อน 10 โมงเช้าและหลัง 3 โมงเย็น หากต้องออกไปกลางแจ้งในช่วงกลางวัน ควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องแขนและขา สวมหมวก หรือหาที่บังแดดให้ลูกน้อย ครีมกันแดดสำหรับเด็กควรใช้เท่าที่จำเป็น และต้องผ่านการทดสอบการแพ้บนท้องแขนด้านในของลูกน้อยก่อนใช้จริงเป็นเวลา 2-3 วัน ก่อนจะใช้ทาทั่วทั้งตัวได้
• เช็คหัวเข็มขัดของคาร์ซีทก่อนใส่ให้ลูกน้อย เพราะแสงแดดอาจทำให้คาร์ซีท หัวเข็มขัด และสายรัดร้อนเกินไป อาจทำให้แสบผิวหรือร้อนผิวได้หากมีการสัมผัสในบริเวณที่ใกล้กับผิวหนังที่บอบบาง
• ให้ลูกอยู่ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความร้อนเช่น เตาอบ เตาแก๊ส หลอดไฟ เครื่องทำความร้อน เตาปิ๊งย่าง เตารีด และเครื่องม้วนผม ที่สามารถทำให้เกิดแผลไหม้กับผิวของลูกน้อยได้ พยายามเก็บสิ่งของเหล่านี้ให้ห่างจากลูกน้อย
• อย่าวางเครื่องดื่มร้อนทิ้งไว้ เครื่องดื่มร้อน เช่น กาแฟ ชา ซุป และนม สามารถลวกผิวที่บอบบางของลูกน้อยได้ และไม่ควรอุ้มลูกน้อขณะเทหรือถือเครื่องดื่มร้อนๆ ไว้ในมือ
• ตรวจเช็คอุณหภูมิของน้ำในอ่างก่อนพาลูกลงอาบน้ำทุกครั้ง ปิดก๊อกน้ำร้อนเสมอ ปรับตัวควบคุมอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ใช้ในบ้านให้ต่ำลง
• สอนให้ลูกเข้าใจความหมายของคำว่า “ร้อน” และลองให้ลูกมีประสบการณ์สัมผัสของร้อนอย่างปลอดภัย เพื่อให้เขาเข้าใจและรู้จักหลีกเลี่ยงของร้อนด้วยตัวเอง

 

6 เทคนิคดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้

 

• ปิดรูปลั๊กไฟให้หมด พันสายไฟต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกดึงเล่น และใช้ที่ปิดหรือที่ครอบรูปลั๊กไฟหรือเต้ารับไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อป้องกันไฟช็อตซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
• ฝึกวิธีการทำอาหารที่ปลอดภัย หันด้ามจับหม้อให้ห่างจากขอบของเตาขณะทำอาหาร ถ้าคุณแม่ใช้เตาแบบหลายหัว พยายามเลือกใช้หัวเตาที่อยู่ด้านในก่อนเสมอ
• หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าปูโต๊ะโดยเฉพาะเมื่อคุณแม่มีเด็กเล็ก เพราะลูกชอบดึงผ้าต่างๆ และอาจทำให้อาหารร้อนๆ บนโต๊ะหกใส่ลูกได้
• หลีกเลี่ยงเปลวไฟ เก็บไม้ขีดไฟ และไฟแช็คให้ห่างจากมือเด็ก ถ้าที่บ้านมีบริเวณที่ใช้ก่อไฟ คุณแม่ต้องแน่ใจว่ารอบๆ บริเวณนั้นมีรั้วป้องกันไม่ให้ลูกเข้าไปใกล้ได้
• สำหรับแผลน้ำร้อนลวก ให้ใช้น้ำเย็นราดบริเวณที่โดนลวกและรีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที

 

6. การเดินทางด้วยรถยนต์

 

6 เทคนิคดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้

 

พยายามใช้รถที่เหมาะสมและสามารถปกป้องลูกน้อยได้ ควรปรับเบาะที่นั่งเมื่อลูกน้อยตัวโตขึ้น ติดตั้งคาร์ซีทให้ถูกต้อง การใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนต้องมีสายรัดที่เหมาะสม และติดตั้งโดยการหันด้านหน้าของคาร์ซีทไปทางด้านหลังรถ ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี คาร์ซีทควรมีสายรัดที่แน่นพอเหมาะ และปรับการติดตั้งหันด้านหน้าของคาร์ซีทไปทางด้านหน้ารถตามปกติ ส่วนของที่นั่งและศีรษะต้องแข็งแรงตามมาตรฐานความปลอดภัย

เทคนิคการลดอุบัติเหตุจากการนั่งรถ
• ที่นั่งสำหรับเด็กที่ปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็น ควรให้ลูกน้อยนั่งในคาร์ซีทที่เหมาะสมกับวัยตลอดเวลาการเดินทาง
• ใช้ที่นั่งที่สามารถปกป้องร่างกายและศีรษะได้อย่างปลอดภัย และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง คุณแม่ควรใช้ที่นั่งและสายรัดที่ปลอดภัยที่มาพร้อมกับคาร์ซีท และต้องเช็คให้แน่ใจว่า ที่นั่งและสายรัดนั้นแน่นกำลังดีและอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
• อย่าจอดรถเข็นเด็กที่มีเด็กอยู่ข้างในเอาไว้หลังรถยนต์ที่จอดอยู่ เพราะรถอาจถอยออกเมื่อไรก็ได้
• ห้ามลูกน้อยเล่นบนไหล่ทางหรือถนนที่มีรถแล่นไปมา ยกเว้นเป็นบริเวณปิดที่ไม่ให้รถเข้า และคุณแม่ต้องเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
• อย่าปล่อยลูกน้อยไว้ในรถคนเดียว คุณแม่ต้องพาลูกน้อยไปด้วยเสมอเมื่อออกจากรถ เพราะเด็กๆ อาจได้รับความร้อนที่มากเกินเมื่ออยู่ในรถนานๆ มีภาวะขาดน้ำ และอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วในรถที่ปิดสนิทไม่มีอากาศถ่ายเท