หากเลือกได้เชื่อว่าคุณแม่ทุกคนคงอยากเลี้ยงลูกเอง แต่ในเมื่อเลือกไม่ได้ คุณแม่จึงต้องหาผู้ช่วยเลี้ยงลูกเมื่อต้องกลับไปทำงาน และผู้ช่วยที่ไว้ใจได้ก็คงไม่พ้นปู่ย่าตายายนั่นเอง แต่ด้วยยุคสมัยที่ต่างกัน คุณแม่ควรมีความเข้าใจปู่ย่าตายายและปฏิบัติตามแนวทางนี้ เพื่อความสุขใจทั้งปู่ย่าตายายที่ช่วยเลี้ยงหลานและฝ่ายพ่อแม่เอง
ปู่ย่าตายายต่างมีแนวทางการเลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน
แนวทางการเลี้ยงลูกไม่เหมือนกันถือเป็นเรื่องยอดฮิตที่ต้องเจอเมื่อคุณแม่ให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงหลาน เพราะต่างคนต่างเติบโตมาในยุคสมัยที่แตกต่างกัน คุณแม่ว่าแบบนี้ปู่ย่าตายายว่าแบบนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกรณีลูกน้อยวัยเด็ก 4 – 5 เดือน เมื่อหลานร้อง ปู่ย่าตายายจะต้องอุ้มทุกครั้ง เพราะกลัวหลานขาดความอบอุ่น ทางฝ่ายพ่อแม่ยุคใหม่ศึกษาตำรามาอย่างโชกโชน ก็กลัวอุ้มมากไป เด็กจะติด ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี และต้องการสอนลูกให้รู้จักการรอ เมื่อต่างฝ่ายมีความเชื่อแตกต่างกัน ทำให้ไม่เข้าใจกัน เปรียบเสมือนวิกฤตการณ์ย่อมๆ ภายในบ้านเลยทีเดียว
เมื่อปู่ย่าตายายอาสาเลี้ยงหลานให้ระหว่างคุณแม่ไปทำงาน คุณแม่ควรยืดหยุ่นระเบียบแบบแผนที่วางไว้ เคร่งครัดเฉพาะเรื่องสำคัญ พูดคุยปรับจูนวิธีการเลี้ยงหลานกับปู่ย่าตายาย ชวนคุยถึงอนาคตของหลานที่ท่านคิดไว้ อยากเห็นหลานเป็นอย่างไร จากนั้นก็วางแผนการเลี้ยงหลานร่วมกัน ชวนปู่ย่าตายายมารู้ข้อมูลใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่น ดูรายการทีวีเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กด้วยกัน หาหนังสือเรื่องการดูแลเด็กมาให้อ่าน ให้ปู่ย่าตายายได้เข้าใจ ได้เห็นมุมมองความเชื่อของคุณแม่และยุคปัจจุบัน และยอมรับการเลี้ยงหลานแบบที่คุณแม่ต้องการได้มากขึ้น ลดความขัดแย้งเรื่องการเลี้ยงหลานกับปู่ย่าตายาย
วิธีปฏิบัติตัวของพ่อแม่เมื่อต้องฝากลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง
1. ปู่ย่าตายายตามใจหลาน
ปู่ย่าตายายเกือบทุกคนตามใจหลานเพราะท่านคิดว่าการตามใจคือการให้ความรัก ซึ่งหากมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการที่ลูกจะโตมาแบบขาดวินัยได้ ตอนลูกยังเล็กปัญหานี้อาจจะยังไม่เห็นชัด แต่เมื่อลูกโตขึ้น คุณแม่อาจต้องร่วมกันสร้างวินัย สร้างกฎให้กับลูกร่วมกันกับปู่ย่าตายายว่าสิ่งไหนให้หลานทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้
2. มั่นใจว่าลูกได้รับนมเพียงพอ
เรื่องการกินนมของลูกนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อฝากลูกให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยง คุณแม่ควรอธิบายในรายละเอียดตั้งแต่แรกเริ่ม ถึงปริมาณนมและจำนวนมื้อที่ลูกควรได้รับ เตรียมอุ่นนมในสต๊อกให้เพียงพอกับปริมาณที่ต้องการในแต่ละมื้อ แนะนำให้ป้อนนมให้หมดขวดและจับลูกไล่ลมหลังจากที่ลูกอิ่มนมแล้ว ปู่ยาตายายอาจมีความเชื่อเรื่องการป้อนกล้วยหรืออาหารเสริมในช่วงอายุ 4-5 เดือนด้วยความกังวลว่าหลานจะได้รับโภชนาการไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นความเชื่อที่จะยิ่งทำให้ลูกได้รับนมไม่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารของลูก คุณแม่ควรอธิบายและย้ำเตือนให้ปู่ย่าตายายเข้าใจเพื่อความสบายใจกันทั้งสองฝ่าย
3. ติดตามพฤติกรรมลูก จากปู่ยาตายาย
พ่อแม่ต้องคอยถามเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ละวันของลูกจากปู่ย่าตายาย เรียกว่าเป็นวิธีอ้อมๆ ที่จะรับรู้ว่าวิธีเลี้ยงของปู่ย่าตายายนั้นเป็นอย่างไร ลูกมีพัฒนาการถึงไหนแล้ว ขั้นตอนต่อไปควรทำอย่างไรดี และต้องอธิบายอย่างใจเย็นชัดเจน
4. ให้แสดงออกถึงความเคารพและความรัก
การเลี้ยงหลานมาพร้อมกับการขัดแย้งกันเสมอ อย่าไปโกรธที่ปู่ย่าตายายปฏิบัติไม่เหมือนพวกเรา แต่เราต้องขอบคุณปู่ย่าตายายที่ช่วยเลี้ยงลูกให้เรา เราควรแสดงความรู้สึกขอบคุณเสมอ ด้วยคำพูดและการกระทำให้ปู่ย่าตายายรับรู้ เช่น "ขอบคุณมากเลยนะคะ ที่ช่วยดูแลน้อง ปู่ย่าตายายช่วยไว้ได้มากเลย" "ขอบคุณสำหรับอาหารนะคะ อร่อยมากเลย" และเมื่อไปรับลูกควรมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ติดมือไปฝากด้วย ถ้าเราให้ความรัก และเคารพผู้สูงอายุ เขาก็จะปฎิบัติกับคุณเช่นเดียวกันค่ะ