MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: การเอาชนะปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

Add this post to favorites

การเอาชนะปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

คุณแม่เกือบทุกคนต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่มีเพียง 8 จาก 10 คนเท่านั้นที่เริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่ออยู่ในโรงพยาบาล และภายใน 3 เดือน  จำนวนนี้ลดลงจนต่ำกว่า 2 ใน 3

2นาที อ่าน

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

อาการเจ็บหัวนม

สาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บหัวนมที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ การอมหัวนมได้ไม่ดี ความรู้สึกเจ็บน้อยๆ ที่เต้านมในช่วงวันแรกๆ ที่ให้ลูกดูดนมถือเป็นเรื่องปกติ แต่มันไม่ปกติถ้ารู้สึกเจ็บจริงๆ ที่เต้านม ถ้าคุณกำลังเจ็บ ให้ลองเปลี่ยนท่าอุ้มลูกตอนให้นม หรือลองขอความช่วยเหลือจากพยาบาลผดุงครรภ์ หรือผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อไปนี้คือข้อควรระวังที่ควรรู้

การเอาชนะปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 

• อาการเจ็บหัวนมมักจะลดลงเมื่อน้ำนมเริ่มไหลออกมา จึงควรใช้มือบีบกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมาก่อนจะให้นมลูก

• ถ้าลูกของคุณมีภาวะลิ้นติด มันก็อาจส่งผลกับการดูดนม บุคลากรทางการแพทย์สามารถตรวจดูช่องปากของเด็กเพื่อดูว่าเขามีปัญหานี้หรือไม่

• ให้ชะลอการใช้ขวดนมหรือจุกนมปลอม เพราะถ้าใช้เร็ว โดยเฉพาะถ้าใช้ก่อนจะให้ลูกดูดนมแม่ มันอาจไปรบกวนกับกระบวนการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ตามธรรมชาติ เพราะวิธีที่ใช้ในการดูดแตกต่างกัน

• คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่บางคนอาจใช้แผ่นป้องกันหัวนม ซึ่งควรขอคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรใช้เมื่อไร และควรใช้อย่างไร

• บีบให้น้ำนมของคุณไหลออกมาสักสามสี่หยดหลังให้นมลูกแต่ละครั้ง เพราะนมแม่มีคุณสมบัติในการให้ความชุ่มชื้น (เพราะมีไขมันสูง) และต่อต้านแบคทีเรียทำให้น้ำนมเป็น “ครีมสำหรับหัวนม” ที่ยอดเยี่ยม

• หลีกเลี่ยงการใช้สบู่บริเวณเต้านมในขณะที่อาบน้ำ เพราะมันอาจทำให้ผิวแห้ง

• ควรเปลี่ยนแผ่นซับน้ำนมที่เปียกชื้นบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันหัวนมแตก

ถ้าคุณยังคงเจ็บอยู่ ให้ขอคำแนะนำทางการแพทย์ จากผู้ที่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเกิดปัญหานี้มาก่อน
 

การเอาชนะปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 

ท่อน้ำนมอุดตัน และเต้านมอักเสบ

ถ้าคุณมีก้อนในเต้านมที่จับแล้วเจ็บ โดยไม่มีปัญหาอื่นๆ เป็นไปได้มากว่าคุณมีท่อน้ำนมอุดตันอยู่ภายในเต้านม การปฏิบัติต่อไปนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้เต้านมอักเสบ (เพราะมีการติดเชื้อในท่อน้ำนม)

• ลูกของคุณจะช่วยระบายน้ำนมออกจากท่อน้ำนมที่อุดตันได้ดีที่สุด จึงควรให้นมลูกบ่อยๆ และควรให้ลูกดูดนมจากเต้าที่มีปัญหาก่อนเสมอ ในขณะที่ให้นม คุณควรนวดบริเวณที่มีก้อนแข็งเบาๆ โดยนวดไล่ไปทางหัวนม หรืออาจกดเบาๆ ตรงบริเวณที่เป็นก้อน

• ก่อนจะให้นมครั้งต่อไป ให้อาบน้ำและนวดเต้านมที่อยู่ภายใต้น้ำอุ่นที่ไหลผ่าน เพื่อช่วยสลายก้อนแข็งๆ ที่เกิดจากท่อน้ำนมอุดตัน หรือใช้แผ่นเจลอุ่นๆ (ไม่ร้อน) วางลงบนเต้านมในบริเวณที่เป็นก้อนแข็งสัก 2-3 นาที ก่อนจะให้นมลูก

• เปลี่ยนท่าอุ้มลูกตอนให้นม เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำนมจะระบายได้ดีที่สุด ควรให้คางของลูกอยู่ด้านข้างของเต้านมที่มีท่อน้ำนมอุดตัน

• ถ้าการให้นมลูกแก้การอุดตันของท่อน้ำนมไม่ได้ ให้ลองใช้มือบีบหรือใช้เครื่องปั๊มนมหลังจากให้นมลูกแล้ว เพื่อจะได้ระบายน้ำนมออกไปมากขึ้น

• ใช้แผ่นประคบเย็น (หุ้มไว้ในผ้านุ่มๆ) วางลงบนเต้านมเพื่อลดอาการเจ็บหลังจากให้นม

• สวมเสื้อชั้นในแบบไม่มีโครงที่ใส่สบาย และคุณอาจต้องถอดเสื้อชั้นในออกตอนที่ให้นม

• ถ้าคุณไม่สามารถแก้ไขการอุดตันของท่อน้ำนมได้ภายใน 12 ชั่วโมง หรือถ้าคุณเริ่มรู้สึกไม่สบาย (คล้ายกับว่าคุณกำลังจะเป็นไข้) ให้คุณไปพบแพทย์ทันที เพราะเต้านมของคุณอาจจะอักเสบ

ลูกไม่ยอมดูดนม

มันอาจเกิดขึ้นได้ แต่ว่าจะไม่นานก็มักจะคลี่คลายไปเอง มันไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณกำลังจะหย่านม สาเหตุที่อาจทำให้ลูกของคุณไม่ยอมดูดนมได้แก่

• ลูกไม่ได้รู้สึกหิว ให้เล่นกับลูกอีกสักครึ่งชั่วโมง และรอดูสัญญาณที่แสดงว่าลูกหิว แล้วค่อยให้นมอีกครั้ง

• ถูกรบกวนมากเกินไป หรือเหนื่อยมากเกินไป จึงควรนั่งในห้องที่มีแสงสว่างน้อย เงียบสงบ และมีเสียงเพลงที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย

• รู้สึกไม่สบายหรือรู้สึกเจ็บ ให้ลองเปลี่ยนท่าอุ้มตอนให้นม ให้ลูกอาบน้ำอุ่น หรือลูบหลังลูกเพื่อลดอาการปวดท้อง

• ไม่สบายและหงุดหงิด ลองวัดดูว่าลูกมีไข้หรือไม่ ถ้ามีให้ขอคำแนะนำจากแพทย์ และให้นมลูกเมื่อเขาเริ่มขยับตัว แม้ว่าเขายังคงหลับอยู่

• ลูกไม่ยอมกินนมเพราะรสชาติน้ำนมของคุณเปลี่ยนไป อาจเกิดขึ้นเพราะยาหรือฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปในตอนที่คุณกลับมามีประจำเดือน หรือเกิดจากการกินอาหารบางอย่างที่มีรสจัด และเป็นรสชาติที่ลูกไม่ชอบ

น้ำนมมีน้อย

คุณแม่บางคนรู้สึกกังวลว่าจะสร้างน้ำนมได้ไม่พอ ทั้งที่มันเกิดขึ้นได้น้อยมาก เต้านมของคุณจะสร้างน้ำนมตามหลักอุปสงค์และอุปทาน ยิ่งให้ลูกดูดนมมากเท่าไร น้ำนมก็จะสร้างมากเท่านั้น คุณแม่ที่มีลูกฝาแฝดคือตัวอย่างของการสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ถ้าคุณรู้สึกว่าลูกได้รับนมไม่พอ ลองให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นในแต่ละวัน คุณจะรู้ได้ว่าลูกดื่มนมพอแล้วเมื่อลูกของคุณ:

• อมหัวนมได้ดี และสงบในขณะที่ดูดนม

• มักจะอารมณ์ดีหลังจากดูดนม

• ตื่นตัว กระฉับกระเฉง และมีความสุขในตอนที่ตื่น

• ถ่ายอย่างน้อย 6 ครั้งในช่วง 24 ชั่วโมง (หลังจากคุณมีน้ำนม)

• ถ่ายอุจจาระที่เหลว มีสีเหลืองทอง อย่างน้อยวันละครั้ง หลังจากการถ่ายขี้เทา (อุจจาระที่เด็กทารกถ่ายออกมาในครั้งแรกมีสีดำคล้ายน้ำมันดิน ) ในตอนแรกเกิด

• น้ำหนักเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำ

รับการตรวจอย่างสม่ำเสมอกับพยาบาล แพทย์ทั่วไป หรือกุมารแพทย์ เพื่อชั่งน้ำหนักและวัดความยาว เพื่อให้แน่ใจว่าลูกของคุณเจริญเติบโตและมีพัฒนาการสมวัย ควรขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากทีมที่คอยสนับสนุนในทันทีที่คุณรู้สึกว่ามีปัญหา การแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสมอ
 

ควรทำอย่างไรเมื่อต้องการให้มีน้ำนมมากขึ้น

การให้ลูกดูดนมบ่อยๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้น ให้นมลูกบ่อยขึ้นแบบเดียวกับการให้อาหารว่างระหว่างมื้อ หรือลดระยะเวลาที่พักระหว่างการให้นมแต่ละครั้ง และคอยดูสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าลูกรู้สึกหิว คุณจะได้ให้นมลูกได้เร็วขึ้น
ถ้าคุณเห็นว่าลูกยังหิวอยู่แม้จะให้ลูกดูดนมจนหมดแล้ว ให้คุณพักสักครู่ แล้วให้ลูกดูดนมใหม่ หรือคุณอาจหยุดพักช่วงสั้นๆ สลับกับการให้ลูกดูดนมสัก 2-3 รอบ จุดประสงค์ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้การดูดนมบ่อยๆ ไปกระตุ้นการสร้างน้ำนม และช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้น
มันอาจทำให้คุณรู้สึกเครียดมากที่เห็นว่าลูกยังไม่อิ่มแม้ว่าจะให้เขาดูดนมจนเกลี้ยงเต้าแล้ว ความรู้สึกผ่อนคลายระหว่างให้นมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันไม่เพียงแค่มีผลกับสุขภาพจิต แต่ยังมีผลกับการตอบสนองต่อฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในระหว่างให้นมลูก และยังมีผลกับการสร้างน้ำนมอีกด้วย ต่อไปนี้คือเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณให้นมลูกได้อย่างผ่อนคลาย

• นั่งบนเก้าอี้ที่สบาย ในห้องที่อบอุ่นและผ่อนคลาย

• เปิดเพลงที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และหยุดสิ่งรบกวนต่างๆ

• มองดูลูก และลูบผิวของเขา

• ทานอาหารได้เพียงพอ นอนหลับพักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ

ถ้าคุณยังคงกังวลเรื่องปริมาณน้ำนม อาจขอให้แพทย์ตรวจดูว่าลูกเจริญเติบโต และมีพัฒนาการสมวัยหรือไม่ และขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ช่วยให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น ถ้ามีปัญหาเรื่องน้ำนมมีไม่พอ
 

น้ำนมมีมากเกินไป

มีอาการหลายอย่างที่ลูกคุณจะแสดงให้คุณเห็น ถ้าคุณมีน้ำนมมากเกินไป เช่นการที่ลูกมีอาการดังต่อไปนี้

• ถ่ายบ่อยมาก

• ปวดท้องบ่อยๆ และมีลมในท้องมาก

• ร้องไห้บ่อย โดยเฉพาะหลังดูดนมแม่ และคุณก็รู้สึกว่าน้ำนมของคุณไหลเร็วมาก

• คลายปากออกจากเต้านม และไอสำลัก เพราะเขาดูดนมที่ไหลออกมาไม่ทัน

ปัญหานี้มักจะเกิดไม่นาน เพราะปริมาณน้ำนมของคุณจะปรับตามปริมาณน้ำนมที่ลูกดูด
ถ้าคุณคิดว่าคุณมีปัญหาเรื่องการมีน้ำนมมากเกินไป คุณอาจลองทำในสิ่งต่อไปนี้

• ให้ลูกดูดนมจากเต้านมข้างเดียวเมื่อให้นมแต่ละครั้ง แล้วค่อยให้ดูดนมอีกข้างเมื่อให้นมครั้งต่อไปในอีก 2-3 ชั่วโมงถัดไป

• ถ้าเต้านมคัดมากจนทำให้ลูกอมหัวนมได้ยาก ให้ระบายนมบางส่วนออกก่อนจะให้นม เพื่อให้หัวนมอ่อนลงลูกจะได้อมหัวนมได้ดีขึ้น และดูดนมง่ายขึ้น

• ใช้ผ้าอุ่นๆ ประคบเต้านมก่อนให้นมลูก จะช่วยให้น้ำนมไหลดี เต้านมนุ่ม และช่วยให้ลูกอมหัวนมได้ดีขึ้น

• ถอดเสื้อชั้นในออกในขณะที่ให้นมลูก เพื่อช่วยให้ลูกดูดนมได้เกลี้ยงเต้า

• ปรับเปลี่ยนท่าทางการอุ้มตอนให้นมลูก เพื่อช่วยให้ลูกดูดนมได้เกลี้ยงเต้า

• นวดเต้านมของคุณเบาๆ ในขณะให้นมลูก เพื่อช่วยให้ลูกดูดนมได้เกลี้ยงเต้า

• ระบายน้ำนมเพิ่มอีกเล็กน้อย ถ้าหลังให้นมแล้วคุณรู้สึกว่าเต้านมยังคดตึงและไม่ค่อยสบายเต้า แต่ต้องระวัง เพราะการทำเช่นนี้บ่อยๆ มันอาจไปกระตุ้นให้เต้านมของคุณผลิตน้ำนมออกมามากเกินไป

• นำแผ่นประคบเย็นที่ห่อด้วยผ้ามาวางบนเต้านมของคุณเพื่อบรรเทาความเจ็บหลังจากให้นมลูก คุณแม่บางคนพบว่าการนำใบกะหล่ำปลีที่ถูกแช่เย็นมาวางไว้บนเต้านมช่วยบรรเทาความเจ็บได้เช่นเดียวกัน

เคล็ดลับยอดนิยมที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

• ให้ลูกเริ่มดูดนมจากเต้าให้เร็วที่สุดหลังคลอด ทารกมักตื่นตัวอย่างมากหลังคลอด และกระตือรือร้นที่จะดูดนม เมื่อคุณไปถึงโรงพยาบาล คุณควรแจ้งให้พยาบาลทราบว่าคุณต้องการจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พวกเขาจะได้ช่วยคุณหลังจากคลอดบุตร การให้ลูกดูดนมบ่อยๆ และการให้ดูดนมแม่ตั้งแต่แรกคลอด นอกจากจะช่วยให้คุณและลูกปรับตัวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว มันยังช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมมากขึ้นอีกด้วย

• ให้ลูกดูดนมจากเต้าเมื่อใดก็ตามที่เขาแสดงอาการหิว คุณอาจต้องให้นมลูกทุก 1 – 3 ชั่วโมงในช่วงเริ่มต้น ควรให้ลูกอยู่กับคุณให้มากที่สุดหลังจากคลอดแล้ว เพื่อให้คุณได้เห็นและได้ยินสัญญาณเมื่อลูกหิว และช่วยให้คุณให้นมลูกได้อย่างรวดเร็ว คุณอาจมองหาสัญญาณที่ลูกแสดงให้เห็นว่าหิวได้จาก ลูกตื่นตัว หรือทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น ลูกหันศีรษะไปมาเพื่อมองหาเต้านมของคุณ ลูกดูดมือตัวเอง แลบลิ้น หรือเปิดและปิดปาก

• พยายามผ่อนคลายระหว่างให้นมลูก พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มีสิ่งรบกวนมากเกินไป มันเป็นเวลาที่ยอดเยี่ยมในการมอง สัมผัสและลูบผิวลูก การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ลูกรู้สึกสงบ แต่มันยังช่วยสานสัมพันธ์ชั้นเยี่ยมกับลูกน้อยของคุณ

• งดการให้น้ำหรือนมผงเพราะมันอาจไปทำให้น้ำนมของคุณลดลง ถ้าลูกของคุณอยู่ในห้องเด็กอ่อนภายในโรงพยาบาล ให้คุณยืนยันว่าคุณต้องการให้นำลูกมาหาคุณเพื่อดูดนมแม่ทุกครั้งที่ลูกหิว การทำเช่นนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าลูกของคุณจะได้รับสารอาหารจากนมแม่เพียงอย่างเดียว ถ้าคุณรู้สึกว่าลูกต้องการดื่มน้ำเพิ่ม ให้คุณลองให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้น

• ชะลอการใช้จุกนมปลอมจนกว่าลูกจะคุ้นเคยกับการดูดนมจากเต้าและคุณมีน้ำนมมากพอ น้ำนมของคุณจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่คุณให้ลูกดูดนมจากเต้า จึงควรทำให้แน่ใจว่าลูกดูดนมจากเต้านมของคุณ แทนที่จะดูดจุกนมปลอม

• ขอให้พยาบาลช่วยตอนที่คุณให้นมลูกไม่ว่าจะเป็นเวลาใด ในขณะที่คุณยังอยู่ในโรงพยาบาล โดยหลักการแล้วควรมีพยาบาลชุมชนมาเยี่ยมคุณที่บ้านภายในสัปดาห์แรกที่คุณออกจากโรงพยาบาล เพื่อช่วยคุณเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือช่วยเรื่องปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับทารกแรกเกิด

• ทารกทุกคนควรไปพบบุคลากรทางการแพทย์ภายในเดือนแรก ซึ่งโดยมากมักจะไปพบภายใน 2 สัปดาห์ และไปพบได้ทุกเวลาเมื่อคุณมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของคุณ หรือสุขภาพของลูก หรือวิธีการให้อาหาร

• ขอความช่วยเหลือและขอการสนับสนุน ผู้หญิงที่ได้รับความช่วยเหลือและได้รับกำลังใจให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ไม่ได้ขอความช่วยเหลือ หรือได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากญาติหรือเพื่อน

• ขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเมื่อคุณวางแผนว่าจะกลับไปทำงาน การกลับไปทำงานอาจทำให้ต้องปรับกิจวัตรประจำวันไปบ้าง แต่แน่นอนว่านั่นไม่ได้หมายถึงการที่ต้องหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปด้วย การวางแผนที่ดีและการได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ครอบครัว และที่ทำงาน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้

• ในช่วงที่ลูกของคุณมีอายุได้ 4-6 เดือน ก่อนที่ลูกจะเริ่มกินอาหารเสริม น้ำเปล่า น้ำผลไม้ และอาหารอื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และไม่แนะนำ จำไว้ว่าน้ำนมแม่เป็นอาหารตามธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ เพราะมีสารอาหารที่ลูกต้องการอย่างครบถ้วน แม้ว่าคุณจะเริ่มให้ลูกกินอาหารเสริมตามวัยแล้ว น้ำนมแม่ก็ยังคงเป็นโภชนาการที่ดีที่ให้สารอาหารต่างๆ กับลูก