MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: แก้ปัญหาลูกท้องผูก ด้วยจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี

Add this post to favorites

แก้ปัญหาลูกท้องผูก ด้วยจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี

นมแม่มีสารอาหารหลากหลาย รวมทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี หรือ แอล รียูเทอรี จุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบย่อยอาหารของลูกน้อย ให้ลูกแข็งแรง แก้ปัญหาเรื่องทารกท้องผูก และกระตุ้นระบบการขับถ่าย

2นาที อ่าน

ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.วันดี วราวิทย์

รู้หรือไม่ จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี หรือ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี (Lactobacillus reuteri) จุลินทรีย์ที่สำคัญกับระบบย่อยอาหารของลูกน้อย มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารของลูกอย่างมาก เพราะช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ลดอาการลูกท้องผูก โคลิค แหวะนม และช่วยให้สุขภาพทางเดินอาหารแข็งแรง วันนี้เรามาทำความรู้จักจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี กันให้มากขึ้น ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพทางเดินอาหารอย่างไร
 

คุณแม่ต้องรู้! ลูกท้องผูก เกิดจากอะไร

เราทราบดีว่าคุณแม่เกิดความกังวลใจทุกครั้งเมื่อลูกเกิดอาการไม่สบายท้อง ลูกท้องผูก แม้ว่าจะดูไม่ร้ายแรง แต่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง อารมณ์ และพัฒนาการด้านอื่นๆ ของลูกได้

  • ระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่เต็มที่ สาเหตุของอาการท้องผูกในเด็กส่วนใหญ่มาจากระบบย่อยอาหารของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่งผลให้อาหารที่รับประทานเข้าไปย่อยได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง
  • การเริ่มอาหารตามวัยต่าง ๆ ที่ย่อยยากขึ้น ทารกอาจท้องผูกหลังเปลี่ยนจากการดื่มนมแม่มาเป็นการรับประทานอาหารอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับของเหลวในปริมาณเท่าเดิม อีกทั้งอาหารบางอย่างมีเส้นใยต่ำ ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย
  • การเสียสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่ามีการเสียดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์ที่ดีน้อยลง ในขณะที่เชื้อที่อาจก่อโรคเพิ่มมากขึ้น การป้องกันภาวะต่างๆดังกล่าวอาจทำได้โดยเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีเข้าไป เพื่อช่วยปรับจุลินทรีย์ให้สมดุล ช่วยให้ระบบย่อยของลูกทำงานได้ดีขึ้น
     

วิธีป้องกันไม่ให้ลูกท้องผูก

  • “นมแม่” ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะในน้ำนมแม่มีคุณค่าอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของลูก และยังส่งผลต่อระบบขับถ่ายที่ดี พบว่าทารกที่ดื่มนมแม่มักไม่เกิดปัญหาท้องผูก เนื่องจากน้ำนมแม่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ รวมถึงโปรตีนที่ย่อยง่ายให้อุจจาระไม่แข็งตัว ส่งผลให้ขับถ่ายง่าย
  • สำหรับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ที่เริ่มอาหารตามวัยแล้ว วิธีที่ดีในการป้องกันไม่ให้ลูกท้องผูกคือ คุณแม่ควรเสริมกากใยในมื้ออาหารของลูก เช่น ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้คั้น ข้าวกล้องหรือธัญพืชที่ไม่ขัดสี
  • สำหรับเด็กตั้งแต่ 1 ปีเป็นต้นไป คุณแม่อาจจะเสริมด้วยอาหารหรือนมที่มีการเติมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่ช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้และดีต่อการขับถ่าย


วิธีดูแลเมื่อลูกท้องผูก

คงไม่มีคุณแม่คนไหนอยากให้ลูกท้องผูก แต่เมื่อลูกท้องผูกแล้ว คุณแม่ก็ไม่ต้องวิตกกังวลไป เพราะส่วนใหญ่ดูแลได้ด้วยการปรับอาหารที่ให้ลูกรับประทานอาหารครบ 5หมู่ ในปริมาณพอเหมาะสำหรับวัย มาดูวิธีในการดูแลลูกน้อยท้องผูกแบบเบื้องต้นกันได้เลยค่ะ

  1. หากลูกยังได้รับนมแม่อยู่ ก็ให้นมแม่ต่อไปค่ะ เพราะในน้ำนมแม่มีสารอาหารที่ดีสำหรับลูกน้อย อย่างจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลากหลายชนิด รวมทั้งจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี (L.reuteri) ทำให้ระบบขับถ่ายของลูกเป็นไปอย่างปกติ
  2. กรณีที่ลูกอายุมากกว่า 6 เดือนและเริ่มรับประทานอาหารตามวัยแล้ว ให้คุณแม่เน้นอาหารที่มีกากใยสูง อย่างผัก ผลไม้ น้ำผลไม้คั้นเอง แล้วให้ลูกดื่มน้ำเยอะ ๆ จะช่วยให้อุจจาระนิ่มและถ่ายได้ง่ายขึ้นค่ะ
  3. หากเป็นเด็กโตหน่อย อายุ 2-3 ปีขึ้นไป ให้เสริมเรื่องการฝึกการขับถ่ายด้วย เพื่อที่น้องจะได้คุ้นชินกับการขับถ่ายเป็นเวลาค่ะ

แต่หากคุณแม่ลองทำตามวิธีการดังกล่าวแล้ว ลูกยังไม่หายจากอาการท้องผูก แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอประจำของลูกเพิ่มเติม คุณหมออาจทำการซักประวัติและสอบถามอาการของน้องเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะกับลูกที่สุดค่ะ
 

ทำไมในระบบย่อยอาหารของลูกถึงต้องมีจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี (Lactobacillus reuteri)?

ในระบบทางเดินอาหารของทารกมีจุลินทรีย์แล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) อาศัยอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่นในการบรรเทาหรือป้องกันต่างกัน โดย จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี หรือ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่พบในนมแม่ และช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหาร

จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี

ปัจจุบันมีการนำจุลินทรีย์แล็กโทบาซิลลัส หลากหลายสายพันธุ์มาเสริมในอาหารเพื่อสุขภาพ โดยแต่ละสายพันธุ์ให้ผลด้านสุขภาพแตกต่างกันไป โดยจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี (Lactobacillus reuteri) เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่มีการนำมาใช้และมีการวิจัยสนับสนุนผลด้านสุขภาพ

“เมื่อเปรียบเทียบการใช้จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี (Lactobacillus reuteri) กับยาหลอก (placebo) พบว่าจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี เพิ่มจำนวนครั้งในการขับถ่ายได้มากกว่า ถ่ายง่ายช่วยลดอาการท้องผูก”
 

“จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี (Lactobacillus reuteri)?” มีประโยชน์ต่อร่างกายของลูกอย่างไร?

จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี หรือ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี คือ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ มักพบในน้ำนมแม่ เป็นจุลินทรีย์ที่มีผลวิจัยรับรองในการเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหาร

โดยจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี มีความสามารถในการแย่งอาหารจุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรค แย่งจับพื้นที่ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรคเข้าจับกับผนังลำไส้ ผลิต Lactic acid ยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรค และปล่อยสารรูเทอรีฆ่าจุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรคอีกด้วย


สรุปให้เข้าใจง่ายเกี่ยวกับจุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี (Lactobacillus reuteri) ได้ดังนี้

• เป็นจุลินทรีย์ที่มักพบในน้ำนมแม่
• เป็นจุลินทรีย์ที่มีผลวิจัยรับรอง ในการเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหาร เมื่อเทียบกับจุลินทรีย์ชนิดอื่น
• จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ลดอาการแหวะนม ลดท้องผูก ภาวะปวดท้องโคลิค โดยลดระยะเวลาร้องไห้ลงได้
• เป็นจุลินทรีย์ที่ถูกใช้ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
 

จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี ช่วยให้ทางเดินอาหารแข็งแรงได้อย่างไร เรามาดูวิดิโอด้านล่างกันค่ะ

โดยสรุปแล้ว จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี หรือ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ช่วยให้สุขภาพทางเดินอาหารแข็งแรงด้วย 3 กลไกหลัก ได้แก่
1. แย่งอาหารจุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรค ทำให้มีอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
2. แย่งจับพื้นที่จุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรค ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรคเข้าจับกับผนังลำไส้
3. ปล่อยสาร “Reuteri” ฆ่าจุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรคและผลิต Lactic acid
ซึ่งยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรค

ดังนั้นเพื่อช่วยบรรเทา คุณแม่ควรให้ลูกได้อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานที่สุดเท่าที่จะสามารถให้ได้ กรณีที่น้องมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป สามารถปรึกษาคุณหมอในเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมตามวัยของน้อง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่าง จุลินทรีย์ แอล รียูเทอรี ที่สามารถช่วยให้ระบบทางเดินอาหารของลูกน้อยแข็งแรง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายและอารมณ์ที่ดี ลูกน้อยแฮปปี้ พร้อมเรียนรู้ทุกวัน


เอกสารอ้างอิง
Sinkiewicz G,Ljunggren L. Microbial Ecology in Health and Disease 2008;20:122-6.