MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ เตรียมพร้อมตั้งครรภ์ สำหรับแม่มือใหม่
โภชนาการน่ารู้

PLAYING: อาหารตัวช่วยตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ

Add this post to favorites

อาหารตัวช่วยตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ

“ภาวะครรภ์เสี่ยง” สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภูมิแพ้ โลหิตจาง อาจทำให้ความตั้งใจในการเป็นคุณแม่ต้องสะดุด

2นาที อ่าน

แต่...โอกาสในการตั้งครรภ์อย่างมีความสุขและปลอดภัยสำหรับคุณผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพไม่ได้เป็นศูนย์เสียทีเดียว เพียงแต่ต้องมีการวางแผนที่ดี ปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และตลอดช่วงการตั้งครรภ์ ที่สำคัญต้องให้ความสำคัญในการดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ เช่น การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควบคุมระดับน้ำตาลเลือดและระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งเตรียมพร้อมสะสมสารอาหารที่สำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อย

อาหารตัวช่วยตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ

 

ใส่ใจอาหารก่อนตั้งครรภ์ ลดโอกาสภาวะครรภ์เสี่ยง

เพราะการเลือกอาหารพลังงานเหมาะสม สร้างสมดุลน้ำหนักตัวได้ น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ที่มากเกินไปนอกจากจะมีส่วนทำให้มีบุตรยาก แล้วยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ได้ง่าย ส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย คุณผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติในช่วงตั้งครรภ์ หากน้ำหนักตัวมากเกินไป ต้องพยายามดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ พยายามจำกัดปริมาณอาหาร เลือกอาหารที่มีใยอาหารสูง มีไขมันน้อย เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด โปรตีนไขมันต่ำ อย่าง เนื้อปลา อกไก่ ไข่ต้ม เป็นต้น

ลดแป้งและน้ำตาล ลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์

คุณผู้หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการมีภาวะเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงต่อการมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุดตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ พยายามงดเครื่องดื่มรสหวาน จำกัดน้ำตาล เลือกแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน ซีเรียลโฮลเกรน หรือเน้นคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวโพดหวาน มันเทศสุก เส้นหมี่ เป็นต้น ลดการกินของหวาน โดยเลือกผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อยทดแทน เช่น ส้ม ฝรั่ง แก้วมังกร เป็นต้น

อาหารตัวช่วยตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ

 

เสริมเหล็กและโฟเลต เพื่อคุณลูกสมบูรณ์ คุณแม่ปลอดภัย

เหล็กและโฟเลตเป็นแร่ธาตุที่ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องได้รับตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ยิ่งหากก่อนตั้งครรภ์คุณแม่มีภาวะโลหิตจาง โรคหอบหืด ภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อย หรือการคลอดที่ทำให้เสียเลือดมาก ยิ่งจำเป็นต้องสะสมธาตุเหล็กตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ให้มาก โดยรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็กเป็นประจำอย่าง เนื้อแดง ตับ ไข่แดง งา คะน้า ตำลึง นมที่เสริมธาตุเหล็ก และต้องได้รับธาตุเหล็กเสริมตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ในส่วนของโฟเลต ผู้หญิงต้องเสริมวิตามินโฟเลตตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อป้องกันภาวะความผิดปกติในการสร้างหลอดประสาทไขสันหลังของทารกในครรภ์ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้มากหากคุณแม่มีภาวะเบาหวาน

เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ลดภาวะแทรกซ้อนจากอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้น

ปริมาณอนุมูลอิสระที่มากเกินไปในร่างกายมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ เช่น ภาวะมีบุตรยาก ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า การแท้ง หรือการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งล้วนแต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดได้ง่ายกับคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่จึงควรรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท มะเขือเทศ ฝรั่ง ส้ม เพื่อเติมสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปเสริมให้ร่างกายทำลายอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เสริมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เพิ่มภูมิคุ้มกันสู่การตั้งครรภ์ที่แข็งแรง

ภูมิคุ้มกันที่ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ได้ เช่น อาการภูมิแพ้ ไข้หวัด เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะภูมิแพ้กับสิ่งเร้าใหม่ๆ ได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ต่ำลง งานวิจัยพบว่า การติดเชื้อไวรัสหรือการเป็นหวัดในช่วงตั้งครรภ์ยังส่งผลให้ลูกเป็นโรคหอบหืดในวัยเด็กได้ ดังนั้น ก่อนตั้งครรภ์ คุณแม่จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ตัวเองด้วยการให้กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และอาหารที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์* หรือโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต หรือนมที่เสริมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ อย่างแล็กโทบาซิลลัส หรือบิฟิโดแบคทีเรียม เป็นต้น

ถึงแม้การตั้งครรภ์สำหรับคุณผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพจะมีความความเสี่ยงมากกว่าครรภ์ทั่วไป แต่หากมีวางแผนที่ดี พร้อมกับการดูแลตัวเองด้วยโภชนาการที่เหมาะสม ผู้หญิงทุกคนก็สามารถเป็น “แม่” ได้อย่างมีความสุขเช่นกัน

*อ้างอิงจาก Kobeerdoss J, et al. Nutr J. 2011

อ้างอิงข้อมูล: http://doi.org/10.1177/1753495X16648495/ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27630746/ https://www.livestrong.com/article/536031-allergies-after-giving-birth/ https://acaai.org/news/common-colds-during-pregnancy-may-lead-childhood… / คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์ (Obesity in pregnancy)” / คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ”บทบาทพยาบาลในการป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์” วารสารเกื้อการุณย์ ปีที่ 22 ฉบับ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2558 / คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2553 “ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์” / กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข “การให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์” / ศูนย์เบาหวานศิริราช 2560 “กินอย่างไรกับเบาหวาน” / วารสารโภชนาการ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2552 “ดัชนีน้ำตาล” / คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล “ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน...หลีกเลี่ยงอาหารหวาน-มัน-เค็ม”/ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล “10 โฉมหน้าโรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง ตอนที่ 2” / กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 2558 “คู่มือส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการ_ในคลินิกฝากครรภ์” / American College of Allergy, Asthma & Immunology “Pregnancy Anemia Linked To Childhoold Wheezing And Asthma / คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล “10 โฉมหน้าโรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง ตอนที่ 2 / คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2017 “ภาวะโลหิตจางในสตรีตั้งครรภ์” / กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข “การให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์” / สสส. 2560 “กินวิตามินโฟลิกก่อนตั้งครรภ์” / บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน มหาวิทยาลัยมหิดล “4 ขั้นตอน การเลือกโพรไบโอติคส์” / Oksanen PJ, et al. Ann Med. 19990 Feb, 22(1) : 53-6 / Rolfe RD, et al. J Nutr. 2000, 130 : 3965-4025