MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
โภชนาการน่ารู้

PLAYING: เมนูอาหารเด็กทารก 6-12 เดือน อาหารเด็ก ทำตามง่าย เหมาะสำหรับลูกน้อย

Add this post to favorites

เมนูอาหารเด็กทารก 6-12 เดือน อาหารเด็ก ทำตามง่าย เหมาะสำหรับลูกน้อย

อาหารตามวัยสำหรับเด็ก เป็นอาหารอื่นที่ลูกน้อยทานนอกเหนือจากนมแม่ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกระบวนการช่วยให้ทารกปรับตัวจากการทานอาหารเหลวเป็นกึ่งแข็งกึ่งเหลว เพื่อพัฒนาการการกินที่เหมาะสมของลูกรัก

2นาที อ่าน

สรุป

  • ทารกสามารถเริ่มทานอาหารตามวัยได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเริ่มจากอาหารบดละเอียดไปบดหยาบ เพื่อให้เด็กมีความคุ้นชินกับการทานอาหาร
  • ในระหว่างมื้อคุณแม่ควรเติมผักใบเขียวให้กับลูกน้อย เพื่อเพิ่มวิตามินและเกลือแร่ รวมถึงช่วยเรื่องการขับถ่ายของเด็กอีกด้วย
  • สิ่งสำคัญในการเลือกอาหารตามวัยให้กับทารกและเด็ก คือ ต้องพยายามให้ลูกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ที่หลากหลายและมีคุณภาพ เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีสติปัญญาดีในระยะยาว

เคล็ดลับการเลือก เมนูอาหารเด็ก สำหรับลูกน้อย

ทารกควรดื่มนมแม่ อย่างเดียวจนอายุครบ 6 เดือนหรือนานกว่านั้น หลังจากนั้นควรเสริมอาหารตามวัยควบคู่กับนมแม่ โดยอาหารสำหรับเด็กควรเป็นอาหารที่ครบ 5 หมู่ โดยมีข้าว ไข่ เนื้อสัตว์ หรือเต้าหู้ แลตับบดละเอียดสลับกันไป เติมผักใบเขียวและผลไม้ในมื้ออาหาร เพื่อเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุรวมถึงช่วยเรื่องของการขับถ่ายให้กับลูกน้อย โดยปรับความหยาบละเอียดให้เหมาะกับลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย

รวมเมนูอาหารเด็ก สำหรับลูกน้อยที่เริ่มหัดเคี้ยว

1. เมนูอาหารสำหรับเด็กวัย 6 เดือน

อาหารสำหรับลูกน้อยวัย 6 เดือน ควรเป็นเมนูอาหารที่มีเนื้อสัมผัสที่ละเอียดโดยใช้วิธีการบดเพื่อให้กลืนได้ง่าย โดยไม่ควรให้อาหารปั่นเพราะทารกจะไม่ได้ฝึกทักษะการเคี้ยวและกลืน แล้วเพิ่มผลไม้สุกบดละเอียดให้กับลูกน้อยวันละ 1 ชิ้น และควรให้ลูกกินนมแม่ควบคู่กับอาหาร 1 มื้อ อาหารที่เหมาะกับเด็กวัย 6 เดือน ได้แก่

  • ข้าวต้มสุก หรือข้าวบดละเอียด     2    ช้อนกินข้าว
  • ไข่แดงสุกบดละเอียด                    ½   ฟอง
  • ผักต้มจนเปื่อยบดละเอียด            ½   ช้อนกินข้าว
  • น้ำมันคลุกกับข้าว                          ½   ช้อนชา
  • ผลไม้สุกบดละเอียด                      1   ชิ้น

2. เมนูอาหารสำหรับเด็กวัย 7 เดือน

สำหรับหนูน้อยอายุ 7 เดือนขึ้นไป คุณแม่สามารถให้ลูกน้อยเริ่มกินตับอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 1 มื้อ สลับกับไข่สุกครึ่งฟอง เพราะไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตอาการของลูกหลังกินว่ามีอาการแพ้ไข่ปรากฎหรือไม่ โดยส่วนใหญ่มักพบการแพ้โปรตีนในไข่ขาวมากกว่าไข่แดง หากลูกมีอาการแพ้ไข่ จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำมาจากไข่รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีไข่เป็นส่วนผสมด้วย และควรให้ลูกกินนมแม่ควบคู่กับอาหาร 1 มื้อ อาหารที่เหมาะกับเด็กวัย 7 เดือน ได้แก่

  • ข้าวต้มสุก หรือข้าวบดหยาบ         3    ช้อนกินข้าว
  • ไข่สุก                                             ½   ฟอง
  • หรือตับบดหยาบ                           1    ข้อนกินข้าว
  • ผักต้มจนเปื่อยบดหยาบ                1    ช้อน
  • น้ำมันน้ำมันคลุกกับข้าว                ½   ช้อนชา
  • ผลไม้สุกบดหยาบ                         2    ชิ้น
ทารกเริ่มทานอาหารได้เมื่อไหร่ แนะนำเมนูอาหารเด็กทารกทานง่าย

2. เมนูอาหารสำหรับเด็กวัย 8 เดือน

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัย 8 เดือน เป็นช่วงวัยที่หนูน้อยสามารถดื่มนมแม่ควบคู่กับอาหาร 2 มื้อ โดยสามารถเพิ่มความหยาบของอาหารจากบดหยาบมาเป็นสับละเอียดได้แล้ว เพื่อให้ลูกน้อยได้ฝึกเคี้ยวและกลืนอาหาร อีกทั้งคุณแม่สามารถเพิ่มเนื้อสัตว์และผักชนิดอื่นที่มีความอ่อนนุ่ม และกลิ่นที่ไม่รุนแรงมากนัก เพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้รสชาติอาหารเพิ่มเติม สำหรับเมนูอาหารเด็กวัย 8 เดือน ได้แก่

  • ข้าวสวยหุงนิ่ม บดหยาบ               4    ช้อนกินข้าว
  • ไข่ต้มสุก                      ครึ่งฟอง
  • หรือไก่ หมู ปลา สับละเอียด         1    ช้อนกินข้าว          
  • ผักต้มสุกสับละเอียด                     1    ช้อนกินข้าว
  • น้ำมันน้ำมันคลุกกับข้าว                ½   ช้อนต่อวัน
  • ผลไม้สุก ตัดชิ้นเล็ก                       3    ชิ้น

3. เมนูอาหารสำหรับเด็กวัย 9 - 12 เดือน

เด็กวัย 9 เดือนขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่หนูน้อยวัยนี้สามารถหยิบจับอาหารชิ้นเล็ก ๆ ได้เองแล้ว คุณแม่สามารถให้ลูกน้อยหยิบอาหารที่ไม่แข็งกินเองได้ เช่น มันต้ม หรือฟักทองนึ่ง และไม่ควรให้ลูกกินถั่วลิสงหรือเมล็ดข้าวโพด เพราะอาจทำให้เด็กสำลักอาหารได้ โดยคุณแม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ควบคู่กับทานอาหารตามวัย 3 มื้อ และควรให้ลูกน้อยกินไข่ได้วันละครึ่งฟอง ส่วนมื้ออื่นให้กินเนื้อสัตว์ชนิดอื่นสลับกันไป  ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับเด็กวัย 9-12 เดือน ได้แก่ 

  • ข้าวสวยหุงนิ่ม บดหยาบ               4    ช้อนกินข้าว
  • ไข่สุกหั่นชิ้นเล็ก                             ครึ่งฟองต่อวัน
  • หรือไก่ หมู ปลา หั่นชิ้นเล็ก            1    ช้อนกินข้าว          
  • ผักต้มสุก หั่นชิ้นเล็ก                      1½ ช้อนกินข้าว
  • น้ำมันคลุกกับข้าว                          ½   ช้อนชาต่อวัน
  • ผลไม้สุก หั่นชิ้นเล็กพอดีคำ           4    ชิ้นต่อวัน

เมื่อไหร่ที่ลูกสามารถรับประทานอาหารตามวัยนอกจากนมแม่ได้

ในช่วง 6 เดือนแรกคุณแม่ควรให้ทารกทานนมแม่เพียงอย่างเดียว และรับอาหารตามวัยหลัง 6 เดือนเป็นต้นไป ในกรณีที่ทารกมีแนวโน้มการเจริญเติบโตลดลง เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มน้อยหรือไม่เพิ่ม หรือคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างเต็มที่ อาจให้อาหารตามวัยแก่ทารกก่อนอายุ 6 เดือนได้ แต่ไม่ควรให้ก่อนอายุ 4 เดือน และไม่ควรช้ากว่าอายุ 6 เดือน อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนเริ่มให้อาหารตามวัยแก่ทารก เนื่องจากอาหารตามวัยจะช่วยเติมเต็มสารอาหารให้กับลูกน้อย ทำให้เด็กได้เรียนรู้และมีความคุ้นเคยกับอาหารที่หลากหลาย ซึ่งสิ่งสำคัญคือการให้อาหารเสริมทารกในช่วงวัยที่เหมาะสม และต้องมีความพร้อมของระบบทางเดินอาหารที่เพียงพอต่อการย่อยและดูดซึมสารอาหารได้

การให้อาหารทารกช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไป เป็นช่วงที่เด็กเริ่มควบคุมศีรษะและลำตัวได้ดีขึ้น ลูกน้อยรู้จักใช้มือในการหยิบจับอาหาร สามารถแสดงความต้องการอาหารเมื่อรู้สึกหิวหรือสามารถปฏิเสธอาหารเมื่อรู้สึกอิ่มได้ นอกจากนี้ การให้ลูกน้อยได้กินอาหารตามวัยที่มีคุณภาพย่อมส่งผลต่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสติปัญญาที่ดีในระยะยาวอีกด้วย

อ้างอิง:

  1. อยากสุขภาพดีต้องมี 3อ.สำหรับเด็กเล็ก, โครงการจัดการความรู้สุขภาพผ่านสื่อและเทคโนโลยีออนไลน์มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  2. ตำรับอาหารทารกตามวัย 4-12 เดือน, กองโภชนาการ กรมอนามัย
  3. คำแนะนำอาหารทารกวัย 0-12 เดือน, โรงพยาบาลสินแพทย์
  4. การให้อาหารทารก, กองโภชนาการ กรมอนามัย
  5. คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก , กรมอนามัย
  6. แนะนำเมนูอาหาร สำหรับลูกน้อยวัย 6-12 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

 

อ้างอิง ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566