10 เทคนิคการฝึกลูกขับถ่ายด้วยตัวเอง เรื่องง่ายที่คุณแม่ฝึกลูกได้
1. ให้ลูกรู้สึกว่าการเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องสนุก
อันดับแรก สร้างความคิดให้ลูกรู้สึกว่าการฝึกเข้าห้องน้ำหรือใช้กระโถนเป็นเรื่องสนุก ให้ลูกรู้สึกว่า การเปลี่ยนจากการได้ทำความสะอาดบนโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม มาเป็นได้ทำความสะอาดหลังจากการนั่งกระโถนนั้นเป็นเรื่องสนุก
2. สร้างความคุ้นเคยให้ลูกกับสถานที่ในการขับถ่าย
คุณแม่สามารถให้ลูกคุ้นเคยกับห้องน้ำว่า เป็นสถานที่ที่คุณและคนอื่นๆ ในครอบครัวก็ใช้เช่นกัน ให้ลูกรู้และเข้าใจว่ากิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของทุกคนในบ้าน และต้องอยู่ในกิจวัตรของตัวเขาด้วยเช่นกัน
3. อย่าแสดงความรังเกียจ
กลิ่นของเสียหรือกระโถนของลูกอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหม็นบ้าง แต่เราแน่ใจว่าคุณแม่คุ้นเคยกับกลิ่นจากผ้าอ้อมมากมายที่คุณแม่เคยเปลี่ยนให้ลูกจนมาถึงตอนนี้ การที่คุณแม่แสดงอาการรังเกียจ อาจสร้างความรู้สึกในเชิงลบต่อการขับถ่ายให้ลูก ลูกอาจไม่อยากทำให้คุณรู้สึกเหม็น ส่งผลให้การฝึกการขับถ่ายนั้นมีความยากยิ่งขึ้น
4. กำหนดกิจวัตรในการขับถ่ายให้เป็นเวลา
กำหนดกิจวัตรในการขับถ่ายเมื่อลูกยอมที่จะขับถ่ายในห้องน้ำ คุณอาจลองพาลูกมานั่งกระโถนหรือพาเข้าห้องน้ำทันทีหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือจะเป็นช่วงก่อนอาบน้ำ หรือก่อนนอนก็ได้
5. การหลีกเลี่ยงปัญหาปัสสาวะรดที่นอน
เมื่อคุณแม่เริ่มไม่ให้ลูกใส่ผ้าอ้อมในช่วงกลางคืน คุณแม่ต้องเตรียมตัวสำหรับปัญหาปัสสาวะรดที่นอน ที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยากในตอนเริ่มต้น แต่คุณแม่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการพาลูกเข้าห้องน้ำอีกหนึ่งครั้งในช่วงกลางคืน
6. นำหนังสือหรือของเล่นเข้าไปในห้องน้ำ
อีกหนึ่งไอเดียที่ดีสำหรับการฝึกขับถ่ายคือ การมีหนังสือรูปภาพที่น่าสนใจให้ลูก และวางไว้ถัดจากโถส้วมในห้องน้ำ ให้ลูกสามารถหยิบมาดูได้สะดวกในขณะที่ใช้ห้องน้ำ
7. รางวัลและเซอร์ไพรส์
การให้รางวัลช่วยสร้างความรู้สึกอยากฝึกขับถ่ายให้ลูกได้ เช่น คุณแม่อาจเริ่มด้วยการใช้สติ๊กเกอร์รูปดาวติดบนบอร์ดเมื่อลูกฝึกขับถ่ายได้สำเร็จแต่ละครั้ง ชื่นชมลูกเมื่อภารกิจการเข้าห้องน้ำเสร็จสิ้น เล่าความสำเร็จของลูกให้สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ได้ฟังในขณะที่ลูกอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ลูกทำได้ดีขึ้น คุณแม่ควรชื่นชมลูกเมื่อเขาขับถ่ายได้สำเร็จ เช่น ปรบมือให้ลูก ร้องเพลงให้ฟัง หรือแม้แต่การบอกให้คนอื่นชมลูก
8. ให้ลูกเป็นคนตัดสินใจ
ให้ลูกเป็นคนตัดสินใจเมื่อเขาอยากเข้าห้องน้ำ และให้ใช้เวลาได้นานตามที่เขาต้องการ คุณแม่อาจให้ลูกดูคุณแม่เข้าห้องน้ำ ซึ่งเขาจะเริ่มเข้าใจได้ว่าแม่ไม่ได้เป็นเพียงคนที่พาเขามาใช้ห้องน้ำ แต่แม่ก็ใช้ห้องน้ำเองด้วยเช่นกัน
9. ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมและสะดวก
เมื่อลูกอยู่ในช่วงการฝึกขับถ่าย พยายามให้ลูกสวมเสื้อผ้าหรือกางเกงที่สามารถถอดหรือเปิดได้ง่าย
10. อย่าเริ่มฝึกลูกเร็วเกินไป
คุณแม่ควรรอดูสัญญาณความพร้อมของลูกก่อนการเริ่มฝึกขับถ่าย เพราะการฝึกนี้ต้องใช้ความพร้อมทั้งด้านร่างกาย ความคิด และทักษะเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ นอกจากความเข้าใจและความต้องการการเรียนรู้ของลูกแล้ว ร่างกายของเขาต้องอยู่ในช่วงที่พร้อมด้วย เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่ายมีความแข็งแรงพอที่เขาจะสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง การเริ่มฝึกที่เร็วเกินไปอาจทำให้ลูกน้อยไม่สามารถทำได้ ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ขาดความอดทน แสดงความไม่พอใจ หรือความไม่เข้าใจให้ลูกได้เห็น ทำให้เกิดประสบการณ์เชิงลบกับการฝึกขับถ่าย และทำลายพัฒนาการที่ดีแทนที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ