MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิดถึง 1 ปี 3ด้านหลักมีอะไรบ้างที่แม่ต้องรู้

Add this post to favorites

พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิดถึง 1 ปี 3ด้านหลักมีอะไรบ้างที่แม่ต้องรู้

3 พัฒนาการเด็กแรกเกิด จนถึง 1 ปีแต่ละช่วงวัย มีอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณเเม่ต้องรู้ พร้อมเคล็ดลับการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ให้ลูกเติบโตไปพร้อมกับมีพัฒนาการที่ดี

3นาที อ่าน

พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิดถึง 1 ปี

 

ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดก่อนเลยนะคะ เพราะกว่า 9 เดือนที่อุ้มท้องมา ช่วงเวลาที่ได้เจอหน้าเจ้าตัวเล็กครั้งแรก คงเป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษเลยใช่ไหมละคะ และคุณพ่อคุณแม่คงจะตื่นเต้นไม่ใช่น้อยเลยที่จะมีสมาชิกตัวน้อยๆ มาเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ความสุขเหล่านี้มักมาพร้อมกับความกังวลใจ เราจะสามารถเลี้ยงลูกได้ดีหรือไม่? เขาจะเติบโตสมวัยหรือเปล่า? เจ้าตัวเล็กจะป่วยบ่อยไหม? ก่อนที่จะกังวลเรื่องเหล่านี้ คุณแม่ควรรู้ถึงพัฒนาการเด็กแรกเกิดกันก่อนว่ามีอะไรบ้าง ตามมาดูกันได้เลยค่ะ

 

พัฒนาการเด็กแรกเกิดด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว

 

พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กอายุ 1 เดือน

 

• ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าโดยปกติทารกแรกเกิดที่คลอดตามปกติ (ไม่ได้คลอดก่อนกำหนด) จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 2.5- 4 กิโลกรัม น้ำหนักตัวจะลดลงภายในสัปดาห์แรกร้อยละ 3-7 ของน้ำหนักแรกเกิด ถ้าลดลงเกินร้อยละ 10 จะถือว่าผิดปกติ และน้ำหนักลูกจะค่อยๆ เพิ่มจนกระทั่งเท่ากับน้ำหนักแรกเกิดภายในสองสัปดาห์หลังคลอด
• ลูกอายุ 1 เดือนจะสามารถมองหน้าแม่ สบตา ตอบสนองเสียงพูด ทำเสียงในคอ เคลื่อนไหวแขนขาทั้งสองข้าง

 

พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กอายุ 2 เดือน

 

• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 3.5 - 5 กิโลกรัม
• เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 3 - 4.5 กิโลกรัม
• ลูกจะสามารถชันคอในท่าคว่ำ มองตามสิ่งเคลื่อนไหว ยิ้มตอบ ยิ้มทักทาย

 

พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กอายุ 3 - 4 เดือน

 

• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 4.5 – 7.5 กิโลกรัม
• เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 4 - 7 กิโลกรัม
• ลูกจะสามารถใช้แขนยัน ชูคอตั้งขึ้น

 

พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กอายุ 5 - 6 เดือน

 

• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 5 – 9 กิโลกรัม
• เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 5 – 8.5 กิโลกรัม
• ลูกจะสามารถพลิกคว่ำ พลิกหงาย คืบ

 

พัฒนาการด้านร่างกาย อายุ 7- 9 เดือน

 

• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 7 –11 กิโลกรัม
• เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 6 – 10.3 กิโลกรัม
• ลูกจะสามารถนั่งทรงตัวได้เอง โดยไม่ต้องใช้มือยัน

 

พัฒนาการด้านร่างกาย อายุ 10 - 12 เดือน

 

• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 8 –11.5 กิโลกรัม
• เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 8 – 11 กิโลกรัม
• ลูกจะสามารถยืนเองได้ชั่วครู่ หรือตั้งไข่

 

ข้อมูลจากคู่มือส่งเสริมพัฒนาการ ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงข้อมูลเรื่องพัฒนาการด้านการเรียนรู้ สติปัญญา และภาษา รวมทั้งด้านอารมณ์และสังคม ดังต่อไปนี้

 

พัฒนาการเด็กแรกเกิดด้านการเรียนรู้ สติปัญญา และภาษา

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 1 เดือน

 

ทารกจะมีการขยับตัวเมื่อได้ยินเสียง ขยับศีรษะเมื่อมีคนลูบแก้ม กำนิ้วมือเมื่อมีสิ่งของวางบนฝ่ามือ สามารถจำกลิ่นบางอย่างได้ ยิ้มและร้องไห้เพื่อสื่อสารถึงความต้องการ การตอบสนองเหล่านี้นับว่าเป็นการเรียนรู้ในช่วงแรกของชีวิต

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 2 เดือน

 

ลูกจะเริ่มสามารถมองตามสิ่งของต่างๆ จากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง สามารถมองหน้า พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้นาน 5 วินาที แต่เสียงที่พูดออกมาจะเป็นเสียง ‘อุ’ หรือ ‘อือ’

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 3 - 4 เดือน

 

ลูกจะสามารถมองตามสิ่งของที่เคลื่อนที่ได้เป็นมุม 180 องศา ซึ่งจะสามารถฟัง และหันตามเสียงต่างๆ ได้ พร้อมเปล่งเสียงเพื่อแสดงความรู้สึกได้

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 5 - 6 เดือน

 

ลูกสามารถเอื้อมมือหยิบ และถือวัตถุไว้ ขณะอยู่ในท่านอนหงาย สนใจฟังคนพูดและสามารถมองไปที่ของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่เล่นกับเด็กได้นาน 1 นาที สามารถเลียนแบบการเล่น ทำเสียงได้ เช่น ‘บา’ ‘กา’ ‘ดา’ ‘มา’ เป็นต้น

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 7- 9 เดือน

 

สามารถจ้องมองไปที่หนังสือได้นาน 2-3 วินาที รับรู้ว่าตนเองชื่ออะไร และสามารถหันมองตาเสียงเรียกชื่อได้ สามารถออกเสียงสระผสมกับพยัญชนะต่างๆ กันได้ เช่น ‘มามา’ ‘ปาปา’ ‘หม่ำหม่ำ’

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 10 - 12 เดือน

 

จะสามารถจีบนิ้วมือเพื่อหยิบขนมหรืออาหารที่เป็นชิ้นเล็กๆ ได้ สามารถโบกมือ หรือตบตามคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ พร้อมทำท่าทาง หรือเปล่งเสียง เพื่อแสดงความต้องการได้

 

พัฒนาการเด็กแรกเกิดด้านอารมณ์ และสังคม

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 1 เดือน

 

พัฒนาการเด็กแรกเกิดสามารถจ้องหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้ประมาณ 1-2 วินาที ลูกเริ่มแสดงอารมณ์ เช่น ยิ้มเวลาพึงพอใจ และร้องไห้เวลาไม่พอใจ นอกจากนี้ลูกจะส่งเสียงร้องเมื่อต้องการความช่วยเหลือ และเงียบเสียงลงเมื่อมีคนมาอุ้ม

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 2 เดือน

 

ลูกสามารถส่งเสียงโต้ตอบได้ เมื่อคุณพ่อคุณแม่แตะต้องตัวและพูดคุย ยิ้มให้คุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่คุ้นเคย อีกทั้งมีการแสดงอาการหงุดหงิด ดีใจ ไม่พอใจ ให้เห็นมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายอารมณ์โมโหของตนเองด้วยการดูดนิ้วของตนเอง

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 3 - 4 เดือน

 

ลูกรู้จักโต้ตอบกับคนคุ้นเคยมากขึ้น เช่น การส่งเสียง ยิ้มทักทาย พยายามส่งเสียงเพื่อตอบสนองให้คุณพ่อคุณแม่สนใจ อีกทั้งเมื่อเขาสนใจอะไร จะสามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น เริ่มอยากเล่นมากขึ้น โดยเริ่มสนใจสิ่งของรอบข้าง เช่น สนใจเงาตัวเองในกระจก เป็นต้น

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 5 - 6 เดือน

 

ลูกสามารถเลียนแบบท่าทาง หรือส่งเสียงร้องเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ชอบเล่นกับคุณพ่อคุณแม่หรือคนอื่นๆ มากขึ้น ช่วงเดือนนี้ลูกอาจจะแสดงอาการหงุดหงิดบ่อย เพราะรู้สึกคันและเจ็บเหงือก เนื่องจากฟันน้ำนมเริ่มที่จะขึ้นแล้ว อีกทั้งยังสามารถส่งเสียงเพื่อสื่ออารมณ์และความต้องการของตนเองได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แม้จะยังฟังไม่เป็นคำก็ตาม

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 7 - 9 เดือน

 

ยิ้มและหัวเราะบ่อย โดยเฉพาะตอนคุณพ่อคุณแม่ เล่านิทานให้ฟัง หรือ เล่นจ๊ะเอ๋ เป็นต้น ถึงแม้จะมีความติดคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็เริ่มที่จะสนใจผู้อื่นมากขึ้น รู้จักเลียนแบบท่าทาง หรือเสียงของผู้อื่น เริ่มรู้แล้วว่า ทำแบบไหนแล้วจะมีคนชม หรือทำแบบไหนแล้วจะโดนดุ เช่น เวลาอาบน้ำแล้วเอามือสองข้างตีน้ำ คุณพ่อคุณแม่จะปรบมือและยิ้มให้ ลูกก็จะทำสิ่งนั้นซ้ำๆ เป็นต้น

 

พัฒนาการเด็ก อายุ 10 - 12 เดือน

 

เล่นของเล่นได้หลากหลายและสามารถเล่นได้ตามประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ เช่น แก้วน้ำ หวี ตุ๊กตามีเสียง เป็นต้น แสดงอาการพึงพอใจและไม่พอใจได้อย่างชัดเจน คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตว่าลูกเป็นเด็กอารมณ์ร้อนและดื้อหรือไม่ก็ช่วงนี้ เพราะเขาจะแสดงอาการปฏิเสธแบบทันทีในสิ่งที่ไม่ต้องการ หรือไม่อยากทำ ไม่อยากอยู่คนเดียว ต้องมีเพื่อนเล่นหรือคนอยู่ข้างๆ ตลอด เด็กส่วนใหญ่จะมีอาการหวาดกลัวเมื่อคุณแม่เดินหายไป และเมื่อแม่กลับมาอุ้มก็จะโผเข้ากอดแบบออดอ้อน เป็นต้น

 

พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิดถึง 1 ปี

 

เคล็ด(ไม่)ลับเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด

 

พัฒนาการเด็กแรกเกิด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม ฮอร์โมน โรคทางกายตั้งแต่กำเนิด และเรื่องโภชนาการนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโต เพราะโภชนาการที่ดีและถูกต้องจะช่วยให้ลูกเจริญเติบโตแข็งแรง และมีพัฒนาการตามศักยภาพ ฉะนั้นการเลือกอาหารจึงต้องคำนึงถึงสารอาหารที่ลูกจะได้รับอย่างเพียงพอ ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค และข้อจำกัดทางสรีรวิทยาของทารก เช่น การย่อยอาหาร และการทำงานของไต ‘นมแม่’ จึงเป็นอาหารที่ดีที่สุดของลูกในช่วงแรกเกิด
• ข้อมูลจากคู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้บอกไว้ว่า นมแม่ เป็นอาหารตามธรรมชาติที่มีสารภูมิคุ้มกันและสารอาหารครบถ้วน ปกป้องเด็กจากโรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ และพบว่าเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรกจะมีระดับสติปัญญาดีกว่าเด็กที่กินนมวัว ดังนั้น นมแม่ควรเป็นอาหารมื้อแรกของลูก และให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน

• แต่ในกรณีแม่บางท่านที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมน้อย หรือไม่สะดวกเอาลูกเข้าเต้าทุกมื้อ คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอในการเสริมนมผงที่เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย ควบคู่กับนมแม่ และชงให้ถูกสัดส่วน ซึ่งมีระบุที่ข้างบรรจุภัณฑ์ และไม่จำเป็นที่ลูกต้องกินนมผงยี่ห้อเดียวตลอดไป คุณแม่สามารถเปลี่ยนชนิดนมผงเป็นยี่ห้ออื่นได้ทันทีตามความเหมาะสม นอกจากนมแม่ซึ่งเป็นโภชนาการที่ดีที่สุด ที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กแรกเกิดแล้ว สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่แรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ควรสื่อสารกับลูกด้วยการมองตา ยิ้มให้ลูก พูดคุยกับเขา เมื่อลูกน้อยเห็นคุณพ่อคุณแม่ยิ้มแย้มอารมณ์ดี ลูกจะรู้สึกดี และปลอดภัย แถมยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด ทางด้านภาษาและการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้นด้วย

• ยิ่งไปกว่านั้นเด็กแรกเกิดจะสามารถรับรู้และเรียนรู้ผ่านการสัมผัส คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านร่างกายของลูกน้อยได้ด้วยการอุ้มหรือกอด สัมผัสตัวลูก ก็จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายและการเรียนรู้ดีขึ้น

คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กได้ที่นี่

พัฒนาการเด็ก 1 เดือน
พัฒนาการเด็ก 2 เดือน
พัฒนาการเด็ก 3 เดือน
พัฒนาการเด็ก 4 เดือน
พัฒนาการเด็ก 5 เดือน
พัฒนาการเด็ก 6 เดือน
พัฒนาการเด็ก 7 เดือน
พัฒนาการเด็ก 8 เดือน
พัฒนาการเด็ก 9 เดือน
พัฒนาการเด็ก 10 เดือน
พัฒนาการเด็ก 11 เดือน
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ


อ้างอิง
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 3 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 3 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
โรงพยาบาลพญาไท, พัฒนาการของเด็กแรกเกิด จนถึง 6 เดือน, 3 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://www.phyathai-sriracha.com/pytsweb/index.php?page=modules/knowled…
วนิดา ชนินทยุทธวงศ์, คู่มือการจัดกิจกรรม สำหรับพ่อเเม่เด็ก อายุ 0-5 ปี, 3 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://rajanukul.go.th/new/_admin/download/5-4489-1449542900.pdf
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, คู่มือสำหรับพ่อเเม่เพื่อเผยเเพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี, 3 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123052.pdf