พัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 2 เดือน
เข้าสู่ช่วง 2 เดือนแล้วนะคะ ที่มีสมาชิกตัวน้อยๆ มาช่วยเติมเต็มให้ครอบครัวสมบูรณ์มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่เริ่มปรับตัวกันได้แล้วใช่ไหมล่ะคะ แม้ว่ากิจกรรมหลักของลูกยังคงเป็นการนอนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ลูกก็มีพัฒนาการเด็ก 2 เดือน ในแต่ละด้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอะไรบ้างตามมาดูกันเลยค่ะ
พัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน ด้านร่างกาย
ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้บอกไว้ว่า
• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวและส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 4 – 5.5 กิโลกรัม ส่วนสูง 53 – 59 เซนติเมตร
• เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวและส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 4 – 5 กิโลกรัม ส่วนสูง 53 – 59 เซนติเมตร หากจัดท่าลูกนอนควํ่า ลูกจะสามารถ ยกศีรษะตั้งขึ้นได้ 45 องศา นาน 3 วินาที สามารถยกเหยียดแขนและขาทั้งสองข้างขึ้นมาเล่นได้
พัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน ด้านสติปัญญา
ลูกจะเริ่มสามารถมองตามสิ่งของจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง และจ้องมองวัตถุที่ห่างจากใบหน้าได้ประมาณ 8 นิ้ว และจะค่อยๆ มองตามวัตถุผ่านแนวกึ่งกลางตัวที่ในแนวราบ 180 องศา เริ่มทําเสียงในลำคอ ‘อู’ หรือ ‘อือ’ พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้นาน 5 วินาที
พัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ
ลูกจะเริ่มยิ้มหรือส่งเสียงตอบได้เมื่อคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองแตะต้องตัวและ พูดคุยด้วย ลูกจะเริ่มแสดงอารมณ์ เช่น ร้องไห้ ถีบแข้งขาและแกว่งแขน เมื่อโมโห หรือหิว หรือได้ยินเสียงดัง และจะอารมณ์ดีเมื่อกินนมเสร็จ
พัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน ด้านโภชนาการ
คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แนะนำไว้ว่า
• ลูกในช่วงวัย 2 เดือน แนะนำให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน ย่อยง่าย และถูกสร้างมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของทารกที่มีระบบการย่อยและดูดซึมอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งสารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการหลักๆ ของวัยนี้ ได้แก่ ดีเอชเอ (DHA), เออาร์เอ (ARA) โอเมก้า3 ธาตุเหล็ก แคลเซียม และฟอสฟอรัส จุลินทรีย์สุขภาพในสัดส่วนที่เหมาะสม และวิตามินอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่แข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดีสมวัย
• หากแม่บางท่านที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมน้อย หรือไม่สะดวกเอาลูกเข้าเต้าทุกมื้อ คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการเพื่อเพิ่มน้ำนมแม่ กรณีที่คุณหมอแนะนำ ให้คุณแม่เลือกใช้นมผงควบคู่กับนมแม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย และชงให้ถูกสัดส่วน ซึ่งมีระบุที่ข้างบรรจุภัณฑ์
เคล็ด (ไม่) ลับส่งเสริมพัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน
คำแนะนำการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 2 เดือน ซึ่งในคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำไว้ ดังนี้
1. ส่งเสริมกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว
คุณพ่อคุณแม่จัดลูกให้อยู่ในท่านอนคว่ำ ข้อศอกงอ หยิบของเล่นมาเขย่าตรงหน้าลูก เมื่อลูกมองที่ของเล่นแล้วค่อยๆ เคลื่อนของเล่นขึ้นด้านบนเพื่อให้ลูกเงยหน้าจนศีรษะยกขึ้น คุณพ่อคุณแม่นับ 1,2 แล้วค่อยๆ เคลื่อนของเล่นลงมาอยู่ตรงหน้าลูกเหมือนเดิม
2. ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ ให้ลูกอารมณ์ดี
จัดให้ลูกอยู่ในท่านอนหงาย ถือของเล่นสีสดใสไม่มีเสียง ห่างจากหน้าลูกประมาณ 30 ซม. (1 ไม้บรรทัด) และอยู่ในตำแหน่งเลยจุดกึ่งกลางของใบหน้าลูกเล็กน้อย กระตุ้นให้ลูกสนใจโดยแกว่งของเล่นให้ลูกจ้องมอง แล้วค่อยๆ เคลื่อนของเล่นนั้นให้ผ่าน จุดกึ่งกลางใบหน้าลูกไปทางด้านขวาและสลับมาทางด้านซ้าย
3. ส่งเสริมการสื่อสารให้ลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรสบตาและพูดคุยให้ลูกสนใจ เช่น ทำตาโต ขยับริมฝีปาก ยิ้ม หัวเราะทําเสียง ‘อู’ หรือ ‘อือ’ ในลํำคอ ให้ลูกได้ยิน หยุดฟังเพื่อรอจังหวะแล้วให้ลูกส่งเสียงตาม เมื่อลูกออกเสียง ‘อู’ ได้ ให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนไปฝึกเสียง ‘อือ’ และรอให้ลูกออกเสียงตาม
อย่างไรก็ตามการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการสัมผัสใกล้ชิดกับลูกให้มาก เช่น การโอบกอด ให้ความรักความอบอุ่นหรือสบตาและสัมผัสลูกเบาๆ พร้อมกับพูดคุยกับเขาเป็นคำพูดสั้นๆ ซํ้าๆ ช้าๆ เช่น ‘ว่าไงจ๊ะ..(ชื่อลูก)..คนเก่ง’ ‘ยิ้มซิ’ ‘เด็กดี’ ‘.. (ชื่อลูก)..ลูกรัก’ ‘แม่รักลูกนะ’ ก็เป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกได้อีกทางหนึ่ง แถมยังเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างครอบครัวอีกด้วย
อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 16 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, คู่มือสำหรับพ่อเเม่เพื่อเผยเเพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี, 16 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123052.pdf
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 16 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือนักส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หลักสูตรเร่งรัดประจำโรงพยาบาล, 16 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://203.157.64.3/multim/media/09680.pdf