อนามัยการเจริญพันธุ์ – การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์
การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์
ฉันตัดสินใจที่จะมีเจ้าตัวน้อยแล้ว แต่ก่อนจะเริ่มภารกิจที่สำคัญนี้ ฉันรู้ว่าการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์นั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ฉันจะต้องตรวจอะไรบ้าง
ฉันอยากจะเป็นคุณแม่แล้วล่ะ!
ผู้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะใส่ใจดูแลสุขภาพอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือคุณควรตรวจเช็คสุขภาพตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
คุณอาจยังคงสงสัยว่าการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์คืออะไร การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นการตรวจสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์รูปแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ตั้งแต่ตอนที่คุณตัดสินใจจะตั้งครรภ์ การตรวจนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ และช่วยให้คุณตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
สุขภาพของคุณแม่
ขั้นตอนแรก
นัดหมายแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เพื่อปรึกษาถึงความต้องการที่จะมีบุตร แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ รวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ ได้แก่
- น้ำหนักตัว น้ำหนักที่มากหรือน้อยเกินไปของคุณแม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะน้ำหนักตัวมีผลต่อสุขภาพครรภ์
- ประวัติโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ ภาวะหลอดเลือดแข็ง ไทรอยด์ เป็นต้น
- ประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว เช่น เบาหวาน
- การฉีดวัคซีน หากจำเป็น แพทย์อาจฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ โรคไอกรน ซึ่งเป็นวัคซีนที่ควรได้รับก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน
- ประวัติการใช้ยาปัจจุบัน การใช้ยาบางชนิดส่งผลการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาต้านอาการชัก เป็นต้น
หากคุณพยายามมีบุตร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ลองปรึกษาคลินิกผู้มีบุตรยาก เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ไม่เกิดการตั้งครรภ์ แพทย์อาจแนะนำหลักการดูการตกไข่เพื่อช่วยระบุช่วงเวลาที่คุณสามารถตั้งครรภ์ได้ และคุณจะพบว่า มีผู้หญิงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามต้องการ คุณจึงอาจต้องอดทนรออีกสักนิด
การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารภูมิคุ้มกันจำเพาะต่อโรคหัดเยอรมัน และต่อเชื้อท็อกโซพลาสมา(การติดเชื้อปรสิต) การตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสเอดส์ การตรวจความเข้มข้น หรือตรวจหาโปรตีนอัลบูมิน* และน้ำตาลในปัสสาวะ เพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงการเกิดโรคไตหรือเบาหวานในช่วงการตั้งครรภ์
*อัลบูมินเป็นโปรตีนสำคัญจากโปรตีน 2 ชนิดที่เป็นองค์ประกอบของน้ำเลือด การตรวจหาอัลบูมินเป็นส่วนหนึ่งของชุดการทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคและติดตามการรักษาที่มีผลต่อสุขภาพ
ความต้องการเหล็กและกรดโฟลิกในปริมาณสูง
ในปัจจุบัน สถาบันและองค์กรต่างๆ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับการเสริมกรดโฟลิก หรือวิตามินบี 9 ซึ่งมีความจำเป็นตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างหลอดประสาทของทารก จึงควรมีการเสริมกรดโฟลิกเพิ่มเติม โดยเฉพาะในรายที่ขาดวิตามินนี้ เช่น การขาดโภชนาการที่เหมาะสม การตั้งครรภ์แฝด ประวัติครอบครัวที่มีความผิดปกติของระบบประสาท หรือการใช้ยาที่ขัดขวางการดูดซึมของกรดโฟลิก เช่น ยาต้านอาการชัก หรือยารักษาโรคเบาหวาน
การเสริมกรดโฟลิกควรเริ่มตั้งแต่ 2 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
โฟลิกหรือวิตามินบี 9 มีความสำคัญมาก ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส แพทย์จะสั่งวิตามินเสริมชนิดนี้ให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ถึงแม้จะเป็นการตั้งครรภ์ตามปกติที่ไม่มีความเสี่ยงสูงก็ตาม
ในบางกรณี แพทย์อาจสั่งยาเม็ดธาตุเหล็กให้เพิ่มเติมอีกด้วย
บอกลาบุหรี่และแอลกอฮอล์!!
การพบแพทย์จะช่วยบอกด้วยว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ควรต้องเลิก เพื่อการตั้งครรภ์ที่ดี ซึ่งแพทย์จะช่วยให้คำแนะนำในการดูแลรักษา
อีก 9 เดือนข้างหน้า ร่างกายของคุณจะทำหน้าที่ส่งต่อทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกน้อยเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต แน่นอนว่า สิ่งใดที่ไม่ดีสำหรับคุณ มันย่อมไม่ดีสำหรับทารกด้วย รกที่ห่อหุ้มทารกนั้นเปรียบเสมือนฟองน้ำที่สามารถดูดซับเอาสิ่งต่างๆ ที่คุณกินส่งต่อไปยังทารกได้นั่นเอง
แน่นอนว่า แอลกอฮอล์คือของต้องห้าม แอลกอฮอล์แค่เพียงแก้วเดียวก็ส่งผลต่อทารกได้ การใช้สารเสพติด ยาอันตรายต่างๆ ก็ต้องเลิกให้ได้อย่างเด็ดขาด
การเลิกบุหรี่ เป็นสิ่งสำคัญเมื่อคุณตัดสินใจที่จะมีลูก แพทย์สามารถให้คำแนะนำวิธีการหาสิ่งทดแทนสารนิโคตินของบุหรี่ แน่นอนว่าคุณต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูแลร่างกายให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
อย่าลืมว่าคุณกำลังเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับทารกตัวน้อย ข้อควรระวังเหล่านี้จะช่วยสร้างความสุขให้ทารกน้อย และการเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้คุณตั้งครรภ์ได้อย่างสมบูรณ์